นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จ.สงขลา ระบุรัฐบาลพร้อมดูแล และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย-การบริหารจัดการน้ำให้ จ.สงขลา

ข่าวทั่วไป Thursday December 15, 2016 13:13 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย จ.สงขลา พร้อมพบปะเยี่ยมเยียนประชาชน ระบุรัฐบาลพร้อมดูแลผู้ประสบอุทกภัย-จัดสรรงบประมาณสนับสนุนดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำ จ.สงขลา ย้ำให้ดำเนินการตามความเร่งด่วน พร้อมฝากให้ประชาชนเรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ เตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น

วันนี้ (15 ธ.ค.59) เวลา 07.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ประกอบด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกเดินทางโดยเครื่องบิน Embraer บ.ท.135 ของกองทัพบก จากฝูงเครื่องบิน กองการบิน ศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก กรุงเทพมหานคร ไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 56 (หาดใหญ่) อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ก่อนเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปลง ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนดกระแสสินธุ์ ตำบลขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อเดินทางต่อไปยังวัดวารีปาโมกข์ ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสงขลาและการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พร้อมพบปะเยี่ยมเยียนรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการมอบถุงยังชีพให้แก่ตัวแทนประชาชน ตลอดจนเสบียงอาหาร และถุงยังชีพสำหรับสัตว์ ให้แก่ตัวแทนเกษตรกรด้วย โดยมี นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการจังหวัดสงขลา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมากให้การต้อนรับ

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวต้อนรับและรายงานสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดสงขลาให้นายกรัฐมนตรีรับทราบว่า เป็นผลอันเนื่องมาจากฝนตกหนักในระหว่างวันที่ 1 – 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวม 10 อำเภอ 63 ตำบล 356 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 25,421 ครัวเรือน 84,428 คน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย และมีบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ รวมทั้งสิ่งสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เสียหายจำนวนมาก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จังหวัดได้ระดมสรรพกำลังและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย และเร่งระบายน้ำ ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ส่วนใหญ่กลับสู่ภาวะปกติ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายอย่างละเอียด เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยในทุกด้านตามนโยบายรัฐบาลและระเบียบราชการ รวมทั้งการซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ และส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้นหลังน้ำลดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรเป็นการเร่งด่วน

สำหรับพื้นที่อำเภอระโนดเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ประกอบด้วย อำเภอระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคร ซึ่งเป็น 4 อำเภอที่ประสบอุทกภัยในวงกว้าง และมีน้ำท่วมขังยาวนานที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ลุ่มต่ำริมทะเลสาบสงขลา เมื่อน้ำทะเลสาบเอ่อสูงขึ้นเพราะฝนตกหนักในพื้นที่ อีกทั้งเป็นที่รับน้ำจากจังหวัดพัทลุง และนครศรีธรรมราช ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระและค้างอยู่เป็นเวลานาน นอกจากประสบปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้งแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังประสบกับภัยแล้งและปัญหาน้ำเค็มในช่วงน้ำทะเลหนุน ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวซึ่งเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น รัฐบาลโดยกรมชลประทานจึงได้ร่วมกับจังหวัดจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระทั้งระบบ โดยเน้นการก่อสร้างคันกั้นน้ำจากทะเลสาบสงขลาไหลเข้าสู่พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระในฤดูน้ำหลาก และกันน้ำเค็มเข้าพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคาบสมุทรสทิงพระออกสู่ทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย การผันน้ำจากทะเลสาบสงขลาผ่านคลองหนังและคลองสทิงพระสู่อ่าวไทย ก่อสร้างท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้าสู่พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระตอนล่างที่อำเภอสิงหนคร รวมทั้งปรับปรุงคลองพลเอกอาทิตย์และก่อสร้างระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยขณะนี้โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 25% และใช้งบประมาณทั้งหมดในการดำเนินโครงการดังกล่าวประมาณ 2,400 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ของอุทกภัยที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่า ยังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านท่าเข็น ตำบลคลองแดน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากและกักเก็บน้ำช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้น โดยเบื้องต้นจังหวัดได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 150 ล้านบาท จากโครงการตามแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลนี้ได้ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ควรจัดทำโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำจืดในทะเลสาบสงขลาตอนบน โดยทำสะพานพร้อมประตูน้ำปิด - เปิด อัตโนมัติจากเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา เชื่อมกับแหลมจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ระยะทางประมาณ 5.8 กิโลเมตร โดยทบทวนและพัฒนาจากโครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลาและพัทลุง ซึ่งกรมชลประทานได้มีการศึกษาไว้แล้ว ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ต่อไป

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และทีมงานประชารัฐสงขลาได้ให้คำมั่นสัญญาจะดูแลช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยและฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อย่างเต็มกำลังความสามารถตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ส่วนสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสงขลาปัจจุบันเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังบริเวณที่ราบลุ่มริมทะเลสาบในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอระโนด จำนวน 12 ตำบล (ต.คลองแดน ต.แดนสงวน ต.ตะเครียะ ต.บ้านขาว ต.บ้านใหม่ ต.ระโนด ต.ปากแตระ ต.ท่าบอน ต.พังยาง ต.บ่อตรุ ต.วัดสน และ ต.ระวะ) อำเภอกระแสสินธุ์ จำนวน 3 ตำบล (ต.กระแสสินธุ์ ต.โรงและ ต.เชิงแส) อำเภอสิงหนคร 4 ตำบล (ต.ปากรอ ต.ป่าขาด ต.ชะแล้ และ ต.บางเขียด) และอำเภอสทิงพระ จำนวน 2 ตำบล (ต.คลองรี และ ต.คูขุด) ขณะที่แนวโน้มสถานการณ์ มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมตอนเหนือของเกาะสุมาตรา กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างช้า ๆ ลักษณะดังกล่าว ทำให้พื้นที่จังหวัดสงขลามีฝนลดลง แต่ระดับน้ำยังคงทรงตัวเนื่องจากยังมีน้ำหนุนที่ไหลมาจากจังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งทำให้น้ำล้นตลิ่งบริเวณที่ราบลุ่ม ทั้งนี้ คาดว่าน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติประมาณ 2- 3 วัน หากไม่มีฝนตกในพื้นที่เพิ่มเติม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวพบปะกับประชาชนชาวจังหวัดสงขลาว่า ได้รับทราบและเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่จากปัญหาอุทกภัย ยืนยันไม่ลืมความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งประเทศ 70 กว่าล้านคน จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมติดตามสถานการณ์จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ประชาชนคนไทยทุกคน ทุกกลุ่มไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดจะต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อถึงกันเพราะล้วนอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน รวมไปถึงขยายไปสู่คนทั้งโลก ขณะเดียวกันประชาชนต้องมีการเรียนรู้ เตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในด้านต่าง ๆ ทั้งปัญหาการก่อการร้าย ความขัดแย้ง โรคระบาด สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงซึ่งมีผลกระทบทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดปัญหาน้ำแล้ง และอุทกภัยเมื่อมีฝนตกลงมาเป็นจำนวนมาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นทุกคนต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ปรับตัวอยู่กับธรรมชาติที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยมีการปรับเปลี่ยนอาชีพให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ รวมทั้งขอให้ประชาชนสนใจการออกกำลังกายเพื่อจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถลดการใช้ยาแผนปัจจุบันและหันมาใช้ยาแผนไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาของไทย โดยรัฐบาลจะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวในการดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น

ขณะที่การพัฒนาประเทศต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและมีความสมดุลกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ซึ่งจะสามารถลดความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำในสังคม เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมทุกภาคส่วนในสังคม ทำให้ประเทศขับเคลื่อนได้ตามแนวทางและเป้าหมายที่กำหนด อีกทั้งสังคมไทยต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยศึกษาข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันและการอ่านหนังสือเพื่อให้ตนเองมีความรู้และมีการพัฒนาตลอดเวลา ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง รองรับการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงให้มีการแปรรูปพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น ยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำถึงการพัฒนาประเทศ ว่าจะต้องมีการเตรียมมาตรการในเรื่องการจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศ โดยพิจารณาบริบทเรื่องของการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบของประเทศ รวมถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ ECC ประกอบการดำเนินการดังกล่าวด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ในฐานะรัฐบาลพร้อมจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยรวมถึงการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดสงขลา ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอ โดยย้ำให้ดำเนินการตามความเร่งด่วน โดยเฉพาะการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ การขุดลอกคูคลอง การทำพนังกั้นน้ำ การกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เป็นต้น โดยขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่สนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรในพื้นที่ประสบเหตุอุทกภัย จึงได้พระราชทานถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ยังความความปลื้มปีติแก่ปวงพสกนิกรเป็นล้นพ้น ขณะที่ในส่วนของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องดูแลแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนทุกมิติ ทั้งเรื่องการเก็บกักน้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การประกอบอาชีพ โดยเฉพาะส่งเสริมการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การปลูกพืชแปลงใหญ่ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาและหลักทรงงาน และแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่และประเทศโดยรวม

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ลงเรือเพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัยริมคลองตะเครียะและทะเลสาบสงขลา พร้อมสอบถามรับฟังความเดือดร้อนของประชาชนบริเวณดังกล่าวด้วยความห่วงใย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ก่อนเดินทางกลับ

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ