คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหาราชการแผ่นดิน คณะที่5ฯ รับทราบความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายฯ-รวมถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Tuesday December 6, 2016 13:17 —สำนักโฆษก

วันนี้ (6ธ.ค.59) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและการแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 13/2559 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมด้วย ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมได้มีการหารือและรับทราบความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) และข้อเรียกร้องของกลุ่มประมง (โพงพาง) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กรมเจ้าท่า และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ โดยผลการหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการด้านประมง (PECH) ของสหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 1 -4 พฤศจิกายน 2559 ด้านการบริหารจัดการประมง และด้านการบริหารจัดการแรงงาน สรุปภาพรวม คือ คณะกรรมาธิการด้านประมง (PECH) พึงพอใจต่อผลการดำเนินการของไทยที่มีความคืบหน้าตามลำดับและเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาในภาคประมง โดยการดำเนินการระยะเวลา 1 ปี ศูนย์ติดตามและท่าเทียบเรือมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก และชื่นชมไทยที่มีแนวคิดร่วมแก้ไขปัญหากับประเทศอื่น ๆ ในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ รวมทั้งได้ริเริ่มจัดทำนโยบายการประมงร่วมกับอาเซียน (ASEAN Common Fisheries Policy) โดยคณะกรรมาธิการด้านประมง (PECH) ยินดีที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายและด้านแรงงาน

ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการด้านประมง (PECH) ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจและดูแลผลกระทบการปรับเปลี่ยนอาชีพ ความเป็นอยู่ของชาวประมงขนาดเล็ก และขอความร่วมมือไทยทำประมงโดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญเพราะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศจำนวนมาก โดยขณะนี้ได้มีการติดตามและดำเนินการขับเคลื่อนในหลายเรื่อง เช่น การติดตามกองเรือในน่านน้ำ โดยสามารถจับยึดเรือประมงที่ทำผิดกฎหมาย จำนวนประมาณ 50 ลำ การแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มาตรา 67 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณสิ้นปี 2559 การจัดทำแผนบริหารจัดการการทำประมงทะเลไทย (FMP) ฉบับใหม่ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง รวมทั้งมีการลดจำนวนท่าเรือและเรือประมงให้มีความเหมาะสม และดำเนินการจัดทำรายงานเสนอสหภาพยุโรป (DG MARE) รอบ 6 เดือน ( 1 พ.ค.59 – 31 ต.ค.59) โดยจะส่งรายงานเสนอสหภาพยุโรปในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 นี้

สำหรับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวประมง (โพงพาง) นั้น รัฐบาลได้รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขพระราชกำหนดการทำประมง พ.ศ. 2558 โดยออกประกาศกำหนดผ่อนผันให้เป็นรายบุคคลเฉพาะผู้ที่มีเครื่องมือประมงในลักษณะดังกล่าวก่อนที่พระราชกำหนดฉบับนี้ประกาศใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา รวมทั้ง ได้มีการจัดทำฐานข้อมูลรายบุคคล โดยกรมประมงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานสำรวจ คัดกรอง และลงทะเบียนผู้ได้รับผลกระทบแล้ว

นอกจากนี้ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปได้เสนอแนะให้มีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายควบคู่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก โดยเฉพาะการถูกเพ่งเล็งเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กกรณีที่แรงงานต่างด้าวต้องนำพาเด็กหรือบุตรหลานเข้ามาทำงานในลักษณะผู้ติดตาม รัฐบาลจึงมีแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการถอดสินค้าออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาเป็นรายสินค้า (อ้อย ปลา กุ้ง และเครื่องนุ่งห่ม) และสื่อลามก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจข้อมูลการทำงานของเด็กในประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2560 (เริ่มดำเนินการเดือนพฤษภาคม 2559) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และจะดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับในกิจการผลิตน้ำตาลจากอ้อยตลอดสายโซ่การผลิต การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ทั้งนี้ คาดว่ามีแนวโน้นที่ดีในการที่จะถอดถอนสินค้าไทยออกจากบัญชีรายชื่อดังกล่าว

ขณะเดียวกัน จะมีการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ (Sea book) ซึ่งวันที่ 19 ธันวาคม 2559 เป็นวันเริ่มต้นนัดหมายแรงงานต่างด้าวมาจัดเก็บทะเบียนประวัติและข้อมูลบุคคล พร้อมสัมภาษณ์แรงงาน (Pre - Screen) ร่วมกับผู้ประสานงานด้านภาษา ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – แจ้งออกเรือประมง (PIPO) กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทุกมิติตามหลักสิทธิมนุษยชน อย่างเท่าเทียม รวมทั้งได้รับสิทธิแรงงานและสิทธิทางสังคมด้วย พร้อมทั้งสั่งการกระทรวงแรงงานยกร่างกฎหมายออกเป็นพระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. .... เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนพฤษภาคม 2560 และให้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลนี้ โดยคำนึงถึงประเด็นสำคัญมีเนื้อหาครอบคลุมการจัดระเบียบ การขออนุญาตทำงาน การคุ้มครอง/เยียวยา ดูแลความปลอดภัย สวัสดิการ การประกันสังคม มีบทกำหนดให้เก็บเงิน LEVY จากนายจ้างเข้ากองทุน เพื่อนำมาใช้สนับสนุนทั้งในเรื่องการจัดระเบียบและการดูแลสิทธิแรงงานต่างด้าว อาทิ นำมาใช้ในการจัดโซนนิ่งที่อยู่อาศัย สนับสนุนการศึกษา สาธารณสุข ช่วยเหลือ เยียวยากรณีถูกละเมิดสิทธิแรงงาน รวมทั้งสามารถสนับสนุนภาค NGOs ให้สามารถแบ่งเบาภาระภาครัฐในการช่วยเหลือเยียวยาได้ หากพบการกระทำผิดในกรณีการจ้างแรงงานต่างด้าว จะมีบทลงโทษและค่าปรับที่รุนแรง รวมทั้งมีบทบัญญัติให้สามารถจัดสรรเงินค่าปรับส่วนหนึ่งที่เรียกเก็บจากนายจ้างมาสมทบเข้ากองทุนด้วย ตลอดจนกำหนดมาตรการทางปกครองกรณีแรงงานถูกละเมิดให้มีมาตรการสั่งหยุดกิจการชั่วคราว สั่งเพิกถอนใบอนุญาต และจำกัดสิทธิการเข้าถึง BOI เป็นต้น

อีกทั้งที่ประชุมรับทราบรายงานผลการเข้าชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนต่อสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (Federal Aviation Administration : FAA) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2559 โดย FAA ได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1) ให้ปรับระดับมาตรฐานการบินจาก Category (CAT) II เป็น CAT I โดยเมื่อฝ่ายไทยได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย ( Significant Safety Concerns : SSC ) ของ ICAO รวมทั้งมีความก้าวหน้าในการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่และแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ของ FAA แล้วจะต้องแจ้งความประสงค์ขอรับการตรวจสอบต่อ FAA หลักจากนั้นภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับคำขอ เจ้าหน้าที่ FAA จะเดินทางมาประเทศไทยและจะใช้เวลาตรวจสอบ 5 วันทำการและสรุปผลด้วยวาจาในวันสุดท้ายของการตรวจสอบ หากผู้ตรวจสอบแจ้งข้อบกพร่องที่พบในระหว่างการตรวจสอบ ประเทศไทยจะต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 65 วันก่อนที่ FAA จะประกาศปรับระดับเป็น CAT I อย่างเป็นทางการ

2) สายการบินของไทยจะสามารถกลับเข้าทำการบินเข้าออกประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ประกอบด้วย 2 เงื่อนไข คือ (1) สายการบินต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางอากาศ ซึ่งต้องยื่นขอจากกระทรวงคมนาคมของประเทศสหรัฐอเมริกา และ (2) ประเทศไทยมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยอยู่ใน CAT I โดยขณะนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (บกท.) ได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางอากาศที่จะหมดอายุลงในปีนี้แล้ว ซึ่งกระทรวงคมนาคมของประเทศสหรัฐอเมริกามีกระบวนการพิจารณาประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (บกท.) จะต้องผ่านการประเมินทางด้านเทคนิคและด้านความปลอดภัยจาก FAA ด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงคมนาคม กำลังดำเนินการร่วมกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (บกท.) เพื่อการบินไทยสามารถบินเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาได้ภายในเดือนธันวาคมปี 2560

พร้อมทั้งที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งรัฐบาลต้องการพัฒนาเพื่อสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ให้กับกรุงเทพมหานคร สำหรับเป็นพื้นที่สาธารณะและประโยชน์ใช้สอยให้แก่ประชาชนในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและประชาชนทั่วไปทุกกลุ่ม มีความยาวกว่า 14 กิโลเมตร ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว 2 เรื่อง คือ 1) การสร้างและการออกแบบต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งความก้าวหน้าปัจจุบันได้ทำงานวิจัยแล้วเสร็จในการออกแบบโดยคำนึงถึงการคมนาคมทางน้ำในการเดินเรือ รวมทั้งคำนึงถึงทรัพยากรทางน้ำ ระบบนิเวศในแม่น้ำเจ้าพระยา การป้องกันน้ำท่วมและพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ประชาชนสามารถใช้สอยเป็นพื้นที่สาธารณะในอนาคตได้ 2) การเยียวยาดูแลประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณที่รุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมในปัจจุบัน รัฐบาลได้มีแผนเคลื่อนย้ายชุมชนต่าง ๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยยกระดับพัฒนาชีวิตและคุณภาพสังคมของชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาในโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาประชารัฐ ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้ที่ได้รับผลกระทบมี 5 กรณี ได้แก่ 1) ย้ายไปอาศัยอยู่อาคารชุดหรือแฟลต ขส.ทบ. 2) ย้ายไปอยู่โครงการบ้านของการเคหะแห่งชาติ เช่น บ้านเอื้ออาทร 3) ขอเช่าที่ดินรัฐหรือซื้อที่ดินเอกชน/สร้างชุมชนใหม่ (ชุมชนเลือกที่ดินใหม่) 4) ขอรับเงินช่วยเหลือและย้ายกลับภูมิลำเนา และ5) การปรับปรุงในที่ดินเดิม (หากมีหลักฐานการอยู่อาศัยและการเช่าที่ดินที่ชัดเจน)

--------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ