ผลการประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Monday February 27, 2017 14:20 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (27 ก.พ.60) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแหงชาติ (สวทน.) เข้าร่วมประชุมด้วย

นายกรัฐมนตรี แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการวิจัยและนวัตกรรม จึงได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ที่ 62/2559 จัดตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติขึ้น เพื่อขับเคลื่อนและดำเนินการให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการออกมา ทั้งนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่ความเข้มแข่ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างนวัตกรรมซึ่งต้องประกอบไปด้วยงานวิจัยและพัฒนา โดยปัจจุบันมีผลงานวิจัยและพัฒนาทั้งของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ต้องไปรวบรวมงานวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายอันเดียวกันคือการผลิตนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศ รวมทั้ง ต้องกำหนดเป้าหมายการวิจัยพัฒนาให้ชัดเจนโดยต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นภายในปี 2560 เพื่อสืบทอดไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติในการปฏิรูปเรื่องของการวิจัยและพัฒนาต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ที่ 62/2559 (6 ตุลาคม 2559) เรื่อง การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อนและสามารถผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดให้มี “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” โดยมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย 2 คน เป็นรองประธาน รัฐมนตรี 19 กระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการ วช. และเลขาธิการ สวทน. เป็นเลขานุการร่วม โดยสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มีหน้าที่ในการกำหนดทิศทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมทั้งปรับปรุงระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนกำกับและติดตามการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินการให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีเอกภาพ เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการวิจัยของประเทศและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

พร้อมทั้ง ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างการดำเนินงานภายใต้สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตามกรอบอำนาจหน้าที่ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 62/2559 และจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจของสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ดังนี้ 1) คณะอนุกรรมการด้านนโยบายและยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน 2) คณะอนุกรรมการด้านระบบจัดสรรและบริหารงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมแบบบูรณาการและระบบติดตามประเมินผล มี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน 3) คณะอนุกรรมการด้านบุคลากรวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และ 4) คณะอนุกรรมการด้านปรับปรุงกฎหมายโครงสร้างหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ระเบียบข้อบังคับ และพัฒนาปัจจัยเอื้อ มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน

อีกทั้ง ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างแผนการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมแบบบูรณาการของประเทศ และกรอบแนวทางการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับ 5 อุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ได้แก่ 1) กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม คลัสเตอร์ 4) กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองฝังตัว และคลัสเตอร์ และ 5) กลุ่มเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง โดยรัฐบาลจะส่งเสริมให้มีการลงทุนใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Expenditure on R&D : GERD) มากกว่าร้อยละ 1 หรือเท่ากับ 130,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบหลักการการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายที่แต่ละบริษัทได้รวมกลุ่มเพื่อใช้จ่ายทำ R&D ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะด้าน (R&D Consortium) ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักเป็นจำนวน 3 เท่า เป็นระยะเวลา 3 รอบ ระยะเวลาบัญชีที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2562 พร้อมมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งคณะกรรมการสานพลังประชารัฐของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนกรอบแนวทางฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เช่น การอนุมัติโครงการวิจัย การรับรองค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัทที่จ่ายกับให้กับผู้รับจ้างทำการวิจัยและการขึ้นทะเบียนการเป็นผู้รับทำวิจัย เป็นต้น

ขณะเดียวกันที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าในการจัดทำ (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี ประกอบด้วย 6 แผนงานหลัก ได้แก่ 1) แผนงานหลักด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 2) แผนงานหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมชุมชน ความมั่นคงและคุณภาพชีวิต 3) แผนงานหลักด้านกาวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างและสะสมองค์ความรู้ 4) แผนงานหลักด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม และ 6) แผนงานหลักด้านการปรับปรุงกฎหมาย ปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและและนวัตกรรม

------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ