ไทยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 7, 2016 11:38 —สำนักโฆษก

วันนี้ (7 ก.ย. 59) เวลา 17.30 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 8 โดยในที่ประชุมมีการรับทราบแผนปฏิบัติการอาเซียน-สหประชาชาติ ปี 2559-2563 (ASEAN-UN Plan of Action 2016-2020) สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกในประเด็นต่างๆ ซึ่งพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปี พ.ศ. 2559 เป็นปีแรกที่อาเซียนก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน และกำลังเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี ค.ศ. 2025 เพื่อสร้างความเข้มแข็งและขับเคลื่อนอาเซียนไปข้างหน้า และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและยึดมั่นในกติกา

ไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 วาระปี ค.ศ. 2016 พร้อมสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนของทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการขจัดความยากจน การส่งเสริมสาธารณสุขที่เข้าถึงทุกคนและสร้างโอกาสแก่ทุภาคส่วนในการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนและสหประชาชาติควรเน้นความร่วมมือที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตใน 2 มิติ

มิติแรก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ไม่ทุจริต โปร่งใส่ ไม่คอรัปชั่น ที่เน้นการคิดนอกกรอบ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน เน้นแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ และความเชื่อมโยงด้านดิจิตอล ที่จะช่วยเพิ่มพูนผลผลิตและลดต้นทุน รวมทั้งเชื่อมโยงการเงิน ธุรกิจ การค้าและการลงทุน อันจะช่วยนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต

มิติที่สอง การเจริญเติบโตสีเขียวที่ครอบคลุมและยั่งยืน จะต้องสามารถตอบโจทย์ความท้าทายของโลกปัจจุบันในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น สภาพภูมิอากาศ ซึ่งในเรื่องนี้ อาเซียนจะมีการออกแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 22 ขณะที่ล่าสุดไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งคลังสิ่งของช่วยเหลือของอาเซียนภายใต้โครงการระบบการส่งกำลังบำรุงของการปฏิบัติการบรรเทาทุกข์และการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติอาเซียนด้วย นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาแบบยั่งยืน

ทั้งนี้ ไทยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพื่อผลักดันนโยบาย “Thailand 4.0” โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะเดียวกัน ก็เน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคี เพื่อแสวงหาจุดแข็งของแต่ละประเทศ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสนับสนุนซึ่งกันและกันในการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs) เพื่อเป็นการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับความสามารถในการรับมือกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ

โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะส่งผลให้ประชาชนอาเซียนและประชากรโลกในภาพรวมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความยากจน ลดนโยบายประชานิยม ลดความขัดแย้ง ประชาชนต้องได้รับประโยชน์จากทุกรัฐบาล ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย เข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงและผู้นำรัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาล

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ