นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในงานประจำปี บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2016

ข่าวทั่วไป Wednesday September 28, 2016 08:38 —สำนักโฆษก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาประจำปีของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2016” ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

วันนี้ (28 ก.ย. 59) เวลา 15.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาประจำปีของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ “บางกอกโพสต์ ฟอรัม 2016” ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ภายหลังเสร็จสิ้นการกล่าวสุนทรพจน์ พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีมีความยินดีที่ได้มาร่วมงานในวันนี้ ซึ่งมีความสำคัญหลายประการ (1) เป็นงานซึ่งจัดโดยสื่อมวลชนที่มีบทบาท เป็นช่องทางสำคัญของสังคมในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินการและผลงานของรัฐบาลให้สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศได้รับรู้ในวงกว้าง บทบาทของสื่อมวลชนที่สร้างสรรค์มีจรรยาบรรณที่ดีจะนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งแก่รัฐบาล สังคมและประชาชน (2) งานในวันนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะวันนี้รัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาโดยการปฏิรูปประเทศมากว่าครึ่งทางแล้ว สองปีที่ผ่านมานับเป็นบทพิสูจน์การทำงานที่ท้าทาย โดยปัญหาหลายด้านได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และนับจากนี้จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560 หรืออีกประมาณหนึ่งปีเศษ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลจะเร่งเดินหน้าปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ทั้งระยะสั้น/กลาง/ยาว เพื่อการวางรากฐานสู่สังคมที่เข้มแข็งและมั่นคงในอนาคต (3) ผู้เข้าร่วมการสัมมนาในวันนี้มาจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงผู้แทนจากมิตรประเทศ ซึ่งทุกคนในที่นี้ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการเป็น “พลัง” ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการเดินหน้า ปฏิรูปประเทศไทยให้ทุกภาคส่วนเติบโต เข้มแข็งและเดินหน้าไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ก่อนรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 ประเทศไทยมีปัญหาสะสมมานาน ทั้งในด้านการขาดแผนพัฒนาชาติในระยะยาวมาอย่างต่อเนื่อง ในกรอบของการบริหารราชการแผ่นดินทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รวมถึงการวิจัยและการพัฒนาทำได้น้อยและไม่ต่อเนื่อง ปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งนานาประเทศขาดความเข้าใจในบริบทของประเทศไทย และไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามพันธสัญญากับองค์การระหว่างประเทศและมาตรฐานสากลในหลายเรื่อง เมื่อรัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ยึดถือประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง บริหารประเทศแบบมีธรรมาภิบาล บูรณาการ วางรากฐานประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าทุกคนต้องการเห็นประเทศไทยเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องและประสบความสำเร็จ บ้านเมืองมีความสงบสุข การเมือง มีเสถียรภาพ นักการเมืองมีธรรมาภิบาล สังคมมีกฎกติกา มีความสามัคคีปรองดอง เศรษฐกิจเจริญเติบโต ความเจริญกระจายตัวทุกภูมิภาค ประชากรทุกกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรีและโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียม นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของการปฏิรูปซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ที่สำคัญไม่น้อยกว่าเป้าหมาย คือ ระหว่างทางที่จะเดินไปถึงเป้าหมายนั้น ประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร ขับเคลื่อนด้วยสิ่งใด และก้าวไปพร้อมกับใคร

“การเดินหน้า” ต่อจากนี้ จะมุ่งปฏิรูปประเทศ ในทุกมิติ โดยจะเดินตามแผนงานซึ่งกำหนดแนวทาง มาตรการไว้อย่างเป็นขั้นตอน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตาม โรดแม็ปและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

(1) Roadmap : การดำเนินการของ คสช. และรัฐบาลเป็นไปตามโรดแม็ปหรือขั้นตอนที่เคยประกาศไว้ทุกประการ นับจากขั้นตอนที่ 1 คือ เมื่อ คสช.เข้ามาควบคุมสถานการณ์จนถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและการจัดตั้งรัฐบาล รวม 3 เดือน ขั้นตอนที่ 2 เริ่มจากการจัดตั้งรัฐบาลนี้เมื่อ 2 ปีก่อน จนถึงปัจจุบันและจะยังคงอยู่ต่อไปอีกประมาณ 1 ปี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า ส่วนขั้นตอน ที่ 3 จะเริ่มเมื่อมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปและจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปัจจุบัน เราอยู่ในระยะที่ 2 ของโรดแม็ป ซึ่งเป็นช่วงการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างโดยมีการจัดทำ “แผนที่” นำทางไปสู่อนาคตตามวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

(2) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี : รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี (2560 – 2579) ที่จะวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ.2579 โดยรัฐบาลมองไกลไปกว่าช่วงก่อนการเลือกตั้ง หรือเฉพาะช่วงที่รัฐบาลนี้ปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นการวางแนวทางและสร้างรากฐานให้รัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศต่อไป สามารถสานต่อการดำเนินการด้านต่างๆ ได้ เพื่อไม่ให้ประเทศเดินย้อนกลับไปสู่จุดเดิมอีก โดยสามารถปรับแผน + ยุทธศาสตร์ ได้ตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา เพื่อไปสู่เป้าหมายในอนาคต เพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน

การเดินหน้าปฏิรูปประเทศต้องปฏิรูปและพัฒนาจากรากฐานในทุกมิติอย่างสอดคล้องกัน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพราะปัญหาด้านต่าง ๆ ที่ประเทศไทยประสบอยู่ทุกวันนี้ล้วนมีความเกี่ยวพันกัน ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาและแนวทางในการเดินหน้าพัฒนาประเทศจะต้องเกื้อหนุนและสอดคล้องกันในลักษณะบูรณาการ การจัดทำแผนงานโครงการ งบประมาณ บุคลากร รัฐบาลจึงมุ่งมั่นผลักดันนโยบายทั้งสามด้านไปพร้อมกัน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ลดความเหลื่อมล้ำซึ่งทำให้เกิดการขัดแย้งในหมู่ประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจ

ในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจโลก และปัญหาภายในประเทศ โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดเสถียรภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจต่อเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยรัฐบาลได้ใช้เวลา 2 ปี ในการขับเคลื่อนการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศ หรือ GDP/ จาก 0.8% ในปี 2557 มาเป็น 2.8% ในปี 2558 เป็น 3.2% ในไตรมาสแรกปี 2559 และเป็น 3.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ในขณะที่เศรษฐกิจโลกถดถอยลงตามลำดับ

อย่างไรก็ดี การเติบโตที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับนั้น ยังไม่ได้กระจายตัวอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะการกระจายไปสู่เศรษฐกิจฐานราก หรือรากแก้ว จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนยังไม่มั่นใจอย่างเต็มที่ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้กำหนดแนวทางสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ ทั้ง 5 S curve และ 5 New S curve ซึ่งถือเป็นการปฏิรูป (reform) ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งจำเป็นและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนของประเทศ โดยรัฐบาลได้กำหนดแนวทางสร้างเศรษฐกิจใหม่ 4 แนวทาง คือ

(1) การสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง เพราะหากเศรษฐกิจข้างล่างไม่ขยับ เศรษฐกิจข้างบนจะขยับได้ไม่นาน ส่งผลให้ไม่มีอำนาจซื้อ และภาวะการเติบโตที่ต้องพึ่งการส่งออกตลอดเวลา ทำให้เศรษฐกิจไทยขาด ดุลยภาพ โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายกองทุนหมู่บ้านในเบื้องต้น และต่อยอดด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถ

(2) ส่งเสริม Thailand Connect โดยการเชื่อมโยงคมนาคมภายในประเทศและกับต่างประเทศ ตามแผนแม่บทด้านต่างๆ จัดลำดับความเร่งด่วน อาทิ พัฒนาการคมนาคมระบบราง การคมนาคมทางน้ำ โครงข่ายถนน และปรับปรุงและพัฒนาท่าอากาศยาน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การขนส่งสินค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การสร้างเมืองใหม่ เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศผ่านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยหากไทยสามารถมีระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงตั้งแต่จีนไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ หรือจากเมียนมา ไปยังอินเดียได้ ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและส่งผลให้มีการกระจายรายได้ลงไปในทุกภาคส่วน

(3) ผลักดัน Thailand 4.0 รัฐบาลเล็งเห็นความจำเป็นในการปรับโมเดลเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อนำประเทศออกจาก “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” จาก “โมเดลประเทศไทย 1.0” ที่เน้นภาคการเกษตร ไปสู่ “โมเดลประเทศไทย 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรม-เบา และ “โมเดลประเทศไทย 3.0” ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก สู่ “โมเดลประเทศไทย 4.0” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วนนวัตกรรม” (Value-Based Economy) คือ การใช้เทคโนโลยี ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีทิศทางและยั่งยืน ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเน้นส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นสากล พร้อมขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น เพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน และให้ประชาชน มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตประเทศ/ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ประกอบด้วย

  • การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม (S curve) ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมรถยนต์สมัยใหม่ 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และ
  • ส่งเสริม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (new S Curve) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 5) อุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร

(4) ผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) เพื่อทำให้ไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค เป็น Gateway ที่แท้จริงสู่ CLMVT โดยต่อยอด Eastern Seaboard เพื่อสร้างฐานด้านเศรษฐกิจต่อไปยังอนาคตควบคู่ไปกับการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน โดยการเชื่อมกรุงเทพฯ แหลมฉบัง มาบตาพุด และระยอง ทั้งการคมนาคมทางถนน สนามบินและท่าเรือ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งเก่าและใหม่ในบริเวณดังกล่าวและเป็นจุดกระจายสินค้าไปยัง CLMVT

รัฐบาลได้นำแนวการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการปฏิรูประบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” โดยใช้พลังกลไก “ประชารัฐ” หรือความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ ในการขับเคลื่อน โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ซึ่งตรงกับแนวความคิด “การระเบิดจากข้างใน” เพิ่มขีดความสามารถ ให้ยืนได้ด้วยตนเองจากระดับฐานราก SME และดึงภาคธุรกิจขนาดใหญ่มาเป็นฐานสนับสนุน โดยเน้นการสร้างมูลค่าจากการแปรรูป ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และทำให้ช่องว่างระหว่างรายรับกับรายจ่ายของผู้ผลิตโดยเฉพาะ เกษตรกรมีความสมดุลมากขึ้น เป็นวิธีการพัฒนาที่จะสร้างความเจริญ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มุ่งประโยชน์ส่วนรวมอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศจะมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นและอยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างเป็นลำดับ แต่ปัจจัยประการสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ นักลงทุนในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน คือ เสถียรภาพทางการเมือง ความสงบเรียบร้อย และนโยบายของประเทศที่มีความชัดเจน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560 – 2564) ตลอดจนได้นำข้อเสนอแนะในแผนปฏิรูป 5 ปี-20 ปีของสภาปฏิรูปประเทศมาพิจารณาดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นสำหรับนักลงทุนขนาดใหญ่ในระยะยาว

ด้านการเมือง

สภาพปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน รัฐบาลจึงพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหานับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา โดยการรักษาความสงบเรียบร้อย บังคับใช้กฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรม การสร้างความปรองดองภายในชาติ การแก้ปัญหาการเมืองเพื่อนำสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและฝังรากนี้ ต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ ควบคู่กัน ประกอบด้วย

(1) มาตรการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย รัฐบาลเข้ามาเพื่อดูแลสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและความมั่นคง โดยพยายามบริหารราชการและแก้ไขปัญหาของประเทศด้วยกฎหมายปกติภายใต้การบริหารในระบอบประชาธิปไตยเป็นหลัก และใช้อำนาจพิเศษเพียงเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้สถานการณ์มีความสงบเรียบร้อยขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ประชาชน ได้ใช้สิทธิลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว และขณะนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ นำไปสู่การจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามโรดแม็ปได้ในปลายปี 2560 ดังนั้น เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดำเนินไปสู่สภาวะปกติสุขแล้ว รัฐบาลจึงได้ผ่อนคลายมาตรการชั่วคราว เช่น การประกาศยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างกว้างขวางภายใต้กรอบของกฎหมาย

(2) การปฏิรูปกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าและวางรากฐานสำหรับสังคมประชาธิปไตย โดยที่รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งทางทางการเมืองมาจากการอ้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพไร้ขีดจำกัด การบริหารงานที่ขาดธรรมาภิบาล ปล่อยปะละเลยขาดการกำกับดูแล การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การทุจริตคอร์รัปชั่นสูง จากการทำประชานิยมในโครงการที่เป็นปัญหาในด้านงบประมาณระยะยาว มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงจากฝ่ายต่าง ๆ การละเมิดกฎหมาย เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลจึงแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและครอบคลุมต่อเนื่อง อาทิ

  • การออกกฎหมายใหม่หรือการปรับแก้กฎหมายให้ทันสมัยเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
  • การกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติและกำหนดให้อยู่ในการปฏิรูปประเทศ ในทุกด้าน
  • การแก้ไขปัญหาความมั่นคงและปัญหาสังคมอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังและรอการแก้ไข เพื่อเป็นการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและส่งเสริมธรรมาภิบาล

ทั้งนี้ รัฐบาลในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ขาดเครื่องมือในการบริหารประเทศ เพราะสามารถ ผ่านกฎหมาย ได้เพียง 120 ฉบับ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไม่เอื้ออำนวย แต่ในช่วง 2 ปีที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศสามารถเสนอกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว 187 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.อีก 27 ฉบับ/ และได้ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีก 104 ฉบับ กฎหมายเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น

(1) การดำเนินการตามพันธกรณีระหว่าง ประเทศที่ยังคั่งค้าง อาทิ พ.ร.บ. งาช้าง พ.ร.บ. แรงงานทางทะเล พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

(2) ปัญหาด้านสังคม อาทิ พ.ร.บ.ควบคุมขอทาน พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

(3) ลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ พ.ร.บ.ภาษีมรดก พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง

(4) ปรับปรุงสถาบันอุดมศึกษาและการศึกษาทั้งระบบ

(5) ปัญหาการเข้าไม่ถึงความยุติธรรม อาทิ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม

(6) ปัญหาคอร์รัปชั่น อาทิ พ.ร.บ. การขัด กันแห่งผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ ส่วนรวม (อยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา)

(7) ปัญหาระบบราชการ อาทิ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ และ

(8) ส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในสายตาโลก อาทิ การออก พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. และคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหา IUU

(3) การสร้างจิตสำนึกของความสามัคคีและความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยการสร้างความปรองดองและความสงบสุขอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างพลังแห่งความร่วมมือของทุกฝ่ายในสังคม เปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ ให้ความสำคัญกับทั้งผู้ที่เห็นด้วย และผู้ที่เห็นต่าง โดยดูแลผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม และความไม่เท่าเทียมซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงของความขัดแย้งได้ และที่สำคัญ คือ การปลูกฝังจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบ และยึดมั่นในการดำเนินตามกฎหมาย ซึ่งต้องปลูกฝังผ่านทั้งระบบการศึกษาและในชีวิตประจำวัน โดยในประเด็นนี้ สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมเป็นกลไกสำคัญ ที่จะส่งเสริมเผยแพร่ข้อมูล ความคิดที่ถูกต้อง เป็นกลาง และไม่สร้างความแตกแยก และไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อร่วมสร้างการเมือง ที่มีเสถียรภาพและความสงบสุข และสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนร่วมกัน

ด้านสังคม

รัฐบาลเชื่อว่าประชาชนที่มีคุณภาพจะเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมที่มีคุณภาพ ดังนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ จะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนที่สุดในการพัฒนาด้านสังคม จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติ ได้แก่

(1) ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องและเท่าเทียมกัน เพื่อช่วยพัฒนาโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศ

(2) ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม ในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยไทยเป็นประเทศที่มีองค์ความรู้และเป็นหนึ่งในแบบอย่างของการบริหารจัดการสังคมผู้สูงอายุ โดยการให้ชุมชนร่วมดูแล เตรียมพร้อมในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุ ลดรายจ่ายของรัฐด้านสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการเป็นศูนย์กลางด้านการส่งเสริมสุขภาพและสอดคล้องกับนโยบายประชารัฐ โดยในประเด็นนี้ ประเทศไทยได้ผลักดันให้ผู้นำอาเซียนบวกสามรับรองแถลงการณ์เรื่อง “สูงวัยอย่างมีศักยภาพ” เพื่อเป็นแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน โดยให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันดำเนินการ ทั้งในด้านสังคมและด้านสาธารณสุข การเพิ่มพูนศักยภาพทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย และ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพอย่างยั่งยืนต่อไป

(3) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เสรีภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเข้าถึงบริการพื้นฐานแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยได้วางโครงสร้างและปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ออกกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมสิทธิสตรี และให้ความคุ้มครองกับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ดูแลสวัสดิการเด็กแรกเกิด คนพิการและผู้สูงอายุ จัดที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย จัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ เนื่องจากรัฐบาลตระหนักว่า กลุ่มคนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมที่สำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเปลี่ยนแปลงโลกของเราอย่างยั่งยืนได้

โดยที่การบริการด้านสาธารณสุขเป็นบริการ พื้นฐานและขาดไม่ได้ในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้ประชาชนกว่า 1 ใน 3 ของประเทศ ที่แต่เดิม ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม สามารถเข้ารับการรักษาในราคาที่ย่อมเยา อีกทั้งในปัจจุบัน รัฐบาลได้จัดตั้งระบบบริการสุขภาพชุมชนที่ส่งเสริมการฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลประจำพื้นที่ชุมชน ซึ่งช่วยให้ประชาชนไม่ว่าใกล้หรือไกล สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐานได้

นอกจากนี้ ในด้านความปลอดภัยทางอาหาร ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาความปลอดภัยทางอาหาร ด้วยการลดการพึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดแมลง และศัตรูพืช และการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ตรงตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชทดแทน และการเกษตรแบบผสมผสาน รวมทั้งมีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมเกษตรกรโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ

เสียงตอบรับจากนานาประเทศ

การปฏิรูปจะสัมฤทธิ์ผลได้ นอกเหนือจากการยอมรับและการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศแล้ว การยอมรับและความเข้าใจจากนานาประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ซึ่งจากการดำเนินการของทุกภาคส่วน ทั้งจากที่นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญหลายเวที จากการชี้แจงโดยกระทรวง การต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ทั่วโลกถึงพัฒนาการทางการเมืองและความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศในมิติต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินการโดยภาคเอกชนและประชาชน ทำให้ ณ วันนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับที่น่าพอใจจากนานาประเทศ ในสถานการณ์ขณะนี้ที่รัฐบาล คสช. บริหารราชการแผ่นดินในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ผลการทำงานของรัฐบาลในห้วงที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับดังเห็นได้จากการประเมินขององค์กรต่างประเทศต่อประเทศไทยซึ่งดีขึ้นอย่างน่าพอใจ สะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ

  • IMD (International Institute for Management Development) จัดอันดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยในปี 2559 เป็นอันดับที่ 28 ดีขึ้นจากปี 2558 ซึ่งอยู่อันดับที่ 30
  • สหประชาชาติจัดอันดับดัชนี e-government ให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 77 ในปี 2559 (ดีขึ้น 25 อันดับ) จากเดิมที่อยู่ในลำดับที่ 102 เมื่อปี 2557
  • ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ระบุว่า ไทยอยู่ในลำดับที่ 76 จาก 180 ประเทศ ดีขึ้นจาก 3 ปีก่อนเกือบ 30 อันดับ นอกจากนั้น สถาบันและองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศได้ประเมินสถานการณ์การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของไทย ในสายตานานาชาติว่า “ดีที่สุด” ในรอบ 6 ปี และมีความโปร่งใสที่สุด ในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังคงเดินหน้าต่อไปในเรื่องนี้ด้วยกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย
  • สำนักข่าว Bloomberg จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก (Misery Index) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน (ปี 2558 – 2559)
  • ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2558 มีนักท่องเที่ยว เดินทางมายังประเทศไทย เกือบ 30 ล้านคน มากเป็นอันดับ 11 ของโลก และนำรายได้เข้าประเทศ 1.44 ล้านล้านบาท สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และล่าสุด Master Card ได้ประกาศให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองจุดหมายปลายทางของโลก (Global Destination Cities Index) อันดับ 1 สูงกว่ากรุงลอนดอนที่ครองอันดับ 1 ในปีที่ผ่านมา

ไทยยังมีบทบาทนำที่สร้างสรรค์ในเวทีโลก โดยเฉพาะการได้รับเกียรติให้เป็นประธานกลุ่ม G77/ ซึ่งไทยได้ใช้บทบาทดังกล่าวนำเสนอการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) เป็นเข็มทิศนำทางที่เน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยใช้ความรู้และคุณธรรมประกอบ การตัดสินใจในทุกระดับและทุกสาขา ไม่เฉพาะการเกษตร แต่ยังใช้ได้ในการพัฒนาคน การบริหารจัดการทรัพยากร และการบริหาร ธุรกิจและบริการ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยปัจจุบันไทยมีโครงการความร่วมมือกับประเทศสมาชิก G77 ในแทบทุกทวีปกว่า 20 ประเทศ และยินที่ที่จะมีความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ผ่านความร่วมมือใต้ - ใต้ และไตรภาคี รวมถึงกลุ่ม G 20 ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะผลักดันความร่วมมือในลักษณะนี้ ที่เรียกว่า SEP for SDGs Partnership ต่อไปอย่างแข็งขัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม 77 ครั้งที่ 40 ที่นครนิวยอร์ก และได้นำการอภิปรายในหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”โดยรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกกลุ่ม 134 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงชื่นชมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้อง กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) และสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญความท้าทายอย่างหลากหลาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น ในการนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีกลุ่ม 77 โดยยินดีที่ไทยได้แบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งประกอบด้วยหลักการมีเหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกันบนพื้นฐานของความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วันธรรมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น ระหว่างวันที่ 9 -10 ตุลาคม 2559 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue -ACD) ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อหลัก “เอเชียหนึ่งเดียว หลากหลายในพลัง” โดยจะมีผู้นำและผู้แทนระดับสูงจาก 34 ประเทศในเอเชียเข้าร่วม การประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกจะแสดงปณิธานร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือในอีก 14 ปีข้างหน้า ให้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างประชาคมเอเชียในอนาคตอย่างมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โดยไทยจะใช้เวที ACD ผลักดันความร่วมมือตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ SEP for SDGs Partnership ในระดับภูมิภาคด้วย

สรุป

ประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปสู่เป้าหมายของความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้ทั้งในมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมนั้น ต้องประกอบด้วยปัจจัย “ระหว่างทาง” สามประการที่ผมกล่าวไว้ คือ การเดินไปตามยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนแม่บทต่าง ๆ ที่วางเป็นแนวทางไว้ โดยขับเคลื่อนด้วยโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระบอบประชาธิปไตยและการเมืองที่มีธรรมาภิบาล กฎหมายที่ทันสมัยและเป็นธรรม ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และที่สำคัญคือการก้าวไปพร้อมกันทุกภาคส่วนด้วยพลังประชารัฐ โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

แม้ว่าปัจจัยภายนอกและสภาวะแวดล้อมของโลกจะมีความเปลี่ยนแปลงและควบคุมได้ยาก ซึ่งในอดีต ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิเช่น ปัญหาโลกร้อน, ก๊าชเรือนกระจก การก่อการร้าย เศรษฐกิจเดียว, สังคมผู้สูงวัย ประชาคมด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ สอดคล้องกับการปรับเศรษฐกิจโลกด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม, การอพยพแบบไม่ปกติ, ผู้ลี้ภัย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสาธารณสุข โรคระบาด อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าหากเราเดินอย่างถูกทางบนรากฐานแข็งแรงและมีความสมดุลในด้านต่างๆ นี้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถปรับตัวเท่าทัน และดำเนินบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีโลก และเป็นพลังสำคัญในการสร้างดุลยภาพ ให้กับโลกและภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ