วันนี้ (9ม.ค.60) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย ปี 2559-60 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – 20 ธันวาคม 2559 ประเทศอินเดียส่งออกข้าวได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก (ประมาณ 10.24 ล้านตัน) รองลงมาเป็นไทย (9.63 ล้านตัน) เวียดนาม (4.87 ล้านตัน) และปากีสถาน (3.54 ล้านตัน) ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ที่ประชุมจึงได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางที่จะดำเนินการบริหารจัดการข้าวอย่างครบวงจรและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับทราบและอนุมัติแต่งตั้งคณะทำงานวางแผนการผลิตข้าวครบวงจร โดยกำชับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันดูแลประชาชนชาวเกษตรกร โดยได้มีการออกมาตรการต่าง ๆ (14 มาตรการ)เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการส่งเสริมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบนาแปลงใหญ่ โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือก โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อปศุสัตว์ โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลายหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โครงการพักชำระต้นเงินและลดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการอบรมความรู้เชิงปฏิบัติเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 เป็นต้น
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ฝากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษารายละเอียดถึงความเป็นไปได้ในการจัดหาที่ดินให้กับประชาชนได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง โดยเฉพาะการจัดหาที่ดินที่ไม่ใช่พื้นที่ป่า เช่น พื้นที่ที่รัฐบาลจัดให้ตามคณะกรรมการจัดการที่ดินพิจารณาดำเนินการให้กับทุกจังหวัด โดยไม่ใช่เป็นพื้นที่ สปก. ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มอบที่ดินทำกินในลักษณะดังกล่าวให้กับประชาชนในหลายจังหวัดแล้ว และจะเร่งดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดต่อไป อย่างไรก็ตามการจัดหาที่ดินทำกินให้กับประชาชนดังกล่าวยังไม่เพียงพอกับจำนวนประชาชนที่ยังไม่มี่ที่ดินทำกิน รัฐบาลจึงจะมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขอความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากแต่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในขณะนี้ โดยจะเป็นการทำสัญญาขึ้นระหว่างภาคเอกชนหรือประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินกับเกษตรกรที่ยังไม่มีที่ทำกิน ได้สามารถเข้ามาทำการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ได้ โดยตัวเกษตรกรเป็นผู้ผลิตและลงแรงขณะที่ภาคเอกชนเจ้าของที่ดินเป็นผู้ลงทุนในลักษณะประชารัฐ รวมถึงการให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และดูแลเรื่องการตลาด โดยมีการตกลงแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย ทั้งนี้ แนวคิดในการดำเนินการดังกล่าว เนื่องรัฐบาลจะดูแลเองทั้งหมดคงไม่ได้ จึงต้องมีการประสานขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วมกันดำเนินการ ขณะที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้มีการดำเนินการในเรื่องของเกษตรแปลงใหญ่ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้สอดคล้องเหมาะสมกับพื้นที่ และมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกของเกษตรกร ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องมีการให้ข้อมูลและความรู้กับประชาชนได้เกิดความเข้าใจและพร้อมสนับสนุนให้ความร่วมมือในการดำเนินงานต่าง ๆ ของภาครัฐเป็นไปตามแนวทางและเป้าหมายที่กำหนดไว้
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า นอกจากรัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลเกษตรกรทุกภาคส่วนแล้ว รัฐบาลต้องดูแลช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้เนื่องจากมีฝนตกหนักในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีน้ำที่ไหลหลากจากภูเขาลงมาสู่พื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของประชาชน ตลอดจนเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งอีกหนึ่งสาเหตุมาจากการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายทำให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำจึงทำให้มีน้ำเอ่อล้นจากลำคลองขึ้นมาจนเกิดน้ำท่วมเพราะไม่สามารถระบายน้ำไหลลงสู่ทะเลได้โดยเร็ว ซึ่งภายหลังจากสถานการณ์น้ำคลี่คลายและน้ำลดลงแล้วจะเร่งดำเนินการในเรื่องการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยและปัญหาน้ำแล้งอย่างยั่งยืน จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนรวมทั้งประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐในการที่จะดำเนินการดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมและประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวให้กำลังใจให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่ประสบอุทกภัยทุกคน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีการติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้รัฐบาลได้มีการประกาศยกระดับการจัดการปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ ระดับ 3 โดยได้จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ส่วนหน้า ขึ้น ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บัญชาการ ทำหน้าที่บูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องมีการเตรียมการรองรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ได้ ส่วนการดูแลเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย เบื้องต้นให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการที่กำหนดไว้ก่อนที่จะมีการพิจารณามาตรการดูแลเพิ่มเติมตามสถานการณ์และความเหมาะสมต่อไป
ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานวางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ตามที่ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เสนอ โดย มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ฯลฯ มีอำนาจหน้าที่ (1) วางแผนการผลิตข้าวปีการผลิต 2559/60 ทั้งนาปี นาปรังให้ครบวงจรสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ (2) เชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานอื่น ๆ หรือบุคคลมาใช้ข้อมูล/ข้อเท็จจริง และขอให้ส่งข้อมูล หรือเอกสารใด ๆ ต่อคณะทำงาน (3) แต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการตามที่คณะทำงานเห็นสมควร (4) ดำเนินการให้แล้วเสร็จและรายงานผลการดำเนินงานให้คณะอนุกรรมการให้คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าวทราบ ภายใน 1 เดือน (5) ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและตลาดสินค้าข้าวมอบหมาย (6) พิจารณาทบทวนยุทธ์ศาสตร์ข้าวไทย ปี 2558 – 2562
รวมทั้ง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำข้าวสารไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ จำนวนประมาณ 1,500 ตัน โดยเป็นการนำข้าวสารดังกล่าวไปแลกข้าวใหม่เพื่อทำข้าวบรรจุถุงประมาณ 2 กิโลกรัม ในการนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติภายหลังสถานการณ์น้ำคลี่คลายหรือลดลง โดยคำนึงถึงความสะดวกของประชาชนในการประกอบหุงหาอาหารด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนขณะนี้รัฐบาลได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินการนำข้าวสุกบรรจุกล่องพร้อมรับประทานได้ทันทีและอาหารกระป๋องไปมอบให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในเบื้องต้นก่อน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาหารือแนวทางการระบายข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐบาล จำนวนประมาณ 8 ล้านตัน โดยได้แบ่งข้าวออกเป็น 3 กลุ่มตามคุณภาพข้าว คือ 1) ข้าวที่มีคุณภาพดี 2) ข้าวที่มีคุณภาพลดหลั่นลงมาหรือคุณภาพปานกลาง 3) ข้าวที่มีอายุเกินกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นการเก็บไว้ในสต็อกมานานหลายรัฐบาลและมีข้าวที่เสื่อมคุณภาพ รวมทั้งมีข้าวเกรทอื่น ๆ ปนมากกว่า 80% ซึ่งไม่สามารถนำมาบริโภคได้ทั้งคนและสัตว์ได้ โดยข้าวกลุ่มนี้จะต้องหาวิธีการและแนวทางในการที่จะเร่งระบายออกไปให้ได้โดยเฉพาะไปสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารสัตว์ เนื่องจากเป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเก็บรักษา ทั้งนี้ ยืนยันการดำเนินการบริหารจัดการดังกล่าวจะไม่ให้มีการนำไปบริโภคทั้งในคนและสัตว์ โดยจะต้องมีวิธีการกำกับควบคุมการส่งมอบอย่างชัดเจนเพื่อให้ส่งมอบถึงปลายทางเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ระบายจริง พร้อมทั้งที่ประชุมได้เน้นย้ำให้ดำเนินการบริหารจัดการระบายข้าวคงเหลือในสต็อกดังกล่าวให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อตลาดในขณะนั้น
--------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th