บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 13 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 63,440 ล้านบาท ...

ข่าวทั่วไป Monday October 31, 2016 16:00 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยที่ประชุมได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 13 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 63,440 ล้านบาท พร้อมเห็นชอบเปิดให้การส่งเสริมกิจการผลิตอาหารสัตว์และส่วนผสมอาหารสัตว์ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการวิจัยและพัฒนานอกจากฐานการผลิต โดยนักลงทุนจากต่างประเทศยังมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน 9 เดือนแรกปี 2559 จำนวน 1,095 โครงการ มูลค่า 369,070 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการลงทุนจริง จำนวน 342,000 ล้านบาท

วันนี้ (31ต.ค.59) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งที่ 4/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เข้าร่วมด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมคณะทำงานบีโอไอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ได้ร่วมทำงานจนเห็นผลในหลายเรื่อง แต่ยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ทันกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน พร้อมเน้นย้ำสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศให้เกิดความเข้าใจ เพราะในหลายเรื่องมีผลกระทบซึ่งกันและกันทั้งหมด

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอปรับปรุงมาตรการส่งเสริมคลัสเตอร์อากาศยาน โดยยกเลิกเงื่อนไขการตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ 14 จังหวัด (กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และสงขลา) เนื่องจากอุตสาหกรรมอากาศยานเป็นอุตสาหกรรมใหม่ยังไม่มีการกระจุกตัวในรูปแบบคลัสเตอร์ที่ชัดเจนเหมือนคลัสเตอร์ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งผู้ประกอบการไทยหลายรายที่มีศักยภาพผลิตชิ้นส่วนอากาศยานไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 14 จังหวัดดังกล่าว ขณะที่การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานขนาดเล็กและขนาดกลาง เช่น สายสัญญาณ น็อต เฟือง ใบพัด เป็นต้น ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งใกล้สนามบิน เพราะสามารถขนส่งชิ้นส่วนได้โดยง่ายอยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างจากการซ่อมอากาศยานหรือชิ้นส่วนที่จำเป็นต้องตั้งโรงงานใกล้สนามบิน นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยหลายรายกำลังพัฒนาการผลิตเพื่อให้สามารถรับช่วงการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอากาศยานเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และเพิ่มโอกาสให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่ไม่ได้ตั้งโรงงานในพื้นที่ 14 จังหวัดที่มีสนามบิน ที่ประชุมจึงมีมติยกเลิกเงื่อนไขเรื่องที่ตั้งของกิจการในคลัสเตอร์อากาศยาน ซึ่งตามนโยบายเดิมกำหนดให้ต้องตั้งสถานประกอบการในพื้นที่ 14 จังหวัด ที่มีสนามบินหรือใกล้เคียงสนามบิน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเปิดให้การส่งเสริมกิจการผลิตอาหารสัตว์และส่วนผสมอาหารสัตว์ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการวิจัยและพัฒนา นอกจากฐานการผลิตเพียงอย่างเดียว โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1 หากมีเฉพาะขั้นตอนการผลิต จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีตามประเภท B1 และกรณีที่ 2 หากมีการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based incentives) เมื่อมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของภาคการเกษตร มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ และมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตอาหารแปรรูป นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยังมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์แต่ละชนิดแต่ละประเภท เช่น สัตว์เศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโตและลดต้นทุน หรือสัตว์เลี้ยงที่เน้นมีสุขภาพดี อายุยืนยาว ลดความเสี่ยงจากโรคหรือเชื้อปนเปื้อน ดังนั้น การยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพอาหารสัตว์จึงมีความสำคัญและควรได้รับการส่งเสริม เพราะไทยเป็นฐานการผลิตอาหารสัตว์ชั้นนำของโลกและเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับเจ็ดของโลก

“บีโอไอได้ยกเลิกการส่งเสริมลงทุนในประเภทกิจการผลิตอาหารสัตว์ไปเมื่อสิ้นปี 2557 เพื่อให้มีการกำหนดประเภทกิจการที่เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการดังกล่าวเป็นรูปแบบชั่วคราวเฉพาะกิจการที่ตั้งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและชายแดนภาคใต้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันต้องยอมรับว่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ต่อปี การส่งออกก็มีแนวโน้มขยายตัว ขณะที่ผู้ประกอบการต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากทิศทางดังกล่าวบีโอไอจึงได้เปิดให้การส่งเสริมกิจการอาหารสัตว์ ส่วนผสมอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์เลี้ยงขึ้นอีกครั้ง โดยมั่นใจว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งรองรับการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาหารสัตว์ ส่วนผสมอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์เลี้ยงได้ในอนาคต เพราะไทยมีความพร้อมในด้านการผลิตอาหารที่ปลอดภัยตรวจสอบได้ และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีวัตถุดิบจำนวนมาก” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

นอกจากนี้ ประชุมได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 13 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 63,440 ล้านบาท มีมูลค่าที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบในประเทศรวมกว่า 15,220 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภค

อีกทั้ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้กล่าวถึงภาวการณ์ส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ว่า มีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน 9 เดือนแรกปี 2559 จำนวน 1,095 โครงการ มูลค่า 369,070 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการลงทุนจริง จำนวน 342,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนโดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศยังมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอากาศยาน อุตสาหกรรมการแพทย์ ฯลฯ

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ