วันนี้ ( 28 ก.พ. 60) เวลา 15.40 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องที่ประชุม คสช. มีการหารือเกี่ยวกับการจัดทำหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต โดยเฉพาะหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Passport ซึ่งเป็นการออกหนังสือเดินทางโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ว่า ปัจจุบันมีประชาชนเดินทางไปติดต่อขอทำพาสปอร์ตและต่อพาสปอร์ต วันหนึ่งประมาณ 10,000 เล่ม ซึ่งในการทำ e-Passport นั้น กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ไปตกลงว่าจ้างบริษัทหนึ่งให้ดำเนินการดังกล่าวโดยมีสัญญาว่าจ้างระบุไว้จำนวน 7 ล้านเล่ม หากการดำเนินการ e-Passport ครบ 7 ล้านเล่มถือว่าหมดสัญญา ซึ่งสัญญาดังกล่าวทำเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา และจนถึงขณะนี้เหลือพาสปอร์ตอยู่จำนวนประมาณ 30,000 เล่มก็จะครบ 7 ล้านเล่มตามสัญญาว่าจ้างที่ตกลงไว้ โดยหากนับจากวันนี้จะเหลือเวลา 3 วัน หรือไม่เกินวันที่ 3 มีนาคม 2560 ก็จะครบตามสัญญาดังกล่าวแล้ว ซึ่งถ้าเลยวันที่ 3 มีนาคม 2560 ประชาชนหรือบุคคลใดจะไปขอทำพาสปอร์ตไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่าได้มีการคิดและจัดเตรียมเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว โดยมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Bidding เพื่อหาบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ต่อ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 1 ปี ในการดำเนินการ ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี เนื่องจากต้องมีลายน้ำ ลายเส้น และต้องมีการประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลด้านความมั่นคงของทุกประเทศ เพราะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องการดูแลความมั่นคงและความปลอดภัยของทุกประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเขียนร่างขอบเขตงานจ้างหรือ TOR ได้ง่าย ๆ ซึ่งระหว่างที่รอการดำเนินการดังกล่าว 1 ปี นั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้หาแนวทางออกไว้โดยจะทำสัญญาใหม่กับบริษัทเดิมหรือ Repeat Order กับบริษัทเดิมต่อไปอีก 1 ปี เพื่อให้สอดคล้องและบรรจบกับห้วงเวลาที่ทำ e-Bidding โดยเก็บค่าบริการกับประชาชนสำหรับการทำพาสปอร์ต 1,000 บาท ซึ่งการที่กระทรวงการต่างประเทศจะทำ Repeat Order กับบริษัทเดิม จึงได้นำสัญญาในการที่จะทำ Repeat Order ดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยสำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีข้อตกลงในสัญญาว่าจ้างกับบริษัทเดิมอยู่ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน และหากจะดำเนินการก็จะถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบและพบเป็นความผิด ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการออกมาตรา 44 เพื่อให้บริษัทเดิมทำงานไปก่อน 1 ปี ระหว่างที่รอทำ e-Bidding ให้บริษัทใหม่เข้ามาดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตามที่ประชุม คสช. ยังไม่มีมติที่จะให้มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 แต่มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะให้บริษัทเดิมทำหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะได้ e-Bidding โดยมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม ในการที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สตง. สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ ไปหารือร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจกับ สตง. ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างเหมาะสมโดยไม่ยึดเพียงกฎ กติกา หรือระเบียบอย่างเดียวแต่ให้พิจารณาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันประกอบการดำเนินการ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ทั้งนี้ หาก สตง. ยังยืนยันว่าไม่สามารถดำเนินการได้ จึงค่อยกลับมาพิจารณาในเรื่องการออกคำสั่งตามมาตรา 44 อีกครั้ง
-----------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th