โอกาสนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลงานรัฐบาลในส่วนด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสรุปความว่า เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศได้ฟื้นฟูจัดการคืนความสุขให้ประชาชนทันทีด้วยการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง ซึ่งมีตัวช่วย 4 ประการ ได้แก่งบประมาณ บุคลากร ความรู้ความคิด เทคโนโลยีและหลักวิชาการตลอดจนใช้อำนาจผ่านกระบวนการกฎหมายมาช่วยสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้อยู่ครบ 2 ปี ได้ออกกฎหมายมาแล้วกว่า 187 ฉบับ ค้างสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีก 27 ฉบับ ซึ่งกำลังจะผ่านกระบวนการทางสภาฯ ออกเป็นกฎหมายอย่างสมบูรณ์เร็ว ๆ นี้ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีโดย คสช. ได้ใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหาประเทศด้านต่าง ๆ อีก 104 ฉบับ จะเห็นได้ว่ากฎหมายถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างดียิ่ง ที่ผ่านมา พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีการกระทรวงยุติธรรมมีบทบาทสำคัญในการเป็นฝ่ายกฎหมายที่ช่วยแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงต่าง ๆ ทั้ง 20 กระทรวงให้สามารถทำงานช่วยเหลือประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาในอดีต ประเทศไทยเคยให้สัญญากับต่างประเทศ ธนาคารโลก องค์การสหประชาชาติและสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่จะช่วยแก้ไขกฎหมายของไทยให้สอดคล้องกับกฎหมายนานาชาติ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการได้แล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่นลงนามสนธิสัญญาไซเตรต แก้กฎหมายการค้างาช้าง กฎหมายการคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายแรงงานประมงทางทะเล กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายสากล กฎหมายการฟอกเงิน กฎหมายการทวงถามหนี้ กฎหมายการคุ้มครองเด็กแรกเกิดจากการเจริญพันธุ์ทางการผสมเทียม กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ กฎหมายภาษีมรดกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กฎหมายดูแลคนไร้ที่พึง กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ และกฎหมายแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตลอดจนกฎหมายขอทาน และกฎหมายเกี่ยวกับหอพักเป็นต้น ประการสำคัญ กฎหมายยาเสพติดที่มีมากกว่า 20 ฉบับจะเหลือเพียงฉบับเดียวที่ครอบคลุมทั้งหมด
ทั้งนี้ ระบบการศึกษาของไทยในระดับอุดมศึกษาในสถานศึกษาต่าง ๆ ได้มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เช่น พรบ. โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าสามารถผลิตบัณฑิตได้ถึงระดับปริญญาเอก รวมทั้ง พรบ. โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สถาบันจุฬาภรณ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ตลอดจนมหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัยด้วย
พร้อมกันนี้ กระบวนการยุติธรรมได้มีการแก้ไขให้มีบทบาทช่วยเหลือคนยากจนมากยิ่งขึ้น เช่น พรบ. กองทุนยุติธรรม ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการไม่ถึง 1 ปีเต็ม มีประชาชนมาขอความช่วยเหลือกว่า 2,000 ราย เป็นเงินกว่า 140 ล้านบาท ส่วนเรื่องคอร์รัปชั่น รัฐบาลชุดนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง จะไม่ให้คนโกงลอยนวลอย่างแน่นอน โดยมีการจัดตั้งศาลอาญาทุจริตขึ้นภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 โดยเปิดทำการทั่วประเทศ ซึ่งคดีนี้จะผ่านเพียง 2 ศาล เท่านั้นไม่ถึงศาลฎีกา และจะตามยึดทรัพย์ให้ได้ เพราะว่าคดีไม่มีวันหมดอายุความ สำหรับประเด็น “คอร์รัปขั่น” นั้นรัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยยึดหลัก 5 ป ได้แก่ 1.ปฏิบัติ โดยไม่มีการคดโกง 2.ประชาสัมพันธ์ ด้วยการสร้างการรับรู้และความเข้าใจพร้อมมีหลักสูตรให้ข้าราชการอบรมเรียกว่า “สำนึกข้าราชการไม่โกง” และ “หลักสูตรกรรมสนองโกง” 3.ป้องกัน ด้วยการเปิดโอกาสไม่ให้มีการทุจริต โดยมี พรบ. อำนวยความสะดวกทางราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่ประชาชน หากการดำเนินการใด ๆ กำหนดไว้ว่า ต้องดำเนินการภายใน 7 วัน หากเจ้าหน้าที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ควรมีหนังสือกล่าวขอโทษประชาชนแจ้งรายละเอียดให้ทราบด้วย มิฉะนั้นถือว่ามีความผิด 4.ปราบปราม โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับที่กระทำความผิดและสอบสวนแล้ว พบว่า “ผิดจริง” ได้ดำเนินการสั่งพักงานแล้วกว่า 270 ราย และให้ออกจากราชการแล้วกว่า 50 รายและแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเกษียณอายุราชการแล้ว ก็สามารถดำเนินการสอบสวนต่อได้อีก 3 ปี ตลอดจนมีคดีสำคัญ ๆ ที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลนี้ได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดไปแล้วเช่น คดีทุจริตจำนำข้าว คดียูเนียนคลองจั่น คดีบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และคดีวัดธรรมกาย เป็นต้น และ 5.โปร่งใส โดยมีคู่มือปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดำเนินการตามคู่มือโดยเคร่งครัดว่าควรนำเอกสารใดมาบ้าง มิใช่ว่าในคู่มือกำหนดไว้ขอเอกสาร 7 ชุด แต่ต่อมาจะมาขอเพิ่มอีก 1 ชุด เป็น 8 ชุดย่อมกระทำไม่ได้ และหากไม่ดำเนินการให้ประชาชนภายในเวลากำหนดและตามที่คู่มือระบุต้องมีความผิดอย่างชัดเจนพร้อมทั้งได้นำร่องศูนย์บริการร่วม “One stop service” ไปแล้วเช่นที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนเพลินจิต และธัญญปาร์ค ถนนศรีนครินทร์ อนาคตอันใกล้จะมีการขยายศูนย์ดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาให้ชาติบ้านเมืองมากมายด้วยความวิริยอุตสาหะเพื่อให้ประเทศไทยดีขึ้นในสายตาชาวโลกเดิมความโปร่งใสของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 102 ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 76 ส่วนระดับความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติเดิมอยู่ในลำดับที่ 30 ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 28 รวมทั้งองค์การสหประชาชาติได้จัดระดับความสามารถของรัฐบาลไทยในบทบาทรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) เดิมอยู่ในลำดับที่ 102 ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 77
รองนายกรัฐมนตรีกล่าว ในตอนท้ายอีกว่ารัฐบาลชุดนี้แบกภาระเพื่อขับเคลื่อนประเทศทั้ง 2 บ่า โดยบ่าซ้ายเกี่ยวกับกฎหมายที่ประชาชนต้องการและหน่วยงานทุกภาคส่วนต้องการเห็น ด้วยการผลักดันพร้อมขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างจริงจังเช่นกฎหมายสรรพสามิต กฎหมายศุลกากร กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และกฎหมายพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศ ส่วนบ่าขวาประกอบด้วยการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปกฎหมาย การปฏิรูปข้าราชการ การปฏิรูปเศรษฐกิจการปฏิรูปด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ทั้งนี้ เพื่อคนไทยและชาวต่างชาติจะได้มองเห็นทิศทางของประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไรคนไทยและประเทศไทยจะมีอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง และประชาชนได้อะไรบ้างจากการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว ดังนั้น หากไม่มีกฎหมายมารองรับ รัฐบาลย่อมไม่สามารถพัฒนาประเทศชาติไปได้ ซึ่งกฎหมายทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทำเพื่อลดความทุกข์และเพิ่มความสุขสบายให้แก่ประชาชน เพื่อนำประเทศชาติสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
************************************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
อภิวัฒน์ / รายงาน
ดวงใจ / ตรวจ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th