วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2560) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ มีกลุ่มบุคคล แสดงความเห็นอ้างว่า นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเว้นใบอนุญาตนิติบุคคลให้กับบริษัทของจีนที่ออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ส่งผลให้ฝ่ายจีนสามารถออกแบบได้เลยนั้น ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการใช้ ม.44 ดำเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด
“โครงการรถไฟไทย-จีน ใช้กฎหมายปกติดำเนินการ โดยฝ่ายจีนยังคงต้องขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543
และเนื่องจากเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทย ดังนั้น ในขั้นตอนการออกแบบจึงต้องใช้วิศวกรจีนดำเนินการ โดยมีคณะทำงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกำหนดรายละเอียดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้ส่งแบบสถาปัตยกรรมสถานีที่ สนง.นโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้เคยศึกษาในโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม-นครราชสีมา ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกไทย ให้แก่ทางจีนเป็นต้นแบบด้วย"
พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า วงเงินค่าออกแบบโครงการรถไฟไทย-จีน เบื้องต้นเป็นจำนวน 1,779.97 ลบ. ไม่ใช่ 10,000 ลบ.ตามที่ มีการ กล่าวอ้าง ส่วนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในการออกแบบเพื่อก่อสร้างนั้น ผู้ที่รับรองการออกแบบของฝ่ายจีนจะต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกไทย ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่สภาวิชาชีพทั้งสองกำหนดไว้
ดังนั้น ความเห็น ของกลุ่มบุคคล ดังกล่าว เรื่องการใช้ ม.44 ทำลายโอกาสการสร้างงานให้กับคนไทย และความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยหากออกแบบโดยบริษัทจีน จึงเป็นการกล่าวอ้างที่บิดเบือนเกินความจริง”
"ท่านนายกฯ ติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้มาโดยตลอด และกำชับให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับประโยชน์ของฝ่ายไทยมากที่สุด และสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล รวมถึงเน้นย้ำไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด"
ส่วนการใช้อำนาจตาม ม.44 นั้น นายกฯ จะใช้เฉพาะกับเรื่องที่จำเป็น เช่น เร่งรัดคดีทุจริตให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือเรื่องที่มีความซับซ้อนในด้านกฎหมาย หากล่าช้าจะเกิดความเสียหาย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการรถไฟไทย-จีน เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงและมีรายละเอียดด้านเทคนิคค่อนข้างมาก จึงต้องทำงานอย่างรอบคอบและคำนึงถึงความคุ้มค่าให้มากที่สุด ซึ่งอาจใช้เวลาอยู่บ้าง
สำหรับเรื่องร่างสัญญาความร่วมมือไทย-จีนนั้น อยู่ระหว่างการหารือเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน เช่น บุคลากรจีนที่จะเข้ามาทำงานในไทยต้องยึดกฎหมายไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ทางการรถไฟฯ ยืนยันว่า จะเร่งรัดดำเนินการให้ได้ตามแผนที่วางไว้ เช่น การตอกเสาเข็มเริ่มโครงการภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้
************************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th