รัฐบาลหนุนมาตรฐาน ThaiGAP สร้างระบบผลิตผักผลไม้ปลอดภัยครบวงจร ผลักดันงานวิจัยและเทคโนโลยีสู่ภาคเกษตร ยกระดับสู่ประเทศไทย 4.0

ข่าวทั่วไป Sunday February 26, 2017 15:24 —สำนักโฆษก

รัฐบาลสนับสนุนการยกระดับระบบการผลิตในภาคเกษตรกรรมให้ได้มาตรฐาน ThaiGAP และก้าวสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยี

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลสนับสนุนการยกระดับระบบการผลิตในภาคเกษตรกรรมให้ได้มาตรฐาน ThaiGAP และก้าวสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยี ซึ่งเบื้องต้นมีผู้ประกอบการได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว 26 ราย และตั้งเป้าหมายในปี 2560 นี้ จะพัฒนาให้ได้เพิ่มขึ้นอีก 50 ราย

“ThaiGAP เป็นมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีภาคภาษาไทย พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ใช้วิธีการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นสากล โดยมีการกำหนดระบบควบคุมคุณภาพตั้งแต่การบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก ดิน เมล็ดพันธุ์ น้ำ ปุ๋ย การจัดการศัตรูพืช ให้มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้นำนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อให้ประยุกต์ใช้แนวทางของ ThaiGAP และสนับสนุนเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น โรงเรือนปลูกอัจฉริยะ ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของผักผลไม้ ไม่ต้องใช้สารเคมีในการเร่งโต หรือกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น โดยเมื่อเกษตรกรได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP แล้ว จะได้ QR Code ประจำตัว ให้ผู้บริโภคสามารถใช้โทรศัพท์มือถือสแกน Code เพื่อตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของผลผลิต วิธีการปลูก ทุกขั้นตอนกระบวนการก่อนมาถึงมือผู้บริโภค ช่วยให้ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจในสุขภาพ นิยมบริโภคผักผลไม้ปลอดสาร สามารถมั่นใจได้ถึงความปลอดภัย”

พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า มาตรฐาน ThaiGAP จะช่วยให้ผู้ประกอบการพยายามพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคมีแหล่งอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าเกษตรกรยุคใหม่จะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ประกอบการจะได้สร้างมูลค่าให้แก่ผลผลิตและสร้างรายได้อย่างครบวงจร

“ท่านนายกฯ กำชับให้ วท.ประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งขยายพื้นที่ที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร หรือ SMEs เกษตร ที่ใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีเป็นฐาน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต สร้างอำนาจต่อรอง และแข่งขันได้ในตลาดโลกตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล”

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ