นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมผู้นำ G20 ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวทั่วไป Sunday September 4, 2016 08:58 —สำนักโฆษก

พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภารกิจนายกรัฐมนตรีแก่สื่อมวลชน ในโอกาสพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2559 ในฐานะประธาน G77 ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2559 ที่นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ของไทยร่วมกับผู้นำ G20 ภายใต้หัวข้อหลักว่า “การมุ่งสู่เศรษฐกิจโลกที่สร้างสรรค์ มีพลัง เชื่อมโยง และเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม (Towards an Innovative, Invigorated, Interconnected and Inclusive World Economy) พร้อมทั้งมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศอื่นๆ ด้วย
นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมผู้นำ G20 ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภารกิจนายกรัฐมนตรีแก่สื่อมวลชน ในโอกาสพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2559 ในฐานะประธาน G77 ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2559 ที่นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ของไทยร่วมกับผู้นำ G20 ภายใต้หัวข้อหลักว่า “การมุ่งสู่เศรษฐกิจโลกที่สร้างสรรค์ มีพลัง เชื่อมโยง และเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม (Towards an Innovative, Invigorated, Interconnected and Inclusive World Economy) พร้อมทั้งมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศอื่นๆ ด้วย รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การที่ผู้นำของไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ในครั้งนี้ ย้ำถึงสถานะของไทยในฐานะประเทศที่มีบทบาทสร้างสรรค์ที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก ทั้งในฐานะประธาน G77 และสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจและความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศ ที่มีต่อการเมืองเศรษฐกิจไทย วิสัยทัศน์ของไทย ตามหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้แนวทางการส่งเสริมการเติบโตภายใน (home grown approach) เพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเชื่อว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจโลกด้วย วาระสำคัญของการประชุม ประกอบด้วย 4 เรื่อง สำคัญ คือ (1) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแนวทางใหม่ (Breaking a New Path for Growth) (2) การมีระบอบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น (More Effective and Efficient Global Economic and Financial Governance) (3) การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง (Robust International Trade and Investment) (4) การพัฒนาที่ครอบคลุมและเชื่อมโยง (Inclusive and Interconnected Development)วิสัยทัศน์สำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะได้ยกหยิบต่อที่ประชุมผู้นำ G20 ครั้งนี้ ครอบคลุมการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อกระตุ้นแนวทางการพัฒนาใหม่ ย้ำการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในระบบการค้าโลก ผ่านการเพิ่มขีดความสามารถและเชื่อมโยง SMEs เข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลก ย้ำความสำคัญของ Home Grown Approaches ในการบรรลุวาระ ค.ศ. 2030และชื่นชมบทบาทของ G20 ต่อการแบ่งปันองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนา ในการบรรลุวาระ ค.ศ. 2030 ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการกลุ่ม 20 ว่าด้วยวาระ ค.ศ. 2030 ทั้งนี้ ไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาของไทย โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานด้วย

สำหรับผลลัพธ์การประชุมฯ ที่สำคัญ อาทิ การจัดทำร่างพิมพ์เขียวสำหรับการเจริญเติบโตที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรม (Blueprint for Innovation-driven Growth) การรับรองแผนปฏิบัติการเพื่ออนุวัติวาระ ค.ศ. 2030 เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน (Action Plan for the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development) การรับรองยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตของการค้าโลก (Global Trade Growth Strategy) การส่งเสริมการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ (Reform of the International Financial Architecture)การริเริ่มความร่วมมือเพื่อการต่อต้านการทุจริต เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้นำสมาชิก G20 ได้ยืนยันการเข้าร่วมแล้วหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ บราซิล เม็กซิโก อินเดีย ออสเตรเลีย แคนาดา สำหรับแขกพิเศษอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมในปีนี้ ได้แก่ สปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียน สาธารณรัฐชาด ในฐานะประธาน AU สาธารณรัฐเซเนกัล ในฐานะประธาน NEPAD สิงคโปร์ ในฐานะผู้แทนกลุ่ม 3G สเปนในฐานะแขกรับเชิญถาวร อียิปต์และคาซัคสถาน ในฐานะแขกของเจ้าภาพด้วย

อนึ่ง G20 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 เป็นกรอบการหารืออย่างไม่เป็นทางการเพื่อสนองตอบต่อวิกฤตการเงินในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยการหารือมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) เศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินโลก 2) การเพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางการเงิน และ (3) การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งนี้ สมาชิกของ G20 ประกอบด้วยผู้แทนสหภาพยุโรป และอีก 19 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดียอินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี ซึ่งขนาดเศรษฐกิจของสมาชิก G20 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันถึง 2 ใน 3 ของโลก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ