วันนี้ (12 ม.ค.60) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเตรียมการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยได้มอบหมายความรับผิดชอบให้กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงแม่น้ำ 5 สาย ในเรื่องการขับเคลื่อนต่าง ๆ ทั้งหมดที่มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย เพื่อเป็นการจัดทำโครงสร้าง ซึ่งถือเป็นอนาคตของประเทศไทยที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นภายใน 15 ปี จึงต้องปฏิรูปในหลายเรื่อง วันนี้จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในแม่น้ำ 5 สายทั้งหมดมาร่วมประชุมด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในปี 2560 รัฐบาลจะซ่อมของเก่า เสริมให้แข็งแรงขึ้นและสร้างโครงการใหม่ ๆ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2560 ซึ่งหลายอย่างต้องคิดใหม่และหลายอย่างต้องมีกฎหมายสำคัญ รวมถึงประชาชนต้องให้ความร่วมมือและเข้าใจว่าตัวเองจะได้ประโยชน์จากตรงไหน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความขัดแย้ง แล้วจะทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม โดยวันนี้ได้สั่งการหลายเรื่อง ให้ไปสู่แนวคิดของคณะทำงาน ทั้งเรื่องการทำเกษตรแปลงใหญ่ซึ่งจะใช้ที่ดินของประชาชน เกษตรแปลงใหญ่ที่ใช้ที่ดินของเอกชน และเกษตรแปลงใหญ่ที่ใช้ที่ดินของประชาชนพร้อมนำเอาสมาร์ทฟาร์เมอร์หรือปราชญ์ชาวบ้านเข้าไปดูแล เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ หากเกษตรกรแย่งกันทำบางครั้งก็จะล้มเหลว จึงต้องเกิดโครงการเหล่านี้ในบางพื้นที่หรือในทุกพื้นที่ หากรอให้มีการรวมกลุ่ม เมื่อน้ำดี ราคาดี ก็จะกลับไปปลูกพืชอื่นอีก รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะกิจตลอดเวลา หรือหาเงินให้อุดหนุนเยียวยา เพราะจะพัฒนาประเทศไปไม่ได้
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องสร้างการรับรู้ให้คนไทยและให้ต่างประเทศรับรู้ ว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อให้เกิดความร่วมมือและได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ทำในวันนี้ที่จะเป็นอนาคต ซึ่งจะรวมถึงเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเศรษฐกิจชายแดนด้วย อันเกี่ยวพันกับประชาชนทั้งหมด รัฐบาลจะดูแลประชาชนในพื้นที่ ไม่ให้ประชาชนจะเดือดร้อน ขออย่ากังวล แต่ทุกอย่างต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพราะไม่สามารถใช้กฎหมายเดิมและกติกาเดิมในการเดินหน้าประเทศต่อไปได้ในขณะที่โลกกำลังแข่งขันกันอยู่ เราเดินอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับกันบ้าง แต่จะไม่ให้ใครเดือดร้อนมากที่สุด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่าง ถนนหนทางที่เคยจะต้องทำขยาย ทำเส้นใหม่แล้วทำไม่ได้ เพราะผ่านเขตอนุรักษ์ ก็ได้บอกให้ไปคิดใหม่ ทำเส้นทางใหม่ที่ไม่มีผลกระทบ และให้ทำให้ได้ เพราะสุดท้ายก็ไปถึงเหมือนกัน โดยต้องเปลี่ยนแปลงหลักการคิด ถ้าคิดแบบราชการเดิมคือสั้นที่สุดประหยัดที่สุดก็ได้แบบเดิม ที่จะต้องผ่านป่า สะพานกับท่อลอดก็น้อยทำให้ขวางทางน้ำ ซึ่งถือเป็นปัญหาเชิงซ้อนของประเทศไทย
จากนั้น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงสร้างการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ หรือ ปยป. จะออกเป็นระเบียบหรือคำสั่งตามมาตรา 44 แต่การประชุมครั้งนี้ได้วางกรอบการทำงานให้ความสำคัญตามที่นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าว่าปี 2560 จะเป็นปีของการปฏิรูปการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติใน 20 ปีและการสร้างความปรองดองต้องนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยหลักการสำคัญที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเกี่ยวกับวาระการปฏิรูป คือคณะกรรมการชุดนี้จะต้องคัดกรองวาระการปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ส่วนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอมา จะแยกเป็นหมวดหมู่ ทั้งการซ่อม เสริม และสร้าง จัดลำดับก่อนหลัง ทำเรื่องเร่งด่วนที่มีความเป็นไปได้ก่อน ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งทุกคณะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการเรื่องการจัดทำกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคมนี้ หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะมีการตั้งคณะกรรมการ EEC และจะมีการออกสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุน นอกจากนี้ยังเร่งโครงการต่าง ๆ ให้สำเร็จ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพ – ระยอง อุตสาหกรรมไฮเทค และโครงการเมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมทั้งเร่งรัดให้จัดทำแผนการใช้งบประมาณการจัดทำการลงทุนแบบกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งแบ่งเป็นแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ กองทุนเอสเอ็มอีแบบกลุ่มจังหวัด และงบส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ
------------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th