วันนี้ (29 ส.ค.59) เวลา 13.30 น. เกี่ยวข้อง ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 3/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาหารือในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนและรับทราบรายงานภาวะการส่งเสริมการลงทุน โดยมีการเปรียบเทียบการขอรับส่งเสริมการลงทุนรายไตรมาสของปี 2559 กับปี 2558 ซึ่งการลงทุนไม่ใช่ลงทุนทุก 3 เดือนแล้วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต้องพิจารณาและดูถึงจังหวะการลงทุนของประเทศต่างๆ ในต่างประเทศประกอบด้วยว่ามีนโยบายและทิศทางการลงทุนหรือภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนความมีเสถียรภาพทางด้านการเงินเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมของประเทศรองรับกับสถานการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่ได้เน้นย้ำและให้แนวทางกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือต้องพิจารณาทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ และการลงทุนของภาคธุรกิจและเอกชนในประเทศไทย รวมถึงการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ โดยต้องประสานทั้ง 3 ส่วนเชื่อมโยงกันซึ่งจะสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งในสังคมได้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลต้องการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นและส่งเสริมการลงทุนจากภายนอกโดยไม่ให้ส่งผลกระทบหรือขัดแย้งกับภายในพื้นที่ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดคือความมีเสถียรภาพทั้งทางด้านการเมืองและความมั่นคง อย่างไรก็ตามการที่จะทำให้เศรษฐกิจระดับฐานรากหรือระดับรากแก้วมีเงินเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจทางด้านการค้า การลงทุน การส่งออก-นำเข้า และภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ ต้องดำเนินการให้เกิดความเชื่อมโยงกันทั้งระบบเพื่อที่จะขยายเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV และต่างประเทศอื่น ๆ ต่อไป
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น ตรงนี้ต้องพิจารณาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของต่างประเทศอื่น ๆ ประกอบด้วยซึ่งขณะนี้ก็ยังประสบภาวะเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศไทย ทั้งนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันตระหนักเรื่องดังกล่าวจึงได้เตรียมการและความพร้อมในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนในด้านต่าง ๆ รองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการเข้ามาทำงานของรัฐบาลไม่ใช่เป็นการดำเนินการแล้วจะได้เงินทันทีหรือเกิดผลภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างยังไม่พร้อม ไม่มีแผนงานและมาตรการรองรับ แต่รัฐบาลก็ได้มีการดำเนินการที่ประสบความสำเร็จในหลายเรื่องโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรบางพื้นที่ เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชบางส่วนให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งสามารถทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มและมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พร้อมกันนี้ นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้กล่าวถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หรือ เมดิคัล ฮับ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่กิจการผลิตยา และกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งจะสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของคนในประเทศ ช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาและเครื่องมือแพทย์ และลดการขาดดุลการค้าจากการนำเข้ายาและเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ภายใต้นโยบายดังกล่าว จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่โครงการลงทุนในกลุ่มกิจการผลิตยา และกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยกิจการผลิตยาในปัจจุบันไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ก็จะเปลี่ยนเป็นให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี และหากโครงการใดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2560 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี เพื่อช่วยลดภาระผู้ผลิตยาที่จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการปรับปรุงโรงงานผลิตให้ได้มาตรฐาน GMP ตามแนวทาง PIC/S
ส่วนกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งปัจจุบันให้การส่งเสริมอยู่แล้ว แต่เพื่อสนับสนุนให้กิจการเอสเอ็มอีไทยสามารถลงทุนผลิตเครื่องมือแพทย์ได้ จึงเห็นชอบให้เพิ่มประเภทกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ในมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทย (มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะช่วยให้กิจการเอสเอ็มอีที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นอีก 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ เช่น กิจการเครื่องมือแพทย์ที่ได้ยกเว้นภาษี 5 ปี ก็จะได้ยกเว้น 7 ปี เป็นต้น
สำหรับการส่งเสริมกิจการสถานพยาบาล จำเป็นจะต้องรอรายละเอียดของธรรมนูญว่าด้วยเรื่องระบบสุขภาพแห่งชาติ และนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นบีโอไอจะดำเนินการจัดทำแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในกิจการสถานพยาบาลเพื่อนำเสนอบอร์ดพิจารณาต่อไป
อีกทั้ง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการจัดทำโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใน 3 พื้นที่ได้แก่ 1.อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนา “เกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” (Agricultural Industry City) 2. อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน (Sustainable Development City) และ 3. อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เป็นเมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ (International Border City) โดยให้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับโครงการลงทุนใหม่ใน 3 พื้นที่ดังกล่าว ให้สูงกว่าสิทธิประโยชน์ของมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน 4 จังหวัดภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของสงขลา ได้แก่ หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และ ค่าประปา 2 เท่า เป็นเวลา 20 ปี (เพิ่มจาก 15 ปีเป็น 20 ปี) ลดหย่อนอากรขาเข้า 90% สำหรับวัตถุดิบนำเข้ามาผลิต เพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นเวลา 10 ปี (เพิ่มจาก 5 เป็น 10) ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก เป็นระยะเวลา 10 ปี (เพิ่มจาก 5 เป็น 10)
นอกจากนี้ยังให้เพิ่มประเภทกิจการที่ยกเลิกการส่งเสริมไปแล้ว แต่เปิดให้การส่งเสริมใหม่เฉพาะในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย 1 กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ 2 กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภค (ยกเว้นการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาเซรามิกส์และการผลิตกระเบื้องปูพื้นหรือผนัง) 3กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน (ยกเว้นเครื่องสำอาง) 4 กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก 5 กิจการผลิตสิ่งของจากเยื่อหรือกระดาษ เช่น กล่องกระดาษ 6 กิจการพัฒนาอาคารสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และ/หรือ คลังสินค้า
พร้อมทั้ง ที่ประชุมได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 34 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 266,387.7 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) กลุ่มเกษตร เงินลงทุนรวม 30, 478.6 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบในประเทศปีละประมาณ 45,053 ล้านบาท 2) กลุ่มแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 3) อุตสาหกรรมเบา 4) กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง เงินลงทุนรวม 6,566.1 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 32,909.4 ล้านบาทต่อปี 5)กลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ เงินลงทุนรวม 82,728.6 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 77,662.5 ล้านบาทต่อปี 6) กลุ่มกิจการบริการและสาธารณูปโภค เงินลงทุนรวม 134,787.32 ล้านบาท
------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ข้อมูล : ศูนย์บริการส่งเสริมการลงทุนคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th