วันนี้ (16 พ.ย.59) เวลา 09.39 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 3/2559 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้จัดสรรเงินกองทุนของ สสว. เพื่อเสริมสร้างพัฒนาและให้ความช่วยเหลือ SME ประจำปีงบประมาณ 2560 เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,256 ล้านบาท โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. โครงการเงินทุนเพื่อช่วยเหลืออุดหนุน SME ตามมาตรการฟื้นฟูกิจการ SME (ตามมติ ครม. 27 ก.ค. 59) วงเงิน 2,000 ล้านบาท สาระสำคัญของโครงการ กลุ่มเป้าหมาย SME ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ควรเปิดกว้างให้ครอบคลุม SME ประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากระบบสถาบันการเงินตามปกติ แต่ยังมีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เช่น 1) เป็น NPL แต่มีผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาการทำธุรกิจแล้วเห็นว่า กิจการยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรืออยู่ในวิสัยที่จะฟื้นฟูกิจการได้ 2) เคยเป็น NPL แต่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 3) ยังไม่เป็น NPL แต่ได้มีการปรับสัญญาชำระหนี้ (Reschedule) 4) มีสถานะที่ยังไม่เป็น NPL แต่ชำระหนี้ไม่สม่ำเสมอ เพราะประสบภาวะสภาพคล่องตึงตัว 5) เป็นผู้ประกอบกิจการที่ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย(ฉบับที่9) ฯ และศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว
โดยที่ประชุมเห็นชอบในการหลักการให้อุดหนุนแบบมีเงื่อนไขชำระคืนอย่างผ่อนปรน หรือจะให้เป็นการร่วมลงทุนก็ได้ ให้ธนาคารกรุงไทยเป็นหน่วยร่วมดำเนินการ ซึ่ง SME สามารถยื่นคำขอได้ที่ Rescue Center และที่สาขาธนาคารของรัฐ ทุกแห่งทั่วประเทศ
2. โครงการส่งเสริมและพัฒนา SME ตามงบบูรณาการประจำปี 2560 วงเงิน 1,226 ล้านบาท มีโครงการสำคัญ ได้แก่
2.1 โครงการส่งเสริมการจัดจำหน่ายผ่าน E-Commerce วงเงิน 140 ล้านบาท สาระสำคัญของโครงการคือ นำสินค้า 1 แสนรายการจาก SME 65,000 กิจการจำหน่ายแบบออนไลน์ใน Market Place ซึ่งเป็นที่นิยม โดย สสว. สนับสนุนการถ่ายภาพ บรรยายลักษณะสินค้า และการกระตุ้นยอดขาย
2.2 โครงการบ่มเพาะ Startup ที่มีนวัตกรรม 10,000 ราย SME เกษตร 5,000 ราย SME ในภาคการผลิต การค้า และบริการ 5,000 ราย วงเงิน 149 ล้านบาท สาระสำคัญของโครงการคือ 1)ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ธกส. มหาวิทยาลัยในภูมิภาค และภาคีอื่น ๆ ในการเสริมสร้าง Smart Farmers และวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร โดยให้การสนับสนุนทางด้านนวัตกรรม กระบวนการผลิตสมัยใหม่และการตลาด 2) ร่วมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคและภาคีของ สสว. เช่น สภาอุตสาหกรรม บ่มเพาะ Startup ในภาคการผลิต การค้า และบริการ โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก และการนำ IT มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
2.3 โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong & Regular level) 10,000 ราย วงเงิน 144 ล้านบาท สาระสำคัญของโครงการคือ เสริมสร้าง SME ที่ดำเนินกิจการอยู่แล้วให้เติบโต โดยเน้นการผลิตและบริการที่ตลาดต้องการ สสว. สนับสนุนการเพิ่มนวัตกรรมและการขยายช่องทางการตลาด ครอบคลุมประเภทธุรกิจที่สำคัญของ SME ไทย เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร สุขภาพ ความงาม การท่องเที่ยว การก่อสร้าง เป็นต้น
2.4 โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME (Cluster) วงเงิน 60 ล้านบาท สาระสำคัญของโครงการคือ ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร สหกรณ์การเกษตรและหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น สถาบันอาหาร ส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพืชการเกษตร ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น มะพร้าว และสมุนไพร เพื่ออุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ การเพาะปลูกที่ทันสมัย การผลิต และการตลาด
2.5 โครงการประกวด SME National Awards & Startup Awards (SME พอเพียง) วงเงิน 11 ล้านบาท มีสาระสำคัญคือ ปรับแนวการประกวด SME National Awards ให้ครอบคลุมการนำหลักการพอเพียงมาใช้ในการดำเนินกิจการในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพื่อให้เกิดความสมดุลและขยายตัวอย่างยั่งยืน
2.6 งานพัฒนาศูนย์ข้อมูล SME Knowledge Center วงเงิน 5 ล้านบาท มีสาระสำคัญคือ เผยแพร่ความรู้ที่จำเป็นในการยกระดับผู้ประกอบการเป็น SME 4.0 และการผสมผสานเข้ากับหลักพอเพียงในทางปฏิบัติ
2.7 โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล วงเงิน 20 ล้านบาท มีสาระสำคัญคือ ยกระดับมาตรฐานสินค้าในเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพ การมีนวัตกรรมและรูปแบบ (Design) เป็นต้น เพื่อการขายใน Modern Trade และออนไลน์ กลุ่มเป้าหมายได้แก่ SME ขนาดย่อม OTOP และวิสาหกิจชุมชน
2.8 โครงการพัฒนาช่องทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ SME วงเงิน 53 ล้านบาท มีสาระสำคัญคือ สนับสนุนการขยายตลาดสำหรับ SME ขนาดเล็กที่มีศักยภาพ และขนาดย่อมโดยมุ่งไปยังกลุ่มประเทศ AEC จีน ตะวันออกกลาง และตลาดเกิดใหม่ที่มีกำลังซื้อ รวมทั้งตลาดตามนโยบายรัฐบาล
2.9 โครงการพัฒนาสู่สุดยอด SME จังหวัด (SME Provincial Champions) วงเงิน 46 ล้านบาท มีสาระสำคัญคือ เป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2559 แต่เพิ่มจำนวน SME ที่เข้ารับการพัฒนาจากจังหวัดละ 3 กิจการเป็น 6 กิจการ ครอบคลุม Startup Rising Star และ Turn Around เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและสนับสนุนการจำหน่าย
2.10 โครงการในพระราชดำริเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและศูนย์ศิลปาชีพ (3 โครงการ) วงเงิน 105 ล้านบาท มีสาระสำคัญคือ ดำเนินการร่วมกับกรมราชองครักษ์ ในเขต 3 จังหวัดภาคใต้ สมุทรปราการ อยุธยา และสระแก้ว
2.11 การปรับปรุงระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการส่งเสริม SME (Ecosystem) วงเงิน 493 ล้านบาท มีสาระสำคัญคือ การจัดตั้ง One Stop Service เพิ่มใน 46 จังหวัด และบริหารจัดการศูนย์เดิม 32 ศูนย์ รวมเป็น 78 ศูนย์ และสร้างเครือข่ายกับ SME ในแต่ละจังหวัดการจัดทำระบบฐานข้อมูล SME การสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศ เงินเดือนพนักงานและการบริหารงานของ สสว. ฯลฯ
3. ศึกษาเพื่อขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) วงเงิน 30 ล้านบาท มีสาระสำคัญคือ ก.พ.ร. เป็นผู้รับผิดชอบการรับ Technical Assistance จาก World Bank เพื่อ 1) ศึกษาการปรับปรุงกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจและล้มละลาย 2) ศึกษาการปรับปรุงตัวชี้วัด 9 ด้านในการประกอบธุรกิจ
นอกจากนี้ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี 2560-2561 ซึ่งเป็นการนำแผนแม่บท SME 4.0 (พ.ศ. 2560-2564) มาสู่การปฏิบัติจริง โดยผู้ปฏิบัติ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้าง SME และหน่วยงานภาครัฐจะนำแผนปฏิบัติการฯ ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำงบบูรณาการ SME สำหรับปี พ.ศ. 2561 ต่อไป
-----------------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ สสว.)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th