คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (2560-2564)

ข่าวทั่วไป Wednesday November 2, 2016 17:01 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 2/59 เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) เดินหน้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์

วันนี้ (2 พ.ย.59) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 2/2559 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญว่า คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ ตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ของประเทศระดับกลาง ที่แปลงแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะยาว 20 ปี ไปสู่การปฏิบัติในระยะ 5 ปี และจะใช้เป็นแผนอ้างอิงสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลของหน่วยงานและจัดทำคำของบประมาณประจำปีต่อไป โดยแผนฉบับนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แผนดังกล่าวจะยึดโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติด้วย เพื่อให้นำประเทศเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 โดยกรอบระยะเวลาร่างของแผนฯ จะมี 3 ส่วน คือ ส่วนแรกนับตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ธ.ค.59 ส่วนที่สองคือจากนี้จนถึง 1 ปี 6 เดือนคือช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 และส่วนที่สามคือจากนี้ไปจนถึง 5 ปีคือสิ้นปี 2564 ซึ่งได้มีการกำหนดว่าในช่วงที่เหลือจากนี้ต้องเร่งดำเนินการในเรื่องใดบ้าง ทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องการบูรณาการงบประมาณสำหรับงบประมาณปี 2561 การเร่งวางโครงข่ายพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนด้านเศรษฐกิจ การค้าการบริการต่าง ๆ และต่อเนื่องไปถึงส่วนที่จะอยู่ในแผน 1 ปี 6 เดือน กับแผน 5 ปี ซึ่งจะดำเนินอย่างต่อเนื่องกัน โดยเมื่อครบ 5 ปีแล้วจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในความพร้อมด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่จะรองรับได้ทุกภาคส่วน ทั้งในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข การท่องเที่ยว แรงงาน อุตสาหกรรมการผลิต เกษตร ธุรกิจทุกสาขา การสร้างคนให้พร้อมต่อการทำงานทุกระดับ รวมถึงรองรับระบบการลงทุนในสมาร์ท ซิตี้ ที่ได้เริ่มขึ้นแล้วที่ภูเก็ต ซึ่งในแผนแผนปฏิบัติการฯ ระยะ 5 ปี ได้กำหนดไว้ว่าจะมีสมาร์ท ซิตี้ อย่างน้อย 6 เมือง และเมื่อเดินหน้าต่อไปประมาณ 10 ปีจะมีสมาร์ท ซิตี้ เพิ่มเป็นสองเท่า และจะได้เห็นภาพของการดำเนินการโครงข่าย การพัฒนาศูนย์ข้อมูล การให้บริการ และแนวทางการทำงานของภาครัฐ ที่จะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบการจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านทั่วประเทศทั้งหมด 40,424 หมู่บ้าน เพื่อให้หมู่บ้านต่าง ๆ ได้ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม มี Wi Fi หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จปี 2560

“รัฐบาลยืนยันว่ามีนโยบายชัดเจนในการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงของประชาชนในทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยยืนยันว่าจะไม่มีการทับซ้อนกันแน่นอน ได้มีการตรวจทานหลายรอบ ทั้งนี้ จะทำทั้งส่วนที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับงบประมาณ กับส่วนของ กสทช. ที่มีงบ USO รองรับ โดยจะแบ่งพื้นที่กันดำเนินการ” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการฯ กำหนดไว้ 4 ประการ คือ 1. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ก้าวทันเวทีโลก โดยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงสุด 25 อันดับแรก มีการพัฒนาด้าน Technological Infrastructure ให้ดีขึ้นเป็น 35 อันดับแรก และสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 18.2 2. สร้างโอกาสและความเท่าเทียมทางสังคม โดยตั้งเป้าว่าหมู่บ้านในประเทศไทยเข้าถึงการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 93 3. มีการพัฒนาทุนมนุษย์สู่ยุคดิจิทัล โดยประชาชนร้อยละ 50 มีความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ สัดส่วนการจ้างงานบุคลากรด้านดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 และ 4. มีการปฏิรูปภาครัฐ โดยตั้งเป้าว่ามีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐดีขึ้น 10 อันดับ และคะแนนการให้บริการออนไลน์ จากการจัดอันดับของ UN e-Government ranking ดีขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ซึ่งจากเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ และไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มรูปแบบ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงฯ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์และ/หรือรายวาระ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมกับรับทราบสถานการณ์ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาทั้ง 2 ฉบับ โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับสำนักงาน กสทช. เพื่อพิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายไม่ให้ซ้ำซ้อนกับโครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ USO ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการจัดทำข้อตกลง และกรอบการดำเนินงานโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อศึกษาวางแผน และกำหนดแนวทางการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ทั้งในส่วนของการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ

----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ