นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทย อย่างเป็นทางการ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday September 7, 2001 17:00 —สำนักโฆษก

วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2544 
วันนี้ เวลา 13.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ติยะไพรัช โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมเตรียมการต้อนรับนายจุนอิจิโร โคอิซึมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเดินทางเยือนไทย อย่างเป็นทางการ (Official Visit) สรุปสาระสำคัญดังนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะมีกำหนดเดินทางเยือนไทยในระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2544 ซึ่งการเยือนครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือน 4 ประเทศในเอเซียนภายหลัง การเข้ารับตำแหน่งคือ อินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยในการมาเยือนไทยนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างญี่ปุ่นและไทย ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของการเยือนไทย ญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ทั้งในกรอบอนุภูมิภาค ทวิภาคีและพหุภาคี โดยมองว่าไทยจะเป็นประเทศคู่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ในการส่งเสริมและพัฒนาความเข้าใจอันดี และความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียน โดยเฉพาะการที่ญี่ปุ่นจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในภูมิภาค พม่า-ไทย ไทย-ลาว สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ระหว่างไทยและญี่ปุ่นนั้น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยและญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่ดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะการส่งออกข้าวของไทยไปตลาดญี่ปุ่น ได้ขยายตัว ถึงร้อยละ 2-3 อย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและไทย จะร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามความตกลง 2 ฉบับ ที่จะลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้แก่ กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งมีกำหนดระยะ 5 ปี (2544-2548) โดยมีสาระสำคัญ 3 ประการ คือ ส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน ความร่วมมือในระดับภูมิภาค และเสริมสร้างความเข้มแข็งการค้าพหุภาคี และการลงนามหนังสือแลกเปลี่ยน (Exchange of Note) โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JBIC) จะให้การสนับสนุนด้านเงินกู้ดอกเบี้ย ต่ำแก่ไทยและลาว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)
ทั้งนี้ ไทยและญี่ปุ่น จะได้มีการหารือกันในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะมีการเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิก โดยเน้นทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยีระดับสูง เพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า มีการรายงานถึงมูลค่าการค้าและการลงทุน ของผู้ประกอบการญี่ปุ่น ในประเทศไทยสูงเกือบ 700,000 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการค้าและการลงทุนที่ผลิต และจำหน่ายภายใน ประเทศกว่า 400,000 ล้านบาท และการผลิตเพื่อการส่งออกกว่า 280,000 ล้านบาท ดังนั้น ไทยและญี่ปุ่นจึงนับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทั้งในลักษณะคู่ค้าและคู่แข่ง ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน บนพื้นฐานของความเข้าใจ จะนำไปสู่การพัฒนาของทั้งสองประเทศ
อนึ่ง ในระหว่างการเยือนไทยครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีกำหนดการที่สำคัญคือ ในวันที่ 18 กันยายน 2544 นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะและหารือทวิภาคีอย่างเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในวันเดียวกัน วันที่ 19 ก.ย. 2544 นายกรัฐมนตรีจะได้นำนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ. พระราชวังไกลกังวล ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ นายกรัฐ มนตรีญี่ปุ่นและคณะมีกำหนดเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ของกรุงเทพ ฯด้วย ในวันที่ 20 กันยายน 2544 นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะมีกำหนดเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสิงคโปร์ โดยเครื่องบินพิเศษ
ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักโฆษก โทรภายใน 8055 โทร 6299292,6299491 โทรสาร 2814450
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ