วันนี้ (13 ต.ค. 59) เวลา 09.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นาย Fran?ois Corbin ประธานสภาธุรกิจไทย – ฝรั่งเศส และรองประธานบริหาร ฝ่ายภูมิภาคและการจัดการความก้าวหน้าบริษัท Michelin ฝรั่งเศส นำคณะผู้บริหารระดับสูงภาคธุรกิจ จากสภานายจ้างและผู้ประกอบการฝรั่งเศส (MEDEF) เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับนาย Corbin และคณะสู่ประเทศไทย และแสดงความยินดีที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานายจ้างและผู้ประกอบการฝรั่งเศส (MEDEF) ทั้งนี้ได้ทราบว่า การหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีสมคิดกับสมาชิก MEDEF เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 59 ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
นายกรัฐมนตรียินดีที่ในโอกาสที่คณะเดินทางมาไทยในครั้งนี้จะได้พบหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนของไทย ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับฝรั่งเศส เพื่อพัฒนาและต่อยอดความร่วมมือในด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ ซึ่งความร่วมมือ ความไว้วางใจ และผลประโยชน์ที่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่รับบาลไทยยึดถือมาโดยตลอด
ไทยยินดีที่ MEDEF มองไทยเป็นจุดหมายและโอกาสในด้านการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า สภาธุรกิจไทย-ฝรั่งเศสจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนให้มีพลวัตมากยิ่งขึ้น รวมถึงจะเป็นเวทีสำหรับการเจรจาในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวเชิญชวนภาคเอกชนฝรั่งเศสให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ในสาขา โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สาธารณสุข เพื่อช่วยสนับสนุนไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลพร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปลงทุนในฝรั่งเศส
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะถดถอย แต่เศรษฐกิจไทยยังคงยืดหยุ่น ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งถือเป็นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของรัฐบาล ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวเชิญชวนผู้ประกอบการฝรั่งเศสใช้ไทย ซึ่งมีที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นสะพานในการเชื่อมโยงไปยังอาเซียน ตามนโยบายไทย + 1 ของรัฐบาล
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอให้ภาคเอกชนฝรั่งเศสพิจารณาโอกาสการลงทุนตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง First S-Curve การเกษตร และ New-S Curve รวมถึงโครงการนิคมอุตสาหกรรมยาง (Rubber City) และโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
อีกทั้งรัฐบาลยังมุ่งขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจำต้องเริ่มจากการพัฒนาบุคลากร ทรัพยากรมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับการศึกษา และการพัฒนาศักยภาพของกำลังคน ให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีความร่วมมือทั้งด้านการศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ที่มา: http://www.thaigov.go.th