รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ฯ เปิดงาน คนกล้าคืนถิ่น Digital Farmer เกษตร 4.0 สนับสนุนคนรุ่นใหม่คืนถิ่นเพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวทั่วไป Friday March 3, 2017 13:41 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน คนกล้าคืนถิ่น Digital Farmer เกษตร 4.0 สนับสนุนคนรุ่นใหม่คืนถิ่นเพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วันนี้ (3 มี.ค.60) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “คนกล้าคืนถิ่น Digital Farmer เกษตร 4.0” และมอบนโยบายเพื่อสนับสนุนบูรณาการโครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” เพื่อสร้างแรงจูงใจ และสนับสนุนคนสมัยใหม่ให้คืนถิ่นทำการเกษตร เพื่อช่วยขับเคลื่อนสังคมให้มั่นคงต่อไป จัดโดยสำนักงานโครงการคนกล้าคืนถิ่น มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทยร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ กว่า 30 องค์กร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 5 มีนาคม 2560 ในรูปแบบนิทรรศการภายใต้แนวคิด “คนกล้าคืนถิ่น” Digital Farmer : Reconnect Life to the Nature โดยยึดเป้าหมายหลักของโครงการฯ เหมือนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิดโดยใช้ความรู้ความสามารถที่มีไปประยุกต์ใช้กับอาชีพเกษตรกรตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้ง โครงการคนกล้าคืนถิ่น มีเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างต้นแบบการใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเองได้อย่างพอเพียง รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดได้อย่างมีประสิทธิผล และเพื่อกลับไปเป็นต้นแบบและผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น ผ่านกระบวนการบ่มเพาะ หนุนเสริม ร่วมคิด พาลงมือทำและติดตามจนสัมฤทธิ์ผลเพื่อนำประโยชน์ที่ได้ไปพัฒนาอาชีพเกษตรกรและถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นในหมู่บ้าน โดยปีนี้ ยังคงเฟ้นหาคนกล้าที่รักบ้านเกิดและพร้อมให้โครงการฯ ไปเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือแนะนำสิ่งต่าง ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยมี พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการดำเนินการโครงการคนกล้าคืนถิ่น คณะกรรมการฯ ผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชน ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มผู้แทนคนกล้าคืนถิ่น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความชื่นชมพร้อมขอบคุณผู้ที่ริเริ่มโครงการคนกล้าคืนถิ่นนี้ที่ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ แต่ปัจจุบันคนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเริ่มลดน้อยลง เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่จบการศึกษาแล้วมักจะหางานทำในเมืองใหญ่มากกว่ากลับไปทำงานในถิ่นเกิดหรือดำเนินชีวิตทำการเกษตรเหมือนเช่นพ่อแม่หรือบรรพบุรุษของตน ซึ่งมีอายุมากขึ้นและไม่มีผู้มาช่วยสานต่ออาชีพเกษตรกรรม จึงต้องอาศัยบุคคลอื่นให้มาช่วยโดยประสานติดต่อผ่านโทรศัพท์ให้มาไถ่ หว่าน และเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรจึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะสังคมโดยรวมของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ จึงต้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งโครงการคนกล้าคืนถิ่นถือเป็นโครงการที่ดีที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นในระยะเริ่มต้น หากได้มีการขยายผลอย่างต่อเนื่อง และมีผู้กล้าทั้งเข้ามาร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้เกษตรกรที่มีความรู้กลับไปเป็นผู้นำในการพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเอง โดยเฉพาะการให้คำแนะนำและความรู้ต่าง ๆ กับพ่อ แม่ ญาติ พี่น้องที่เคยทำนาหรือการเกษตรแบบดั้งเดิม ให้สามารถพัฒนาและนำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้าไปช่วยในการทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งขอชื่นชมคนรุ่นใหม่และคนกล้าทุกคนที่ได้คืนถิ่นกลับมาทำการเกษตร และใช้ความรู้ความสามารถที่แต่ละคนมีอยู่ไปประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรกรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดี เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชต่าง ๆ และทำการเกษตร อย่างไรก็ตามหากบุคคลใดที่ยังไม่มีความรู้ในเรื่องการทำเกษตร สามารถเข้ารับการฝึกอบรมจากโครงการต้นกล้าคืนถิ่นได้ ซึ่งมีการจัดฝึกหลักสูตรผ่านการเรียนรู้ทางทฤษฎี 4 วัน 4 คืน และมีการฝึกปฏิบัติในพื้นที่จริงอีก 5 เดือน ทำให้สามารถที่จะเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพได้ ขณะเดียวกันในส่วนของรัฐบาล ได้ให้การสนับสนุนเรื่องการทำการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำเกษตรแปลงใหญ่ และการทำเกษตรแบบใหม่ หรือ Digital Farmer โดยมีการนำสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร ซึ่งปีนี้รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว 99 ชุมชน ใน 13 จังหวัด และจะมีการขยายให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถศึกษาหาความรู้ได้ และเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการจำหน่ายสินค้าโดยไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางเหมือนในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งมีการสนับสนุนการนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาใช้ ทั้งความรู้ที่ได้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม และความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่มาปรับใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตอีกด้วย

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะให้มีการนำองค์ความรู้ในเรื่องของภาวะผู้นำและวิชาครู บรรจุเพิ่มในหลักสูตรการฝึกอบรมโครงการคนกล้าคืนถิ่น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเป็นผู้นำในการจะแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อรวมกลุ่มพัฒนาคนในพื้นที่ของตนเองในการดำเนินการและสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้สามารถขยายผลคนกล้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

ด้าน นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการดำเนินการโครงการคนกล้าคืนถิ่น ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ได้ส่งเสริมสนับสนุนงานของภาคประชาชนด้วยดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกล่าวว่า โครงการคนกล้าคืนถิ่นเริ่มเปิดพื้นที่บูรณาการความร่วมมือดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมีมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เป็นผู้สนับสนุนหลัก โดยมี พลเอก อุดมเดช สีตบุตร เป็นประธานอำนวยการโครงการฯ พร้อมภาคส่วนต่าง ๆ ทำการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ในเมืองกลับสู่วิถีเกษตรยั่งยืน ทั่วประเทศ 730 คน เพื่อร่วมกันทดลองและพิสูจน์ว่าในพื้นที่ขนาดไม่เกิน 3 ไร่ ถ้าเข้าใจธรรมชาติและวางแผนดีจะมีชีวิตที่มีความสุขอย่างสมดุลพอเพียง โดยในปี 2559 จากการสนับสนุนหลักของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มคนกล้าคืนถิ่นอีก 1,210 คน เพื่อเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจและเตรียมพร้อมรองรับกลุ่มนักเรียนออกกลางคัน (Drop Out) ให้กลับมาใช้แปลงเกษตรเป็นห้องเรียน ศึกษาต่อแบบ Project Based และ Problem Based Learning ขณะที่พึ่งตนเองได้ด้วย (เรียนไปมีกิน จบมามีตังค์) สำหรับการจัดงานวันนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 และได้ผลตอบรับจากประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังไม่มีความรู้และความเข้าใจในการใช้ชีวิตแบบเกษตร ดังนั้น โครงการนี้จึงได้สนับสนุนให้เยาวชนยุคใหม่ที่หันมาสนใจในการใช้ชีวิตด้วยวิถีเกษตรแบบพอเพียง มั่งคั่ง และสามารถใช้ได้จริง โดยมีหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีความรู้และเข้าใจในเรื่องเกษตร เพื่อเป็นแรงผลักดันให้หันมาใช้ชีวิตด้วยวิถีเกษตรแบบพึ่งพาอย่างมีความสุข

ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การเสวนาคนกล้า เรื่องเข้าใจธรรมชาติ...แล้วดีอย่างไร จาก ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ผู้ก่อตั้งวนเกษตรเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว การสร้างคุณค่าจากธรรมชาติ และนิเวศป่าได้อย่างสมบูรณ์ Mr.Damien Bohler: Permaculture Expert from Australia อาจารย์จุลพร นันทพานิช สถาปนิกและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ออกแบบการเกษตรให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เสวนาการทำเกษตรแบบเข้าใจธรรมชาติ โดยชุมนุมปราชญ์ของไทยรวมทั้งผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากคนกล้าฯ ในโครงการ นิทรรศการจากเหล่าคนกล้า เช่น การสาธิตการทำอาหาร Digital Farmer Show Zero waste House Show (บ้านศูนย์เสียและฟิตเนสผลิตพลังงาน) ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเดียดได้ที่ https://www.facebook.com/konglakuentin/

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ คนกล้าคืนถิ่น Digital Farmers ซึ่งเป็นผลจากกระบวนการปฏิบัติการทดลองทางสังคม (Social lab) ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมาซึ่งได้นำมาจัดแสดงไว้ ณ บริเวณหน้าห้องอเนกประสงค์ หอศีลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ