วันนี้ (30 พ.ย.59) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายในการประชุมชี้แจงแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนผู้แทนสถาบันองค์กรชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวม 900 คน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดการประชุมและมอบนโยบาย สรุปสาระสำคัญว่า สถานการณ์โลกเกือบทุกภูมิภาคมีความอ่อนไหว ผันผวน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ อุตสาหกรรมต่าง ๆ มีรายได้ลดลง ระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศ ทุกประชาคม ต่างก็ได้รับผลกระทบเพราะเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจเดียวกันที่เชื่อมโยงในทุกภาคการผลิต อีกทั้งความขัดแย้ง การสู้รบในหลายพื้นที่ก็ทำให้เกิดผลกระทบขึ้นในโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยได้รับผลกระทบด้วย เราจึงต้องเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์จากภายนอกให้ได้โดยเร็ว และวันนี้สภาวการณ์ของประเทศไทยอยู่ในช่วงแห่งความโศกเศร้าอาลัย จึงอยากให้ทุกคนได้ใช้พลังแห่งความโศกเศร้ามาเป็นโอกาสให้ประเทศไทยเคลื่อนไหวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในโลก ซึ่งศตวรรษใหม่ข้างหน้า อนาคตของประชาคมโลก และอนาคตของประเทศไทยในประชาคมอาเซียน ต้องเดินสู่อนาคตร่วมกัน จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในประเทศและมิตรประเทศต้องช่วยเหลือปกป้องผลประโยชน์ซึ่งกันและกันในระหว่างประเทศคู่ค้าคู่เจรจา ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถ โดยขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนถึงงานที่ผ่านมาและต้องคิดถึงงานที่จะทำกันต่อไป เพราะทั้งหมดเชื่อมโยงกัน ซึ่งรัฐบาลจะใช้จ่ายงบประมาณในปี 2560 และจัดสรรงบประมาณปี 2561 ต่อไป โดยจะรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ในระยะแรกมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันเพื่อนำไปขับเคลื่อนในทุกมิติ โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในการปฏิรูประยะที่ 1 ในช่วงปีที่ 1 ของ 5 ปีแรก ซึ่งในปีแรกนี้จะมุ่งเน้นการใช้จ่ายงบประมาณ โดยในการดำเนินงานปฏิรูปนี้ก็ต้องการกำลังใจจากทั้งภายในและภายนอก ไม่ใช่ความขัดแย้ง ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภายในคือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชน เพราะทุกคนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากภายนอกคือประเทศที่มีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนาน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามวางตัวในจุดที่เหมาะสมให้เกิดความสมดุลกับทุกเวทีโลก
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ภาคเอกชนไทยมีความต้องการประกอบกิจการใหม่ หรือขยายกิจการเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งภาคเอกชนจากต่างประเทศก็มีความต้องการขยายกิจการในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลก็มีความต้องการทั้งสองอย่างในเวลานี้ เพราะรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับภาคเอกชนเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกคนได้มุ่งเน้นภารกิจสำคัญที่มีต่อประเทศชาติในช่วงเวลานี้ คือการทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นอย่างยั่งยืนและถาวร โดยรัฐบาลจะดูแลการประกอบการ การลงทุนของภาคธุรกิจ เท่าที่จะสามารถทำได้ แต่ต้องขอร้องภาคธุรกิจว่าในเวลานี้ไม่สมควรที่จะมุ่งไปที่ผลกำไรมากที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องถึงกับขาดทุน ต้องขอให้ภาคธุรกิจช่วยรัฐบาลด้วย ถ้าในอนาคตมีการลงทุนเพิ่มทุกอย่างจะดีขึ้น ผลประโยชน์ตอบแทนก็จะกลับมามากขึ้น รวมทั้งกติกาที่เคยล็อคเอาไว้หลายอย่างก็จะปลดปล่อยได้มากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการจากต่างประเทศขณะนี้อยากมีที่ตั้งธุรกิจในประเทศไทย เกิน 70% ที่อยากขยายกิจการ อยากเคลื่อนย้ายฐานการผลิตมาอยู่ประเทศไทย โดยขอให้เรามีความพร้อมในหลาย ๆ ด้านนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจึงพยายามหาหนทางสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับมิตรประเทศ ลดความหวาดระแวง สร้างผลประโยชน์ที่เป็นธรรมด้วยกันทั้งสองฝ่าย สร้างกลไกกติกา ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เพราะประเทศไทยอยู่แต่เพียงลำพังไม่ได้ในโลกนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ดังนั้นสิ่งที่จะต้องมุ่งเน้นในขณะนี้คือ 1. การค้นหาศักยภาพของตัวเอง จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภูมิภาค รวมทั้งต้องหาศักยภาพระหว่างกันให้เจอ ทั้งระหว่างรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ หาแนวทางร่วมมือกัน ต้องสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันให้ได้โดยเร็ว ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี 2. การลดอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด เกิดความเป็นสากลให้ได้มากที่สุด 3. การสร้างห่วงโซ่ อุปสงค์ อุปทาน ให้ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการสร้างเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตในการแปรรูป เพิ่มมูลค่าไปสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ CLMV ประชาคมอื่น ๆ ให้ได้โดยเร็ว 4. การพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มการวิจัยพัฒนาให้ได้โดยเร็ว นำสู่การผลิตทั้งด้วยฝีมือคนไทยและความร่วมมือจากต่างประเทศในด้านบุคลากร ทั้งการวิจัยและพัฒนา ร่วมมือกันด้วยกลไกประชารัฐ 5. การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล เพื่อให้เข้าถึงทรัพยากร ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการประกอบการ ให้มีผลกำไรมากขึ้น ที่จะต้องสนับสนุนทั้งภาคประชาชนและภาคเกษตรกรในเศรษฐกิจฐานราก 6. จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยให้เข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถทั้งในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี Start Up ซึ่งเป็นสารัตถะในการประชุมเวทีโลกทุกเวที จึงจำเป็นต้องทำให้คืบหน้าเพื่อตัวเราเองและเพื่อประชาคมโลก รวมทั้งจะต้องสร้างห่วงโซ่ใหม่เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเร็วโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องคิดร่วมกันผนึกกำลังกันไปให้ได้ ซึ่งการจะเกิดไทยแลนด์ 4.0 ได้ จะต้องมีการเจริญเติบโตภายใน และสร้างการเจริญเติบโตจากภายนอกให้เข้ามาในประเทศไทย ทำให้ทั้งสองด้านสมดุลกัน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความแตกต่างทางรายได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก คนรวยก็รวยมหาศาล คนจนก็จนมาก เรายังดึงประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องเสริมสร้างจากเศรษฐกิจภายในให้ได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการระเบิดจากข้างใน ไว้ให้กับคนไทยแล้ว โดยคนไทยทุกคนต้องเดินหน้าไปด้วยกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมกับต้องเพิ่มความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันทั้งในและต่างประเทศซึ่งประชาชนต้องเริ่มต้นสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้วย ขณะที่รัฐบาลก็จะดำเนินการด้านต่างประเทศในด้านเศรษฐกิจอย่างสมดุลทุกกลุ่ม เพื่อนำผลประโยชน์กลับเข้าประเทศ และแบ่งปันผลประโยชน์กับต่างประเทศอย่างเท่าเทียม อันเป็นหลักการในการเดินหน้าเชิงรุกกับต่างประเทศ โดยจะไม่ให้สิ่งที่เป็นความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ มาเป็นเครื่องจำกัดให้ประเทศไทยเดินหน้าไปไม่ได้ ดังนั้นทุกคนจึงจะต้องช่วยกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลกำลังจัดทำงบประมาณเพื่อลงสู่พื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2560 เพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 โดยต้องอาศัยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญของจังหวัด ซึ่งทั้ง 76 จังหวัดจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดความยั่งยืนภายในประเทศ เพื่อยกระดับอาชีพ รายได้ คุณภาพชีวิตประชาชนในทุกภูมิภาค รัฐบาลจะเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาในมิติเชิงพื้นที่เป็นหลัก เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ให้เกิดความสมบูรณ์แข็งแรงในภูมิภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และชุมชนในพื้นที่ นำศักยภาพของทุกภาคส่วนมาสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยน ปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยให้ได้อย่างยั่งยืน
พร้อมกับรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเติมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยการเน้นการทำงานแบบประชารัฐ ให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็ง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน เพราะปัญหาของไทยคือการติดกับดักความยากจนในประชาชนจำนวนมาก จึงต้องทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการติดกับดักรายได้ปานกลาง กับดักความยากจน กับดักการเมือง กับดักประชาธิปไตย และกับดักตัวเอง ต้องแกะทุกอย่างออกมา หาสิ่งที่ร่วมมือกันให้ได้ เพราะวันนี้รายได้ประชาชนระดับล่างส่วนใหญ่ยังต่ำกว่ามาตรฐานทุกจังหวัด ต้องหาทางทำให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกัน ให้พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันให้ได้ ซึ่งเป็นการบ้านที่ทุกกลุ่มจังหวัดจะต้องไปทำ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ต้องส่งเสริมให้ประชาชนฐานรากมีชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน ด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม โดยวันนี้รัฐบาลจะใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่รอการขับเคลื่อนจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว เพื่อเป้าหมายสร้างความเป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงทรัพยากรอย่างสมดุลคุ้มค่า ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้เพื่อให้ทุกคนมีรายได้เพียงพอในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งทุกภาคส่วนทั้งนักธุรกิจ ภาคราชการ ประชาชนทั้งหมดต้องสร้างความเข้มแข็งโดยเริ่มจากตัวเองก่อน สำหรับในเรื่องโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้พิจารณาให้กลุ่มจังหวัดและจังหวัดดำเนินการนั้น จะมีเม็ดเงินลงไปที่กลุ่มจังหวัดและจังหวัดมากขึ้นตามแผนพัฒนาที่มีอยู่ โดยขอให้ทำโครงการให้ดี และจะต้องหาหลักการและเหตุผลมาตอบให้ได้ว่า โครงการที่ขอมาจะทำให้เกิดประโยชน์อะไรกับประชาชนจำนวนเท่าใด ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร โดยจะต้องมีการประเมินผลมาด้วย เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลต่อประชาชนได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีทุกคนเป็นที่ปรึกษา กำกับดูแลการจัดทำโครงการและงบประมาณ ร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นกำลังใจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนทุกคน
“ วันนี้ประเทศไทยต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นประเทศไทย เข้มแข็งจากภายใน ถ้าเราเข้มแข็งจากภายในได้แล้ว เศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนอย่างไร เหมือนกับเรามีเรือที่แข็งแรงก็จะไม่จมน้ำ คลื่นลมแรงก็ไปได้ตลอด เมื่อเข้มแข็งจากภายในเราจะสามารถยืนได้ด้วยตัวเองอย่างสง่างาม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และจะไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอก” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นว่าการทำงานของทุกคนในวันนี้ ในการมองปัญหาจะต้อง 1. อย่าละเลยหรือละเว้นการทำงานในเชิงโครงสร้าง ต้องให้ความสำคัญกับเชิงโครงสร้างด้วยว่าสิ่งที่คิดนั้นจะทำได้อย่างไร ต้องมีโรดแมป มีวิธีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมเพื่อนำสู่การปฏิบัติด้วยวิสัยทัศน์ของทุกคนที่ต้องกว้างไกลและลึกซึ้งในการทำงาน 2. ทุกคนต้องมีการตัดสินใจที่รวดเร็วเฉียบขาดภายใต้ข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย 3. ต้องลดอัตตาของตัวเอง ไม่มีความเป็นตัวตนของตัวเอง โดยต้องปล่อยวาง ต้องมองเห็นประโยชน์ของประชาชนประเทศชาติเป็นหลัก ประชาชนคือศูนย์กลางของประเทศ ของทุกคน ในการทำงานวันนี้อย่าให้ประชาชนต้องเดือดร้อนลำบาก ต้องมองคนที่ลำบากมากก่อน และต้องดูแลประชาชนทุกสาขาอาชีพ 4. ต้องสร้างการรับรู้สร้างความเข้าใจกับประชาชน ประชาคม ชุมชน ถึงสิ่งที่เรากำลังจะทำเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าประเทศจะเดินไปอย่างไร ต้องสร้างความเข้าใจในเศรษฐกิจทั้งระบบ รวมทั้งต้องให้ประชาชนมีความเสียสละซึ่งกันและกัน
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงเรื่องความมั่นคงว่า ในด้านเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การสัญจรไปมา เพราะทุกวันนี้โลกไร้พรมแดน มีอาชญากรรมข้ามชาติ จึงต้องมีมาตรการคัดกรองเรื่องความมั่นคงด้วย เพราะความมั่นคงเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาทุกด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ในการทำให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นในการค้าการลงทุนกับไทย บ้านเมืองต้องสงบสุข ลดความขัดแย้ง สร้างความมีเสถียรภาพของรัฐบาลทุกรัฐบาล ต้องทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก เพื่อให้ทำงานได้ ไม่ใช่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ แล้วทำเรื่องใหญ่ให้ใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งเรากำลังติดตรงนี้อยู่ ดังนั้นต้องแยกแยะให้ออก โดยขอฝากให้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย ทั้งนี้ ในทุกกิจกรรมต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ สิ่งใดที่ทำแล้วมีผลกระทบกับด้านรายได้ อาชีพจะต้องพิจารณาวิธีการให้เหมาะสม และมีมาตรการรองรับ รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณทั้งหมดในวันนี้และในอนาคตจะต้องคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่ซ้ำซ้อน ต้องสร้างความเป็นปึกแผ่นให้ได้อย่างยั่งยืน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกอย่างไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่ลงทุน ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่า ๆ ทุกคนต้องร่วมมือกันหาทางออก พัฒนาตนเอง ทุกภาคส่วนต้องเรียนรู้ร่วมกัน เดินไปพร้อม ๆ กัน ปฏิรูปตัวเองอย่างยั่งยืน เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผลกระทบกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปมากนัก ขอให้ทุกคนร่วมกันทำเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองในวันนี้ ให้ดีกว่าเดิมและให้ยั่งยืนมากที่สุดในอนาคต
-------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th