นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ของหมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste บ้านโป่งศรีนคร ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบในการบริหารจัดการขยะในชุมชน

ข่าวทั่วไป Monday November 28, 2016 11:13 —สำนักโฆษก

วันนี้ (28 พ.ย.59) เวลา 10.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสเดินทางมาตรวจราชการพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ขึ้นรถแทรกเตอร์ฟาร์มเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ของหมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste บ้านโป่งศรีนคร ประกอบด้วย 1) ฐานการเรียนรู้สร้างรายได้จากเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น การนำซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม เศษผ้า ถุงพลาสติก กระป๋องกาแฟ ขวดน้ำอัดลม มาประดิษฐ์รีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่ เช่น ชุดเฟอร์นิเจอร์รับแขกจากกระป๋องกาแฟ ชุดตกแต่งสวนจากขวดน้ำอัดลม ฯลฯ สามารถนำมาจำหน่ายให้กับผู้ศึกษาดูงานการจัดการขยะบ้านโป่งศรีนคร สร้างรายได้ให้กับชุมชนและประชนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 2) ฐานการเรียนรู้กลุ่มอาชีพจักสานไม้ไผ่ เป็นภูมิปัญญาการจักสาน (ตุ้มไม้ไผ่) ของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีฝีมืออยู่เดิมช่วยกันทำระหว่างอยู่บ้านและว่างงาน โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่บ้าน ทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้ ซึ่งเมื่อจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้แล้วจะสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และสืบทอดไปสู่ลูกหลานเพื่ออนุรักษ์งานช่างฝีมือ (ช่างจักสาน) เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการดำรงชีวิตต่อยอดภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่ลูกหลานต่อไป และ 3) ฐานการเรียนรู้การท่องเที่ยวบ้านโฮมสเตย์ ซึ่งกลุ่มโฮมสเตย์โป่งศรีนคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 โดยบ้านโป่งศรีนคร หมู่ที่ 11 ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย ได้รับการคัดเลือกจากหลายหน่วยงาน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จังหวัดเชียงราย จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธกส. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอป่าแดด จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้กองทุนแม่ของแผ่นดิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ สสส. 17 จังหวัดภาคเหนือ และได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว ปี 2557 เพื่อเป็นสถานที่พักสำหรับผู้เข้าอบรม ประชุม สัมมนาจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในชนบททำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นและทำให้หมู่บ้านมีเงินทุนเพื่อชวยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste บ้านโป่งศรีนคร โดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ทำพิธีสงฆ์เจิมป้าย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวอวยพรให้การดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste ประสบความสำเร็จ โดยขอให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ มาปรับใช้ในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพ พร้อมชื่นชมการจัดการขยะของหมู่บ้านโป่งศรีนครซึ่งได้มีการนำกระป๋องกาแฟมารีไซเคิลทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และชุดเฟอร์นิเจอร์ โดยแนะให้มีการทำสีสันผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม ส่วนเครื่องจักสานไม้ไผ่ให้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เช่น กระเป๋า ของชำร่วย สร้างเรื่องราวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้เกิดความน่าสนใจ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

พร้อมกันนี้ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ได้มอบกำไลข้อมือและข้าวก้นบาตรให้กับนายกรัฐมนตรี และให้พรนายกรัฐมนตรีมีกำลังใจสู้ต่อไปในการบริหารราชการแผ่นดิน

สำหรับศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านปลอดขยะ Zero Waste บ้านโป่งศรีนคร เกิดจากความร่วมมือกันของประชาชนในพื้นที่บ้านโป่งศรีนครกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางกำจัดปัญหาขยะอย่างสร้างสรรค์และถูกวิธี โดยได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ จนได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมประจำปี 2558 ซึ่งถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบระดับประเทศ ในการบริหารจัดการขยะในชุมชนที่สามารถขยายผลในการดำเนินการไปสู่การบริหารจัดการและกำจัดขยะของประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การบริหารจัดการและกำจัดขยะของหมู่บ้านโป่งศรีนคร ได้มีวิธีการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งการจัดการขยะอินทรีย์ โดยมีการคัดแยกเพื่อนำมาทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้สำหรับปลูกผักรับประทานเองในครัวเรือน การผลิตอาหารปลาและกบแบบชีวภาพ โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นมาหมักทำเป็นรูปแบบอาหารปลาและกบชีวภาพ ทำให้ปลาและกบได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ตลอดจนสามารถลดต้นทุนกว่าการซื้ออาหารปลาและกบสำเร็จรูป ซึ่งเป็นการพึ่งพาตนเองสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ส่วนการจัดการขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก กล่องนมนำมารวบรวมและขาย ส่วนที่เหลือนำไปใส่ถุงดำส่งให้เทศบาลตำบลโรงช้างนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป การจัดการขยะรีไซเคิล โดยในครัวเรือนมีการคัดแยกขยะรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ เช่น ใช้กระสอบปุ๋ย เข่งสานด้วยไม้ไผ่ และมีการจดบันทึกสถิติข้อมูลขยะประจำหมู่บ้าน การจัดตั้งกลุ่มอาชีพจักสานไม้ไผ่ โดยมีการนำเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น พลาสติกห่อขนม (ปีโป้) มาใส่ในไซดักปลาดักกุ้ง เป็นการลดรายจ่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเป็นการเรียนรู้การสืบทอดจากบรรพบุรุษ เป็นต้น

ขณะที่เทศบาลตำบลโรงช้างได้มีแนวทางการบริหารจัดการขยะ ดังนี้ ขยะอินทรีย์ ทิ้งในเสวียงเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักหรือเลี้ยงสัตว์ ขยะรีไซเคิล นำไปขาย หรือบริจาคให้เทศบาล เพื่อนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ขยะอันตราย ตั้งจุดรับขยะอันตรายภายในหมู่บ้าน เทศบาล รวบรวมเก็บและรอจัดส่งให้เอกชนกำจัด ขยะทั่วไป ที่แยกไม่ได้ส่งเทศบาลกำจัด ส่วนขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโรงช้างส่งให้ทางโรงพยาบาลป่าแดด กำจัดต่อไป

---------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ