วันนี้ (23 ก.พ.60) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ครั้งที่ 1/2560 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม โดยภายหลังการประชุม นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะ 20 ปี และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ และแผนงาน/โครงการ ระยะ 20 ปีตามขั้นตอนต่อไป โดยแนวทางการขับเคลื่อนจะแบ่งเป็นช่วง ๆ ดังนี้
ในช่วง 5 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการวางรากฐานการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 จะต้องเร่งรัดการพัฒนาในประเด็นสำคัญ เช่น สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มด้านบริการ พัฒนาอุตสาหกรรมโดยระบบอัตโนมัติ ยกระดับบริการภาครัฐ เร่งรัดการลงทุนไปสู่ประเทศในภูมิภาค และการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์คุณภาพ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อธุรกิจและคุณภาพชีวิต การพัฒนาเมืองและพื้นที่เฉพาะ รวมทั้งการสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้เข้มแข็ง นอกจากนี้ต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของชาติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับชีวิตและการทำงานอย่างมีเป้าหมาย การให้คุณค่ากับ ความสามารถในการทำงานมากกว่าวุฒิการศึกษา และการให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ และการเคารพในทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้คาดว่า เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ปี พ.ศ. 2564 จะต้องเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เช่น คนไทยมีทักษะหลากหลาย พูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา มีสำนึกรักษ์สุขภาพ เกิดเมืองต้นแบบในทุกภาค เกิด Smart Design แพร่หลาย มีระบบการผลิตที่เป็นอัตโนมัติและสะอาดเกิดขึ้นมากมาย และมีสภาพแวดล้อมทางด้านกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ
ในช่วงที่ 2 เป็นช่วงของการต่อยอดและเร่งกระบวนการพัฒนาเพื่อไปสู่ความเป็นชาติการค้า และสังคมผู้ประกอบการของประเทศไทย ที่สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่โดดเด่น โดยจะต้องเร่งเสริมปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 4 ปัจจัย ได้แก่ (1) ส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า (2) มีระบบการศึกษารูปแบบใหม่ จากการปฏิรูปการศึกษาแล้วเสร็จ (3) มีการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ในเมืองหลักของแต่ละจังหวัด และ (4) มีการเพิ่มแรงงานที่มีความสามารถสูงให้มีส่วนร่วม ในภาคธุรกิจมากขึ้น
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการกำหนดนโยบายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับแนวทางการขับเคลื่อนการจัดระบบข้อมูล ตัวชี้วัด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปดำเนินการให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นระบบมาตรฐาน โดยตัวชี้วัดที่สถาบันจัดอันดับระหว่างประเทศ ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย มีทั้งหมด 259 รายการ ซึ่ง 31 รายการ ในด้าน Infrastructure มีข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันกับสถาบัน IMD และมีเจ้าภาพชัดเจนแล้ว แต่ยังเหลือตัวชี้วัดอีก 228 รายการ ที่ต้องมีการปรับปรุงข้อมูล โดย 47 หน่วยงานซึ่งเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ ข้อมูลตัวชี้วัดแต่ละตัว ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นแกนกลางดำเนินการ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงและบูรณาการระบบข้อมูลตัวชี้วัดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ (Competitiveness Data Set) ให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นระบบมาตรฐาน และรายงานความก้าวหน้าต่อ กพข. ให้ทราบเป็นระยะ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าด้านต่างๆ ดังนี้
การขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในช่วง แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะต้องเร่งรัดใน 8 ประเด็น ได้แก่ (1) การสร้างความเข้มแข็งให้ ห่วงโซ่คุณค่าของภาคเกษตร (2) การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคบริการ (3) การพัฒนากลไกสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรม (4) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ต่อการเติบโตของธุรกิจ (5) การพัฒนากลไกส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี/ นวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (6) การส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะฝีมือแรงงานตลอดชีวิต (7) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการประกอบธุรกิจในยุคดิจิทัลบนฐานความรู้และ นวัตกรรม (8) และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรและสร้างพลังผู้ประกอบการ
แผนงานการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่จะต้องได้รับความสำคัญมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการของภาครัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยโดยสถาบันจัดอันดับระหว่างประเทศ
ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค คณะอนุกรรมการ ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐและการพัฒนากระบวนการทางศุลกากร และคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและสื่อสารประชาสัมพันธ์
----------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ กพข.)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th