บอร์ดบีโอไอเตรียมออกมาตรการส่งเสริมเทคโนโลยี เพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนเทคโนโลยีเป้าหมาย และเห็นชอบส่งเสริมการลงทุน 4 โครงการ มูลค่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday February 8, 2017 13:17 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยบอร์ดบีโอไอเตรียมออกมาตรการส่งเสริมเทคโนโลยี เพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนเทคโนโลยีเป้าหมาย และเห็นชอบส่งเสริมการลงทุน 4 โครงการ มูลค่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท
วันนี้ (8 ก.พ.60) เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เข้าร่วมด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และคุณเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแถลงผลการประชุมสรุปดังนี้

ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาหารือการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและ Thailand 4.0 โดยได้เตรียมการในการดำเนินการดึงดูดทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะฝีมือสูง (Talents) จากต่างประเทศ เช่น การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดรูปแบบการทำงานเพื่อกำหนดระยะเวลาการให้วีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับกลุ่มประเภท EX ให้มีระยะเวลาที่สอดคล้องกัน การกำหนดนิยามและการตีความคำว่า “การทำงาน” การพัฒนาระบบการแจ้งอยู่ในราชอาณาจักรทุก 90 วัน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เป็นหน่วยงานกลางในการจัดตั้งหน่วยงานภายในขึ้นมารับผิดชอบการดำเนินงานเรื่องการดึงดูด Talents จากต่างประเทศโดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยให้ศึกษารูปแบบการดำเนินงานและเครื่องมือในการดึงดูด Talents ของประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับการดำเนินการดังกล่าวของประเทศต่อไป

พร้อมทั้ง ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบให้บีโอไอออกมาตรการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technology-based Incentives) เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วยมาตรการย่อย คือ 1. การส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย (Core Technologies) ซึ่งจะมีการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์เป็นพิเศษกับการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายที่ประเทศไทยมีศักยภาพ โดยมีเงื่อนไขเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย

ทั้งนี้ การลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย (Targeted Core Technologies) 4 กลุ่ม คือ ไบโอเทคโนโลยี, นาโนเทคโนโลยี, Advanced Materials Technology (เทคโนโลยีการผลิตวัสดุขั้นสูง) และ ดิจิทัล เทคโนโลยี 2) กลุ่มบริการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย (Enabling Services) ซึ่งหมายถึงกิจการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้แก่ การวิจัยพัฒนา สถานฝึกฝนวิชาชีพ (เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ บริการออกแบบทางวิศวกรรม บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ และบริการสอบเทียบมาตรฐาน โดยกิจการใน 2 กลุ่มดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปี และสามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการได้อีก 1-3 ปี รวมแล้วสูงสุดไม่เกิน 13 ปี

2. การยกเว้นอากรนำเข้าเพื่อนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา เช่น วัสดุต้นแบบ สารเคมี พืชหรือสัตว์ เป็นต้น

3. ปรับเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based incentives) สำหรับกิจการผลิตทั่วไปที่ได้สิทธิตามหลักเกณฑ์ปกติ ถ้าลงทุนเพิ่มด้านพัฒนาเทคโนโลยีหรือพัฒนาบุคลากร จะให้เพิ่มค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพื่อนำมารวมเป็นมูลค่าภาษีที่ได้ยกเว้น จากเดิม 100% เป็น 200% และหากเป็นค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนาให้เพิ่มเป็น 300%

อีกทั้งที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบให้บีโอไอออกมาตรการช่วยเหลือกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยให้ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้ามาทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย ทั้งเครื่องจักรใหม่หรือใช้แล้วจากต่างประเทศ ซึ่งมีอายุไม่เกิน 10 ปี นับแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า โดยต้องยื่นขอสิทธินำเข้าเครื่องจักรภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2560

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) เน้นส่งเสริมกิจการที่จะยกระดับพื้นที่ EEC ได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง กิจการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโลจิสติกส์ กิจการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กิจการวิจัยและพัฒนา และบริการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยเพิ่มสิทธิลดหย่อน CIT 50% อีก 5 ปี สำหรับกิจการในกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (กลุ่มA) โดยกำหนดให้จังหวัดใน EEC เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนและต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในปี 2560

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนรวม 4 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 25,297 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส ( ประเทศไทย ) จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตยางเรเดียล (RADIAL TIRE) เงินลงทุนทั้งสิ้น 12,384 ล้านบาท โครงการนี้ช่วยส่งเสริมการใช้วัตถุดิบยางในประเทศ และมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ตั้งโครงการที่ จังหวัดระยอง

2) บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางท่อ เงินลงทุนทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท โครงการนี้จะให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อประมาณ 9,000 ล้านลิตรต่อปี เพื่อรองรับการขยายตัวสำหรับการขนส่งน้ำมันทางท่อ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันของประเทศ ซึ่งแนวท่อจะผ่านพื้นที่ 10 จังหวัดจากภาคกลางไปยังภาคเหนือ

3) บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตเชื้อเพลิงจากกากอุตสาหกรรม (Refuse Derived Fuel) เงินลงทุนทั้งสิ้น 312.5 ล้านบาท กำลังการผลิตประมาณ 108,000 ตันต่อปี ตั้งโครงการที่ จังหวัดสระบุรี

4) มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ได้รับการส่งเสริมกิจการศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรม (หอชมเมือง) เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,600.5 ล้านบาท โครงการนี้ จะเป็นหอชมเมืองความสูงประมาณ 459 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 22,056 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และจะเป็นถาวรวัตถุซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร

รวมทั้ง บีโอไอเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อพลิกโฉมประเทศสู่ “Thailand 4.0” ในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ อาทิ งานสัมมนา Opportunity Thailand สัมมนาย่อยรายอุตสาหกรรม New S-Curve กิจกรรมแสดงศักยภาพผู้ประกอบการไทยอุตสาหกรรม New S-Curve ตลอดจน Business Matching ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 3,000 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารคนไทย ผู้แทนสถานทูต หอการค้าต่างประเทศ ผู้บริหารต่างชาติ สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ขณะเดียวกันในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีการประชุม Honorary Investment Advisors (HIA) ครั้งที่ 2 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลก ซึ่งเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการลงทุน (HIA) ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติที่มีการลงทุนแล้วในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำในที่ประชุมโดยเฉพาะบีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ต่อจากนี้ไปการบริหารการขับเคลื่อนประเทศและยุทธศาสตร์ปฏิรูประเทศจะต้องดูในเรื่องของมิติพื้นที่ทั้ง 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ (ภาคใต้ตอนบนและจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้ง จ.สตูลและจ.สงขลา) ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ซึ่งยุทธศาสตร์ของ 6 ภูมิภาคจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวง และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศในทุกด้านรองรับการเข้าสู่ Thailand 4.0 ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ