ไทยเสนอให้สมัชชารัฐสภาอาเซียนเป็นตัวกลางในเชื่อมโยงประชาชน สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนอาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday September 6, 2016 11:04 —สำนักโฆษก

วันนี้ (6 กันยายน 2559) เวลา 13.35 น. ณ ห้องหมายเลข 3 ศูนย์ประชุม NCC พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA- ASEAN Leader’s Interface with Representatives of ASEAN Inter-Parliamentary Assembly) เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำอาเซียนกับฝ่ายนิติบัญญัติอาเซียนและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อการกำหนดทิศทางและบทบาทของสมัชชาฯ ในประชาคมอาเซียน

สำหรับสาระสำคัญในการประชุม พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปไว้ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับกลไก AIPA เนื่องจากเป็นกลไกเชื่อมโยงการทำงานระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของอาเซียน ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา หลักธรรมาภิบาล ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วม

โดยนายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างสถานการณ์เบร็กซิท (BREXIT) ซึ่งเกิดจากการประชาชนไม่ตระหนักถึงประโยชน์ของการรวมตัวกัน ทำให้บางประเทศขอแยกตัวออกจากการร่วมกลุ่ม ดังนั้น สมัชชารัฐสภาอาเซียนจึงควรเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอาเซียนกับประชาชนรากหญ้า เพื่อสร้างความตระหนักรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ ในประชาคมอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนมีความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากประชาคมอาเซียนได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศต่างๆ ในอาเซียน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้ประเทศสมาชิกเร่งรัดการออกกฎหมายภายในตามพันธกรณีของอาเซียนให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ความตกลงในกรอบอาเซียนที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับโดยเร็ว โดยถึงการผลักดันการจัดทำฐานข้อมูล (database) ของกฎหมายภายในประเทศสมาชิกอาเซียนให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางร่วมกันของอาเซียนให้แก่ประชาชนที่สนใจจะไปทำมาค้าขาย หรือไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนได้ใช้ประโยชน์

สำหรับประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการออกกฎหมายภายในที่เป็นประโยชน์ต่ออาเซียน โดยเฉพาะกับความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558, พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียนบวกสาม พ.ศ. 2558, พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559, พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม พ.ศ. 2559 เป็นต้น

โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเชื่อมั่นในที่ประชุมฯว่า ประเทศไทยจะสนับสนุนการทำงานของสมัชชารัฐสภาอาเซียนอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมประชาคมอาเซียนให้เป็นประชาคมที่ตั้งอยู่บนหลักของกฎกติกา ธรรมาภิบาล และประชาชนเป็นศูนย์กลางในการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ