วันนี้ (3 เมษายน 2560) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้รับทราบข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า หนี้ครัวเรือนของไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยเมื่อปีที่แล้วสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ลดลงจากร้อยละ 81.2 ในปี 2558 เหลือร้อยละ 79.9 ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของจีดีพีที่สูงกว่าหนี้ครัวเรือน
“ท่านนายกฯ เน้นย้ำว่า การกู้เงินของพี่น้องประชาชนและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินอย่างระมัดระวัง มีส่วนทำให้หนี้ครัวเรือนของประเทศลดลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรายบุคคลที่ก่อนหน้านี้เป็นตัวก่อหนี้จำนวนมาก ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนรักษาวินัยในการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม รู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่าย สร้างรายได้จากอาชีพเสริมและออมเงิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สินรุงรังในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะต่ำลง แต่ภาระหนี้สะสมยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและกำลังซื้อภาคครัวเรือน รวมทั้งตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ออกมาเป็นหนี้สินที่อยู่ในระบบสถาบันการเงิน แต่ในความเป็นจริงหนี้ครัวเรือนบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอาจมีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ
“รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างครบวงจร เพื่อลดภาระหนี้และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีหนี้ครัวเรือนมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น เปิดลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น รวมทั้งรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมกัน”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่าหนี้สินที่เพิ่มขึ้น แม้จะเป็นปัญหาของครัวเรือน แต่ในที่สุดจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เกิดความเครียดและปัญหาอาชญากรรมตามมา รวมทั้งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยสิ่งสำคัญที่สุดนอกเหนือจากการทำให้ตัวเลขหนี้ลดลงแล้ว ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันสร้างความรู้และปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้แก่ประชาชน เพื่อแก้ไขพฤติกรรมการบริโภคที่เกินตัว และรู้จักบริหารจัดการด้านการเงินอย่างถูกต้อง
……………………………………………………….
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th