นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ วางแนวทางเร่งเดินหน้างานปฏิรูป จัดลำดับวาระการปฏิรูปสำคัญเร่งด่วน 27 วาระ ...

ข่าวทั่วไป Wednesday February 1, 2017 13:10 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ “การเตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ” วางแนวทางเร่งเดินหน้างานปฏิรูปประเทศ สร้างการรับรู้ประชาชน พร้อมจัดลำดับวาระการปฏิรูปสำคัญเร่งด่วน 27 วาระ

วันนี้ (1 ก.พ.60) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ “การเตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ” โดยคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สมาชิก สนช. สมาชิก สปท. คณะรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสื่อมวลชนว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมแม่น้ำ 5 สายที่ครบถ้วนทั้งกระบวนการในการทำงานของ ป.ย.ป. ซึ่งวันนี้ได้มีการปรับความเข้าใจในเรื่องที่จะต้องดำเนินการในการบริหารราชการแผ่นดิน และการปฏิรูปประเทศ การวางยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกัน มีวิธีการปฏิบัติเดียวกัน โดยวันนี้ได้พูดถึงการแก้ปัญหาการปฏิบัติราชการในวันนี้ วันหน้า และวันต่อ ๆ ไป รวมทั้งได้หารือกันถึงเรื่องกฎหมายที่จะอำนวยให้เกิดการปฏิบัติงานดังกล่าว ที่บางอย่างทำได้เร็วทำได้บ้างแล้ว แต่บางอย่างยังทำได้ไม่ครบ ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบพื้นฐานของการปฏิบัติงานที่มีการประสานกันอยู่แล้ว และได้ทำความเข้าใจกันอีกครั้ง เพื่อให้มีการสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการปฏิรูป การทำยุทธศาสตร์ชาติ การบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ การปรองดอง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในทางปฏิบัติแล้ววันนี้รัฐบาลมีคณะกรรมการ กขป. 6 คณะที่รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่อยู่แล้ว มีกิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้วเป็นร้อยอย่าง ทั้งงานรายฟังก์ชั่นและงานบูรณาการ โดยวันนี้ก็ได้ดึง สปท. มา และมีคณะกรรมการ ป.ย.ป. ทำหน้าที่ขับเคลื่อน จึงเป็นการทำงานสองแท่งมาสู่ข้างล่าง ให้หน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนธุรกิจ ประชารัฐ ไปดำเนินการขับเคลื่อน ดังนั้นการมี ป.ย.ป. ก็เพื่อให้เกิดความเร่งด่วนเร็วขึ้น ฉะนั้น งานใดก็ตามที่เดินหน้าทำงานแล้วเกิดการติดขัดจาก กขป. ก็จะนำงานนั้นมาบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปลดล็อกทำให้งานเกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ ต้องฝากขอให้ทุกคนได้เรียนรู้ อย่าปวดหัว เพราะสิ่งที่ทำมาแล้วไม่ใช่เรื่องที่ง่ายหรือเรื่องที่ยากนัก ถ้าเราร่วมมือกัน

“ทั้งหมดที่เรากำลังพยายามทำอยู่นี้คือสานต่อจากที่เราทำมา 2 ปีครึ่ง กับสิ่งที่กำลังทำอยู่อีก 1 ปี และสิ่งที่กำลังจะส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป นี่คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามคิดพยายามทำ ตั้งแต่วันแรกผมคิดอย่างนี้มาตลอด ไม่ใช่ว่าจะมาทำเมื่อนั่นเมื่อนี่เพื่อจะทอดเวลาอะไร ไม่ใช่ รัฐธรรมนูญเราก็ร่างออกมา รัฐธรรมนูญก็ออกมาตามกรอบระยะเวลา กฎหมายลูกก็ทำตามจำนวนที่ต้องทำ ไม่ใช่ว่าสำคัญอยู่ 10 ฉบับจะไปลดเหลือ 2 ฉบับเพื่อให้เร็ว ถ้าทำ 10 ฉบับแล้วจบในเวลาที่กำหนดได้ก็ตามนั้น ผมต้องการแบบนั้น แต่ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร ขอให้พวกเราตัดสิน เพราะผมไปสั่งอะไรไม่ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารัฐบาลอยากจะอยู่ต่อนาน ๆ ไม่ใช่เลย ผมพยายามจะทำในเวลาที่ผมอยู่ ผมมั่นใจว่าข้าราชการเข้าใจในหลักการที่รัฐบาลทำ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้าน ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. กล่าวว่า สปท. มีการกำหนดวาระเร่งด่วน 27 วาระ ซึ่งจะจัดลำดับความสำคัญเรื่องที่จะทำก่อนหลังแบ่งตามกรรมาธิการทั้ง 12 ด้านของ สปท. ซึ่งประเด็นที่เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ และของนายกรัฐมนตรีที่ถือเป็นวาระเพิ่มเติมต่อจากนี้จะต้องรับเรื่องและประสานการทำงานกับ ป.ย.ป.

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า สนช. จะเร่งทำกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา แบ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ที่ต้องทำให้เสร็จใน 8 เดือน และ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และ พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศที่ต้องทำให้เสร็จใน 4 เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่มาจากรัฐบาลอยู่ที่ สนช.กว่า 30 ฉบับ ส่วนกฎหมายที่มาจากข้อเสนอผลการศึกษาของ สปท.เป็นเรื่องที่ ป.ย.ป. จะต้องจัดลำดับส่งเรื่องมาให้ อย่างกฎหมายควบคุมสื่อเป็นเพียงการศึกษาของสปท. เท่านั้น ยังไม่ได้มีการออกเป็นกฎหมายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สนช. จะปรับการทำงานเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นเชิงรุก เข้าสนับสนุนการทำงานทันทีที่รู้ล่วงหน้า ต่างจากเดิมที่รอรับกฎหมายที่ทำเสร็จแล้วเท่านั้น

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป. ได้กล่าวสรุปผลการประชุมว่า พันธกิจที่สำคัญของ คสช. กับรัฐบาลคือการทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีการปฏิรูป ฉะนั้นการประชุมวันนี้จึงเป็นการประชุมที่มีความสำคัญมาก ทั้งนี้ ในการทำงานเรื่องการปฏิรูปของรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีงานที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว และขณะนี้มีคณะกรรมการ ปยป. เพื่อปฏิรูปให้ยุทธศาสตร์ชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีบรรยากาศของความสามัคคีปรองดอง โดยวาระการประชุมหลักวันนี้ประกอบด้วย 1. วาระการปฏิรูปที่ดำเนินการผ่านมาของ สปท. ประกอบด้วย 5 วาระเร่งด่วนสูงสุดของนายกรัฐมนตรี 36 วาระที่จัดลำดับเร่งด่วน และวาระการปฏิรูปอื่น ๆ จาก 134 วาระ 2. การจัดลำดับความสำคัญวาระการปฏิรูป ที่ได้มีการนำวาระปฏิรูปทั้งหมดมาจัดกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อนำมาผลักดันอย่างเร่งด่วนในปี 2560 ได้วาระปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วน 27 วาระ ซึ่ง 27 วาระดังกล่าวสามารถจัดแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) การปฏิรูปกลไกภาครัฐ 9 วาระ 2) คน 5 วาระ 3) เครื่องมือพัฒนาฐานราก 4 วาระ 4) เศรษฐกิจอนาคต 3 วาระ ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจดิจิทัล 5) โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ ผังเมือง พลังงานทดแทน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารระดับท้องถิ่น การบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะได้มีการนำไปปรับอีกครั้ง

3. กระบวนการผลักดันวาระการปฏิรูปและข้อเสนอ เนื่องจากต่อไปนี้จะมีคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของ ป.ย.ป. จึงจะได้ใช้คณะกรรมการชุดนี้ เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการผลักดันวาระการปฏิรูปให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อจบจากคณะกรรมการชุดนี้แล้วจะสามารถเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายก็เข้าสู่ขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สนช. หากไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย ก็จะเข้าคณะรัฐมนตรี แล้วไปที่กระทรวงต่าง ๆ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปตามมติของเรื่องการปฏิรูปนั้น ๆ 4. การบริหารงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปภายใต้ ป.ย.ป. โดยคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือในข้อเสนอ การแต่งตั้ง 4 คณะอนุกรรมการ นอกเหนือจากคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อน 5 กลุ่มวาระของการปฏิรูปแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการว่าด้วยการเตรียมการพิมพ์เขียวเพื่อการปฏิรูป ซึ่งจะต้องมีการปรับกันอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งจะมีคณะอนุกรรมการประสานกระทรวงเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูป คณะอนุกรรมการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม และคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล โดยในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ด้านภายใต้คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศนี้ จะได้มีการหารือแนวทางการทำงานในที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อให้การทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปจากนี้มีการทำงานที่รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และชัดเจนไม่ทับซ้อนระหว่างภาครัฐ สปท. และ สนช.

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ