วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2559) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ครั้งที่ 3/2559 โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วย นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งสรุปสาระสำคัญของการประชุมฯ ดังนี้
ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ซึ่งป็นไปตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 เห็นชอบให้ขยายเวลาการให้เงินอุดหนุนตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดโดยให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจนครบอายุ 3 ปี (36 เดือน) ที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือเสี่ยงต่อความยากจน และดำเนินการโครงการต่อเนื่องสำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่แต่ละปี เป็นเงินรายละ 600 บาทต่อเดือน รวมไปถึงเป้าหมายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปี 2559 กำหนดไว้จำนวน 128,000 คน โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ในทุกพื้นที่ลงทะเบียนรับสิทธิอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีกลุ่มเป้าหมายมาลงทะเบียนเป็นจำนวนมากเกินกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 มีผู้มายื่นลงทะเบียนจำนวน 182,705 คน คิดเป็นร้อยละ 142.73 ของเป้าหมาย
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้แนะนำให้เบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2560 ในลักษณะค่าใช้จ่ายค้างเบิกข้ามปีโดยไม่ต้องรับรองเงินประจำงวดคงเหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 อีกทั้ง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปี 2560 เป็นเงิน 1,130 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้แก่เด็กที่เกิดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 (รับเงินต่อเนื่อง) และเด็กที่จะเกิดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 รวมจำนวนทั้งสิ้น 200,000 คน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบประเด็น “การส่งเสริมผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะการคิดและทักษะชีวิต ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา” จำนวน 8 มิติ ได้แก่ ส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีทักษะและความสามารถที่เป็นที่ปรึกษาแก่เด็กและเยาวชนฯ การผลักดันหลักสูตรการพัฒนาทักษะการคิดและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้ปกครอง ผ่านการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย การส่งเสริมกระบวนการจำแนกศักยภาพความถนัดและความต้องการพิเศษของเด็กและเยาวชน การส่งเสริมให้มีนักวิชาชีพ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่นักเรียนในโรงเรียน การส่งเสริมและผลักดันให้ทุกชุมชนเกิดพื้นที่กลางและพื้นที่สร้างสรรค์เชิงโอกาสในชุมชน การกำหนดให้มีแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่น การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสื่อทุกประเภทสนับสนุนการผลิตสื่อที่มีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของเด็กและเยาวชนที่มีทักษะชีวิตและทักษะการคิด และการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของเครือข่ายแกนนำเด็กและเยาวชน
ตอนท้ายของการประชุม ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบประเด็น “การจัดการกับปัญหายาเสพติด ทั้งมิติการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกัน แก้ไข บำบัด ฟื้นฟูให้แก่เด็กและเยาวชน” จำนวน 7 มิติ ได้แก่การส่งเสริมและผลักดันให้เกิดสถาบันเพื่อพัฒนาพ่อแม่และผู้ปกครอง การส่งเสริมให้มีหน่วยการเรียนรู้หรือชุดความรู้เรื่องป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติดที่เหมาะสมกับเด็กเยาวชนและผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม การส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะท้องถิ่นและภาคประชาสังคม รวมทั้งเด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนจากยาเสพติด การจัดตั้งศูนย์ประสานงานและพัฒนาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น การส่งเสริมสนับสนุนให้มีสื่อสร้างสรรค์ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และ การส่งเสริมให้มีการดูแลคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อีกด้วย
**********************************************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th