วันนี้ (8 มี.ค.60) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “วิสัยทัศน์รัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย : Thailand Digital Government Vision 2017 – 2021” จัดโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชการทุกภาคส่วนรับทราบการประกาศแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ตลอดจนเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพื่อเน้นย้ำยุทธศาสตร์ชาติด้านดิจิทัล สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับศักยภาพของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ และให้ความมั่นใจแก่ภาคประชาสังคมเห็นถึงการให้ความสำคัญของการทำงานอย่างโปร่งใสและต่อต้านการทุจริต โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ผู้บริหาร ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ประมาณ 500 คน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงการจัดงานดังกล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการฐานข้อมูลกลาง ร่วมกัน และเชื่อมโยงไปยังศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรีหรือ PMOC เพื่อให้การกำหนดนโยบาย บริหารจัดการ และการตัดสินใจแก้ปัญหาบ้านเมืองในแต่ละเรื่องได้มาจากข้อมูลที่ถูกต้อง มีคุณภาพ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการฐานข้อมูลกลางภาครัฐ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีคณะกรรมการฯ 4 คณะ 1. คณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและบริการภาครัฐ มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก 2. คณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลด้านความมั่นคง มีส นักงานเลขาธิการสภาความ มั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลัก 3. คณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลน้ และ ภูมิอากาศแห่งชาติ มีสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก และ 4. คณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลด้านทรัพยากรและบริหารโครงสร้างภาครัฐ มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลัก โดยมีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในขณะนั้น ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการชุดใหญ่และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ อีจีเอ (EGA) เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการในแต่ละชุด โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การ มหาชน) จึงได้จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2559 - 2561) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 เพื่อใช้ เป็นกรอบแนวทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และกำหนดทิศทางในการยกระดับขีดความสามารถเชิงดิจิทัลของภาครัฐไทยให้เป็นเอกภาพและเป็นรูปธรรม โดยแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลดังกล่าว มีความครอบคลุม 18 ขีดความสามารถ (Domain) จากทั้งหมด 26 ขีดความสามารถ (Domain) ต่อมา อีจีเอ ได้ทบทวนแผนฉบับดังกล่าว เพื่อให้ครอบคลุมอีก 8 ขีดความสามารถประกอบด้วย ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการคมนาคม ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ด้านการบริหารสินทรัพย์ ด้านทรัพยากรมนุษย์และการจ่ายเงินเดือน ด้านการเงินและการใช้จ่าย และเพิ่มเติมใน รายละเอียดอีก 2 ขีดความสามารถประกอบด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลดิจิทัล และศักยภาพบุคลากรภาครัฐ โดยพัฒนาเป็นแผน 5 ปีที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ชื่อ แผนพัฒนารัฐบาล ดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมี 4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1. ยกระดับตัวชี้วัดสากลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส 2. บริการภาครัฐตอบสนองประชาชน ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ โดยไม่ต้องใช้สำเนาเอกสาร 3. ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้สะดวก และเหมาะสม เพื่อส่งเสริมความ โปร่งใส และการส่วนร่วมของประชาชน 4. มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐ การจัดเก็บและบริหารฐานข้อมูลที่บูรณา การไม่ซ้ำซ้อน สามารถรองรับการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงาน และให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา อีจีเอ ได้มีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของแผนฯ ดังกล่าว และรายงานต่อคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 เช่น การลดสำเนากระดาษเพื่อบริการประชาชน (Smart service) ซึ่งในปัจจุบัน มีการวิเคราะห์และออกแบบระบบบริการให้แก่หน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ รวมจำนวนระบบบริการทั้งสิ้น 30 บริการ และมีการให้บริการ API (Application Programming Interface) ในการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนราษฎร์เข้ากับระบบบริการ ของการประปาส่วนภูมิภาค ตู้บริการเอนกประสงค์ของรัฐ (Government Smart Kiosk) ซึ่งเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลตนเอง โดยใช้บัตรประชาชนในการดูข้อมูล และสิทธิต่าง ๆ ของตนเอง เช่น ข้อมูลทะเบียนราษฎร ข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาล การอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการเริ่มต้นธุรกิจ (Biz Portal) ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน ที่สามารถติดต่อขอ เริ่มต้นธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเว็บไซต์ biz.govchannel.go.th ระบบการให้บริการข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer One) ซึ่งเป็น ระบบรวบรวมข้อมูลของเกษตรกรรายบุคคล ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร การถือครองที่ดิน รวมถึงบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเกษตรกรร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล (Thailand Digital Government Academy : TDGA) เป็นแกนหลัก และศูนย์กลางในการยกระดับศักยภาพบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล โดยร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในการจัดทำมาตรฐานทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้กับบุคลากรภาครัฐแต่ละตำแหน่งในแต่ละระดับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มั่นใจว่า หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแท้จริง ประเทศชาติจะได้รับผลประโยชน์อย่างยิ่งทั้งด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นทางเศรษฐกิจของประเทศ ความมั่นคงและปลอดภัยสาธารณะไปจนถึง การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “รัฐบาลดิจิทัล กุญแจสู่ประเทศไทย 4.0 : Digital Government the Key success to Thailand 4.0” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นวันที่ทุกคนจะได้ร่วมกันทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลกำหนด และให้สอดคล้องและทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยหากทุกคนร่วมมือกันเร่งรัดดำเนินการด้วยแผนงานที่รัดกุมครอบคลุมเป็นไปตามเป้าหมายและสิ่งที่ประชาชนต้องการก็จะทำให้การดำเนินการรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีดิทัลเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนสังคม โดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร การท่องเที่ยว การศึกษา การแพทย์ การลงทุน การป้องกันและแก้ปัญหาภัยพิบัติ การดำเนินชีวิตของคนในสังคม รวมถึงการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งในมิติการให้บริการประชาชน มิติการบริหารจัดการภาครัฐ และมิติ การกำหนดนโยบาย ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจึงต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชน และการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อสร้างมิติใหม่ในการบริหารจัดการภาครัฐไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาและยกระดับการทำงานของภาครัฐ จึงได้ประกาศวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในการมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ว่า “ในอีก 5 ปีข้างหน้า ภาครัฐไทยจะยกระดับสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีการทำงานแบบอัจฉริยะ ให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง” โดยอยู่บนพื้นฐานของการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง หน่วยงาน (Government Integration) การนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลมาสนับสนุน การปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสม (Smart Operations) ประหยัด และคุ้มค่า การยกระดับงานบริการภาครัฐให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (Citizen-centric Services) และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัลในทุกระดับของบุคลากรภาครัฐ ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กรในด้านขั้นตอนการทำงาน เทคโนโลยี และกฎระเบียบ (Driven Transformation) และยืนยันการดำเนินการดังกล่าวว่า จะไม่ทิ้งประชาชนกลุ่มใดไว้ข้างหลัง โดยจะดำเนินการการบูรณาการความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นหลักในการที่จะร่วมมือกันดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทุกคนต้องมีการพัฒนาตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานด้วยการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลที่เข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานที่เหมาะสม ประหยัดและคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนของรัฐบาลจะทำหน้าที่ในการติดตามกำกับดูแลให้การสนับสนุนการทำงานของส่วนราชการหรือองค์กรมหาชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ของส่วนราชการให้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ในการเดินหน้าประเทศ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ในยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งจะต้องพัฒนาไปสู่ความทันสมัย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในเรื่องนี้จะทำอย่างไรให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในการประสานงานหรือประชุมร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน ทั้งการบูรณาการเจ้าหน้าที่ ซึ่งวันนี้มีความคืบหน้าที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ภายใต้การดำเนินการของ Thailand Digital Government Academy หรือ TGDA ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรภาครัฐ ในการร่วมมือกันพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรภาครัฐให้เท่าทันเทคโนโลยีพร้อมทั้งปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ รวมไปถึงการบูรณาการแผนงาน/โครงการ และงบประมาณ ตามยุทธศาสตร์ของแต่ละกระทรวงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์ประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนต้องสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐอันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งในสังคมเพื่อขับเคลื่อนประเทศเดินหน้าต่อไปได้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บุคลากรภาครัฐทุกระดับจะต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยต้องพัฒนาตัวเองให้เท่าทันกับความก้าวหน้าของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งมีการพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันขอให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขอความร่วมมือที่จะจัดห้องเทคโนโลยีดิจิทัลหรือคอมพิวเตอร์ตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนสามารถนำความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่นได้ ซึ่งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า การพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 จึงต้องเริ่มจากการปรับวิธีคิดของการทำงานให้แตกต่างไปจาก รูปแบบเดิม โดยใช้วิทยาศาสตร์และการวิจัยมาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและพัฒนา ทั้งภาคธุรกิจ ภาคสังคม ภาคการบริหาร ภาคการศึกษา ภาคการแพทย์และสาธารณสุข และอื่น ๆ เพื่อจะได้เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันไปสู่ประเทศไทย 4.0 ที่มีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับการปฏิรูประบบบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐให้มีประสิทธิภาพนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสรรหาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถและสมรรถนะสูงเข้ามาสู่ระบบราชการ ให้ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เหมาะสมกับลักษณะของงานและความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญคือการพัฒนาบุคลากรภาครัฐในทุกระดับให้ได้รับความรู้ความสามารถและความเข้าใจให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้การให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับรูปแบบและวิธีการดำเนินการของภาครัฐในลักษณะของประชารัฐจะเป็นการส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเกิดความร่วมมือกันทำงาน ได้ดีและครอบคลุมทั้งกระบวนการ พร้อมทั้งการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภายในองค์กร ด้วยการวางระบบสารสนเทศ การจัดการแบบออนไลน์ในการประเมินความก้าวหน้า การเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้สะดวกขึ้น เช่น Agri-Map เป็นแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก เป็นต้น รวมทั้งรูปแบบการให้บริการของรัฐควรให้บริการในลักษณะของระบบดิจิทัล เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงานและเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตและความต้องการของผู้รับบริการ โดยใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนกระดาษ การอำนวยความสะดวกแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานของรัฐได้อย่างเป็นธรรม และให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้รับบริการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ได้รับความสะดวก และตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงต้องทุ่มเทและมุ่งมั่นพัฒนาทั้งในส่วนทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น ตลอดทั้งมีความโปร่งใสในการบริการอย่างจริงจัง
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี และนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ (Digital Government Skill Development) ระหว่างสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อแสดงจุดยืนการเตรียมความพร้อมบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรภาครัฐทั้งในระดับบริหารและเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำเทคโนโลยีมาพัฒนาองค์กรสู่รัฐบาลดิจิทัล และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการประชาชนในรูปแบบใหม่ รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาองค์ความรู้และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการให้บริการประชาชน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีและนโยบายรัฐบาลเพื่อรองรับการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ต่อไป
จากนั้น นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำพิธีเปิดงานโดยการแตะสัญลักษณ์โลโก้งาน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ ณ บริเวณโถงกลาง
สำหรับกิจกรรมภายในงานสัมมนาดังกล่าวนอกจากมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ แล้ว ยังมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันภาษีไปไหน และเว็บไซต์ภาษีไปไหน ระยะที่ 2 ซึ่งพัฒนาจากชุดข้อมูลเปิดตัวด้านการจัดสรรงบประมาณตามเล่มขาวคาดแดงโดยสำนักงบประมาณ ข้อมูลการจัดซื้อ จัดจ้าง และสถานการณ์เบิกจ่ายที่เปิดเผยโดยกรมบัญชีกลางและเพิ่มช่องทางรับฟังความคิดเห็นและรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้สามารถส่งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นต้น
-------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th