รัฐบาลชูเกษตรแปลงใหญ่ปฏิรูปภาคเกษตร ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต เลี่ยงความเสี่ยงภัยแล้งน้ำท่วม พร้อมจัดหาตลาดครบวงจร ตั้งเป้าปีหน้า 1 พันแห่ง เล็งผุดไอเดียรวมกลุ่มปลูกผลไม้ป้อนตลาดจีน

ข่าวทั่วไป Sunday October 9, 2016 08:26 —สำนักโฆษก

วันที่ 9 ตุลาคม 2559 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งปฏิรูปภาคการเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมการเพาะปลูก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม โดยเฉพาะการจัดทำเกษตรแปลงใหญ่ บูรณาการทุกหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนการปลูกพืชของเกษตรกร และมีผู้จัดการแปลงดูแลทุกกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

“การรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรกรสามารถกู้เงินได้ถึงแปลงละ 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี โดยในปีนี้ตั้งเป้าจัดทำเกษตรแปลงใหญ่กับพืชชนิดต่าง ๆ 580 แห่ง พื้นที่รวม 1.4 ล้านไร่ และจะขยายผลในปี 2560 ให้เป็น 1,000 แห่งขึ้นไป พร้อมส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพาะปลูกและแปรรูปผลผลิต”

พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า เฉพาะการส่งเสริมนาแปลงใหญ่ ล่าสุดได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลผลิตข้าวระหว่างกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่กับโรงสีหรือสหกรณ์ที่รับซื้อข้าวทั่วประเทศ ซึ่ง กษ. พณ. มท. ร่วมกันสนับสนุนตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เป็นการรับประกันว่าผลผลิตข้าวของเกษตรกรจะมีผู้รับซื้อแน่นอน หลังจากที่ภาครัฐช่วยจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์การเกษตร แนะนำวิธีเพาะปลูก และเจรจาต่อรองให้แล้ว

“ขณะนี้มีนาแปลงใหญ่ที่เกษตรกรเข้าร่วมใน 66 จังหวัด จำนวน 386 แปลง รวมพื้นที่กว่า 8.3 แสนไร่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลิตได้มาก เช่น นาแปลงใหญ่ อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ มีต้นทุนการผลิตนาดำลดลงจาก 4,620 บ./ไร่ เป็น 4,050 บ./ไร่ และนาหยอด จาก 4,620 บ./ไร่ เป็น 3,285 บ./ไร่ นอกจากนี้ ยังมีมันสำปะหลังแปลงใหญ่ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และการปลูกหญ้าเนเปียร์แปลงใหญ่สำหรับโคนม อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ที่ได้ผลดีเช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ รัฐบาลยังจะกระตุ้นให้เกษตรกรหันไปปลูกมังคุด ทุเรียน กล้วยหอม ถั่วเหลือง ทั้งแบบปกติและแบบแปลงใหญ่ พร้อมกับลงนามความร่วมมือกับภาคเอกชนของจีน เพื่อให้รับซื้อผลผลิตซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ตลอดจนช่วยป้องกันเกษตรกรถูกเอาเปรียบจากบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการออกกฎหมายเกษตรพันธะสัญญา โดยจะต่อยอดให้ กษ. และ พณ. เข้ามาบริหารจัดการในรายละเอียดต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ