วันนี้ (18 ธันวาคม 2559) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เตรียมตัวเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมในช่วงบ่ายวันนี้ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กทม. ว่า รัฐบาลขอเตือนว่า การรวมตัวดังกล่าวอาจเข้าข่ายการสร้างความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง จึงขอให้ผู้ที่จะไปร่วมกิจกรรมไตร่ตรองให้รอบคอบ หรือยุติการเคลื่อนไหว
“ทางการมีมาตรการรองรับเป็นอย่างดีหากมีการเคลื่อนไหว ตั้งแต่การบันทึกภาพเป็นหลักฐานและดำเนินการตามหลักสากล โดยประชาชนทั่วไปที่หวังดีต่อบ้านเมืองก็สามารถถ่ายรูปส่งให้กับเจ้าหน้าที่ได้ ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เริ่มทำเกินขอบเขตที่เหมาะสม เพื่อหวังปลุกกระแสให้เกิดความวุ่นวายด้วยการละเมิดกฎหมาย และตั้งตัวเป็นนักเลงแฮ็กและล้วงข้อมูลเสียเองแล้ว” พลโท สรรเสริญ กล่าวยืนยันว่า มีบุคคลบางกลุ่มพยายามที่จะแฮ็กข้อมูลของส่วนราชการจริง แม้จะทำไม่สำเร็จ นี่จึงเป็นตัวอย่างของภัยคุกคามที่จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายคอมพิวเตอร์ ส่วนเว็บไซต์ของหน่วยงานที่สำคัญอย่าง สตม.นั้นไม่ได้ถูกแฮ็กตามที่มีกระแสข่าว เนื่องจากเป็นระบบปิดที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กรมศุลกากร หน่วยงานความมั่นคง ท่าอากาศยาน และสายการบินต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มผู้ไม่หวังดีและประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นการกล่าวอ้างของกลุ่มแฮ็กเกอร์ว่าสามารถแฮ็กระบบของ สตม.ได้ จึงเป็นเพียงการสร้างข่าวความสับสนให้กับสังคม และลดทอนความน่าเชื่อถือของหน่วยงานราชการเท่านั้น
รัฐบาลขอเรียนชี้แจงอีกครั้งว่า ไม่มีนโยบายซิงเกิ้ลเกตเวย์ เพราะเกตเวย์ของไทยมีการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างมากมายมหาศาล การจะบังคับให้ทุกส่วน รวมถึงภาคเอกชนใช้รวมกันที่เดียวคงไม่สามารถทำได้ และยังขัดกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลทุกรูปแบบเพื่อก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนี้ การให้บริการทางเทคนิคจำเป็นต้องมีเกตเวย์สำรองไว้หลาย ๆ เส้น ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่อินเทอร์เน็ตจะล่มทั้งประเทศ กรณีการถูกจำกัดการเข้าถึงเว็บบางเว็บ โดยหลักสากลทุกประเทศจะมีข้อแนะนำกับประชาชนว่า เว็บใดเป็นเว็บที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน ส่วนการเข้าถึงเว็บต่างประเทศได้หรือไม่ได้นั้น ขึ้นอยู่กับท่ออินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการแต่ละราย ซึ่งทุกบริษัทจะดูแลลูกค้าของตนเป็นอย่างดี ไม่มีการจำกัดการเข้าถึงเว็บอย่างแน่นอน สำหรับการตรวจสอบข้อมูลหรือปิดเว็บไซต์นั้น หากเป็นเรื่องที่กระทำผิดกฎหมาย ขัดต่อหลักศีลธรรม ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจขอดูการจราจรของข้อมูล (Traffic) เฉพาะเรื่องไป ไม่ใช่การรวมศูนย์มาอยู่ที่เดียว และการตัดสินใจของรัฐบาลไม่ได้เกิดโดยลำพัง แต่จะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง 9 คน และการพิจารณาของศาลก่อนทุกกรณี ดังนั้น การที่จะเข้าไปควบคุมหรือดักจับข้อมูลของประชาชนจึงไม่ใช่แนวทางของรัฐบาลอย่างแน่นอน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th