วันนี้ (20 ก.พ.60) เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (บยส.) ครั้งที่ 2/2560 ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังการประชุม นายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) พร้อมด้วย นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ร่วมกันแถลงผลการประชุม
นายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 1 ที่ผ่านมาเป็นการประชุมเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้านคมนาคม ซึ่งหลังจากการประชุมในครั้งแรกนั้น การดำเนินการตามมาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินก็ได้เสร็จเรียบร้อย โดยการประชุมวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ร่วมวางแนวทางการปฏิบัติเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง จะทำอย่างไรให้มีมาตรการด้านบริหาร ในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีต้องการทำความเข้าใจกับส่วนราชการ ให้มีการดำเนินการอย่างชัดเจนในช่วงรอยต่อระหว่างที่รอกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยที่ประชุมได้เน้นใน 3 หัวข้อหลักคือ 1. ให้การกำหนดข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง หรือ TOR ข้อกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ มีความโปร่งใส เป็นข้อกำหนดที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ 2. ให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีคุณธรรม มีความโปร่งใสและมีการแข่งขันเพื่อให้รัฐได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่ และ 3. ดูเรื่องข้อกฎหมายเพิ่มเติมที่จะให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งเรื่องการประกาศความโปร่งใส หรือการประกาศให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากคณะกรรมการว่า จะต้องให้กรมบัญชีกลาง ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ร่วมหาข้อสรุปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขนาดและวิธีการที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการจัดซื้อจัดจ้างในลักษณะที่เป็นสากล แต่ถ้าทำให้เป็นสากลในทุกขนาดจะเกิดผลกระทบต่อการบริหารในโครงการเล็ก ๆ จึงมอบหมายให้หาข้อสรุปว่าควรจะทำให้เป็นสากลในโครงการขนาดใหญ่ที่มีขนาดตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไปหรือไม่ หรือจะเป็นโครงการเฉพาะที่จะต้องใช้เทคนิคชั้นสูงต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ไปกระทบโครงการเล็ก ๆ ที่ดำเนินการอยู่ โดยระเบียบส่วนนี้ต้องมีความชัดเจน ซึ่งกรมบัญชีกลางจะพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และจะกำหนดขนาดของโครงการที่จะดำเนินการในลักษณะที่เป็นสากล
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลาง เชิญสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ไปดูในส่วนโครงการของรัฐวิสาหกิจด้วย เพราะข้อกำหนดขนาดโครงการดังกล่าวได้รวมทั้งรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรวมถึงการศึกษาดูงานต่างประเทศที่ไปนำความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการพัฒนาประเทศก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าไปออกกฎเกณฑ์ว่าห้ามดูงานทั้งหมด ก็จะมีปัญหากับคน กับหน่วยงานที่ต้องการความรู้ความสามารถในอนาคต ดังนั้น สำนักงบประมาณจึงจะต้องดูเรื่องการตั้งงบประมาณต่าง ๆ ที่ในส่วนของงบประมาณการดูงาน ถ้าเป็นการดูงานในเชิงที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็ต้องมีระเบียบที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะรวมถึงข้อกฎหมายว่า ถ้าในช่วงนี้ระหว่างที่กฎหมายลูกยังไม่ออก แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐจะผ่าน สนช. แล้ว ถ้าจะใช้มาตรา 44 เร่งรัดช่วงส่วนต่อระหว่างที่ยังไม่สามารถออกกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.ได้ ก็จะดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ในขั้นต้นนายกรัฐมนตรีให้เวลา 1 สัปดาห์ ให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ได้ไปประกอบตามหลักการที่ที่ประชุมเห็นชอบ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ชัดเจน
ด้านนางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ต้องดูเรื่องของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาแข่งขันในโครงการของภาครัฐ ซึ่งจะให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาดำเนินการได้ แต่ต้องกลั่นกรองกติกาต่าง ๆ อย่างรอบคอบและเหมาะสม การเพิ่มจำนวนโครงการที่ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม ที่ปัจจุบันดำเนินงานใน 35 โครงการแล้ว เพื่อให้เปิดเผยข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ ลดการใช้งบประมาณของภาครัฐ และต้องเพิ่มกระบวนการการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน หาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมีผลบังคับใช้ แต่กฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จ อาจพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 บังคับใช้ไปก่อน ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะมีการศึกษาและนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ จากที่รัฐบาลดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ปี 2558 ทั้งในส่วนของ e-bidding หรือวิธีประกวดราคาอิเล็คทรอนิกส์ การดำเนินการข้อตกลงคุณธรรมและการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้าง สามารถแก้ปัญหาเรื่องการสมยอมราคาและการล็อคสเปค โดยสามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 69,670 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับสำนักงบประมาณในเรื่องการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้เกิดความพร้อม มีความโปร่งใส เป็นธรรม ฉะนั้นในขั้นตอนของการตั้งงบประมาณจะต้องกำหนดให้ส่วนราชการมี TOR และแบบรูปรายการ ประมาณราคาค่าก่อสร้าง รวมทั้งสเปคครุภัณฑ์ต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณา และมีที่มาของการตั้งงบประมาณ เป็นไปตามบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ หรือบัญชีราคาจัดซื้อจัดจ้างที่กรมบัญชีกลางจะได้ทำข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งมีแผนปฏิบัติงาน แผนตามยุทธศาสตร์งบประมาณว่าจะเริ่มประกาศ TOR เมื่อไร จัดซื้อจัดจ้างเมื่อไร ทำสัญญาเสร็จเมื่อไร ซึ่งจะเป็นความเข้มข้นในการแสดงความโปร่งใสในขั้นตั้งงบประมาณ พร้อมกันนี้ ในเรื่องของขั้นบริหาร จะต้องไปจัดทำบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ และบัญชีราคามาตรฐานสิ่งก่อสร้างให้เป็นไปตามการคิดราคากลางแนวใหม่ ที่จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ แต่ก็จะใช้คำสั่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการก่อน ทั้งนี้ ในเรื่องของบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ โดยปกติแล้วสำนักงบประมาณได้มีการตรวจสอบราคาจากผู้ผลิตโดยตรงอย่างน้อย 3 รายขึ้นไป เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ซึ่งในโอกาสต่อไปจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมบัญชีกลางในเรื่องข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ว่าผลการจัดซื้อจัดจ้างของครุภัณฑ์เป็นอย่างไร ส่วนบัญชีราคามาตรฐานสิ่งก่อสร้างจะใช้การคิดคำนวณราคากลางตามแนวใหม่ที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้กำหนดขึ้นมาใหม่
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวด้วยว่า สำหรับการตั้งงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องการดูงานต่างประเทศในเรื่องค่าจ้างที่ปรึกษา สำนักงบประมาณได้รับการกำชับให้ตั้งงบประมาณที่เข้มงวดขึ้น โดยจะตั้งให้เฉพาะในส่วนที่มีความจำเป็นที่จะต้องไปดูงานในต่างประเทศเท่านั้น ถ้าไม่มีความจำเป็นก็จะต้องปรับลดค่าใช้จ่ายการดูงานในต่างประเทศในส่วนของค่าจ้างที่ปรึกษาต่าง ๆ ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกันว่าสุดท้ายแล้วกรณีใดจะมีการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ผลิตโดยตรง กรณีใดที่จะสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้จากตัวแทนจำหน่าย ซึ่งอาจจะมีผู้ผลิตโดยตรงในประเทศและมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ในตอนท้าย นายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการล็อคสเป็กโดยผ่าน TOR นั้นตามกฎหมายปัจจุบันมีการลงโทษอยู่แล้ว แต่มาตรการที่กำหนดในวันนี้จะป้องกันไม่ให้ล็อค เมื่อล็อคไม่ได้ก็สมยอมหรือฮั้วไม่ได้ เมื่อฮั้วไม่ได้ ราคากลางก็จะถูกกำหนดออกมาที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ที่สุดของบ้านเมือง วันนี้ตามกฎหมายถ้าจับได้ว่าล็อค จับได้ว่าฮั้ว จับได้ว่าตั้งราคากลางสูงเกินไป ก็ติดคุกทั้งนั้น แต่มาตรการทั้งหมดที่ทำไปขณะนี้ คือมาตรการเสริมในช่วงระหว่างนี้ที่รอ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐจะมีผลบังคับใช้และกฎหมายลูกจะผ่าน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามผลการดำเนินการต่าง ๆ คาดการณ์ว่าทั้งหมดจะทำให้สามารถประหยัดเงินของประเทศ และทำให้หน่วยงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
---------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th