วันนี้ (24 ก.พ. 60) เวลา 09.45 น. ณ หอประชุมเพทาย โรงเรียนราษีไศล อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อตรวจเยี่ยมติดตามนโยบายและแนวทางปฏิบัติราชการ การขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมพบปะประชาชน โดยมีนายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ข้าราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนให้การต้อนรับ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวรายงานว่า จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ประมาณ 5 ล้าน 5 แสนไร่ ประชากร 1.46 ล้านคน ประกอบด้วย 22 อำเภอ 204 ตำบล 2,633 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือข้าวหอมมะลิ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) มูลค่า 62,762 ล้านบาท และรายได้ประชากรต่อคนต่อปี จำนวน 60,126 บาท เป็นลำดับที่ 65 ของประเทศ โดยการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมามีดังนี้ 1. การทำเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 22 แปลง พื้นที่ 76,060 ไร่ แบ่งเป็น แปลงใหญ่ข้าวหอมมะลิ 20 แปลง พื้นที่ 63,446 ไร่ แปลงใหญ่ทุเรียน จำนวน 2 แปลง พื้นที่ 2,847 ไร่ 2. โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไม่เหมาะสมไปปลูกพืชชนิดอื่นและเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ ส่งเสริมการปลูกอ้อยและส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อลูกผสม 3. การพัฒนาหมู่บ้านตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศาสตร์พระราชา) โดยทางจังหวัดได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนงบประมาณขยายผลหมู่บ้านต้นแบบเพิ่มเติม จาก 500 หมู่บ้าน เป็น 799 หมู่บ้าน ในปี 2560 4. การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร เพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ง 5. การบริหารจัดการขยะ "จังหวัดสะอาดตามหลัก 3 ช" ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับไปใช้ใหม่ ซึ่งจังหวัดมีปริมาณขยะต่อปี 116,000 ตัน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถลดปริมาณขยะเฉลี่ยเดือนละ 100 ตัน คิดเป็น 15% ซึ่งทางจังหวัดศรีสะเกษ ได้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่สำคัญ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีรับชมการแสดงชุดออนซอนนครลำดวน จากนักเรียนโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย พร้อมกล่าวพบปะประชาชนว่า ดีใจที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ ได้มาเห็นความเป็นอยู่และความสำเร็จของพลังประชารัฐที่ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนได้ดำเนินการร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน วันนี้เราต้องมองตัวเองออกไปให้ไกลสักนิด มองไปหมู่บ้านข้าง ๆ ว่าเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ต้องอยู่ด้วยกัน เพราะไม่มีอะไรที่จะทำให้เราแตกแยกได้เพราะเราเป็นคนไทย ดั้งนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันพัฒนาประเทศไปด้วยกันและเสริมสร้างความเข้มแข็งจากเล็กให้ใหญ่ขึ้นไปสู่ประเทศ ซึ่งวันนี้รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาประเทศในลักษณะเป็นภูมิภาค ที่จะต้องมีความสมบูรณ์ในตัวเอง โดยพิจารณาตั้งแต่ภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาค ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่แบ่งการปกครองเป็น 4 ภาค โดยวันนี้รัฐบาลได้ปรับในเรื่องของการบริหารในการใช้จ่ายงบประมาณเป็น 6 ภูมิภาค เพราะแต่ละภาคมีความแตกต่างกัน จึงได้เพิ่มภาคตะวันออกและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเพื่อที่จะดูแลเป็นพิเศษ โดยทุกภาคส่วนจะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้รัฐบาลได้มีงบประมาณลงกลุ่มจังหวัด 4,000 กว่าล้านบาท ซึ่งไม่เคยมีแบบนี้ แต่รัฐบาลนี้ให้ ทั้งนี้ ไม่ได้ให้เพื่อคะแนนเสียง แต่ให้เพื่อไปสร้างความเข้มแข็งและเพื่อสร้างความเชื่อมโยงของกลุ่มจังหวัด และที่สำคัญคือการสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงด้วยการสร้างมูลค่าและนวัตกรรม โดยต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน วันนี้ประเทศไทยมีรายได้ 2 ล้านล้านบาท มองดูเหมือนมาก แต่ไม่พอสำหรับการใช้จ่ายในวันนี้และวันข้างหน้า จึงจำเป็นต้องพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ได้ทั้งเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางคือเศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากซึ่งรัฐบาลนี้ไม่ได้เคยนิ่งนอนใจ โดยให้ความสำคัญเท่ากับเศรษฐกิจขนาดใหญ่เหมือนกัน อีกทั้งรัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปรับระบบและระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับในเรื่องการลดหนี้สินของประชาชน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองตามแนวประชารัฐ ได้มีมติอนุมัติสินเชื่อประชารัฐ 50,000 บาทต่อราย เพื่อนำไปทำทุนไม่ใช่การไปใช้หนี้ พร้อมทั้งแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและคนปล่อยหนี้ต้องเป็นบริษัท จะเรียกเก็บเงินเกินไม่ได้ ซึ่งจะต้องนำคนเหล่านี้มาลงทะเบียนและเก็บดอกเบี้ยตามที่กำหนด
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษที่มีความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มและรู้จักการปรับตัว ในการสร้างโอกาสการประกอบอาชีพให้มีความมั่นคงและยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่และผลิตผลของตนเองตามความรู้ความสามารถและวิถีของภูมิปัญญาท้องถิ่น และการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ผ่านกลไกประชารัฐ อีกทั้ง การขยายและเชื่อมโยงเครือข่ายทางคมนาคมขนส่ง จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อการส่งเสริมเส้นทางการค้าและการลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ที่จะช่วยส่งผลให้ชีวิตของประชาชนมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การสร้างจุดเด่นที่ทำให้ผลิตผลของจังหวัดศรีสะเกษมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งข้าว กระเทียม หอมแดง ทุเรียน และข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งเป็นสินค้า GI ที่สามารถปลูกได้เฉพาะพื้นที่เท่านั้น จึงทำให้สินค้าของพื้นที่นี้ได้ขยายตลาดจากภายในประเทศไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยผลิตสินค้าทาง การเกษตรร่วมกัน บริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมความสามารถการแข่งขันในตลาด ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2560 ไว้ที่ 1,500 แปลง และจะขยายเป็น 7,000 แปลง ภายใน 5 ปี โดยในปัจจุบันนี้ มีอยู่ทั้งหมด 600 แปลง อีกทั้ง ต้องการเห็นการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยพลังความสามัคคีของเกษตรกรในชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจ นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าเกษตรปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารปลอดภัย เกษตรกรก็ไม่ต้องเสี่ยงกับกรรมวิธีการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์สากล ประมาณ 150,000 ไร่ มีข้าวอินทรีย์ประมาณ 90,000 ไร่ พืชผักอินทรีย์ประมาณ 3,000 ไร่ ไม้ผลอินทรีย์ประมาณ 5,000 ไร่ และอื่น ๆ อีกประมาณ 50,000 ไร่ โดยสามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ประมาณ 50,000 ตัน ซึ่งต้องทำให้คุ้มค่า มีความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตอย่างแท้จริง
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมข้าวลุงบุญมี ซึ่งเป็นตราสินค้าข้าวอินทรีย์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในวงกว้าง ในเรื่องมาตรฐานและการแปรรูปเป็นสินค้าชนิดอื่น ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง ในการสร้างแบรนด์ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของท้องถิ่นในการพัฒนาสินค้าในพื้นที่ให้มีความโดดเด่นและมีคุณภาพ ซึ่งภาครัฐพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่นิยมมากขึ้น
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางไปยังสวนสมุนไพรเพื่อปลูกต้นพะยูง ก่อนเยี่ยมชมการเรียนการสอนของโรงเรียนราษีไศล โดยตัวแทนนักเรียนมัธยมศึกษาได้นำเสนอโครงงานวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ฯลฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจเครื่องเป่าสะไน ที่เป็นเครื่องดนตรีอันเก่าแก่ของชนเผ่าเยอ โดยขอให้นักเรียนทุกคนรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมอันเก่าแก่นี้ไว้เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว พร้อมขอให้เด็กนักเรียนได้ใช้ภาษาไทยทั้งการเขียน การอ่านให้ถูกต้อง อย่าใช้ศัพท์โซเชียลมากเกินไป
.....................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th