วันนี้ (19 เมษายน 2560) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 4/2560
ภายหลังเลิกการประชุมเวลาประมาณ 12.00 น. พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยคณะได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า การประชุมในวันนี้มีการพิจารณาหลายเรื่องซึ่งมีความคืบหน้ามากพอสมควรและเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนอย่างเป็นระบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งนี้ มีการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างบูรณาการด้วยความร่วมแรงร่วมใจของหลายหน่วยงาน เนื่องจากบางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น อีกทั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นให้ทุกหน่วยงานได้ช่วยกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เรื่องการจัดทำกฎหมาย อนุบัญญัติกฎหมายกว่า 90 ฉบับ ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว โดยยังเหลือตกค้างอยู่เพียง 1 ฉบับ และในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมภาคีความตกลงของ UNFSA (ความตกลงว่าด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล) และ SIOFA (ภาคีความตกลงการทำประมงสำหรับพื้นที่ตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย) โดยในขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการจัดทำสารการเข้าเป็นภาคียื่นต่อ UN และ DE เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนผลการตรวจประเมินเทคนิคและการหารือกับ EU ในการแก้ไขปัญหาประมงตั้งแต่วันที่ 17 - 24 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น ทาง EU ได้สรุปประเด็นออกมาว่า ประเทศไทย มีความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไข แต่ยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการแก้ไขอยู่ใน 4 ประเด็นได้แก่ (1) กรอบกฎหมาย (2) การจัดการกับกองเรือ เฝ้าระวัง (3) เรื่องการติดตามควบคุมดูแลในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการด้านปกครอง (4) เรื่องด้านแรงงาน ซึ่งในขณะนี้กำลังมีการดำเนินการแก้ไขในด้านกฎหมาย และการควบคุมทางเรือให้สอดคล้องกัน โดยต้องมีการเร่งติดตามเรือที่ไม่มีทะเบียน ไม่มีใบอนุญาต รวมถึงเรือที่จมไปแล้วหรืออัปปางไป และเร่งดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการของเรื่องให้มีความชัดเจน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจติดตามเรือในมีการเชื่อมโยงครอบคลุมกันทั้งระบบ รวมถึงการเข้มงวดในการลงโทษเพื่อให้เรือประมงที่ผิดกฎหมายจะได้ไม่ออกไปทำการประมงอีก
ทั้งนี้ ทาง EU ก็พึงพอใจและเปิดรับฟังข้อแก้ไข และข้อเสนอแนะของไทย ซึ่งทาง EU ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจของประเทศไทยในการดำเนินการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในครั้งนี้ด้วย ในขณะเดียวกันทาง คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 22/60 ในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายเพิ่มเติมในครั้งที่ 4 นี้ เพราะต้องการเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างรวดเร็ว และรองรับการเข้ามาตรวจสอบมาตรฐาน เช่น ตรวจสอบเรือ การขนถ่ายนอกจากท่าเรือที่ได้กำหนด และรวมถึงการต่อเรือ การเปลี่ยนเรือ การขอใบอนุญาตบังคบใช้เรือ และใบอนุญาตทำการประมง จึงเห็นได้ว่าทางรัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา และให้ถือเป็นวาระแห่งชาติ
สำหรับการทำประมงโพงพาง ทาง EU แจ้งว่าการทำประมงโพงพางนั้น โดยเฉพาะในเรื่องของอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ไม่ถูกหลักในการทำประมงชายฝั่ง และการทำประมงดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการเสียสมดุลทางธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งในระยะยาว รวมทั้งเป็นปัญหาในเรื่องของการสัญจรทางน้ำด้วย โดยการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวนั้น เริ่มตันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งกำลังดำเนินการตรวจสอบว่าการทำประมงโพงงพางมีจำนวนเท่าไร โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัด สงขลา พัทลุง ตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงสิ่งที่ชาวบ้านได้กระทำมา ซึ่งทางรัฐบาลเข้าใจว่าเป็นวิถีชีวิตดังเดิม แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป กติกาสากลเกิดขึ้น ทรัพยากรชายฝั่งลดลง จึงจำเป็นตองปรับเปลี่ยนทำความเข้าใจ โดยทางรัฐบาลได้มีการช่วยเหลือเงินโดยทางธนาคารออมสินได้เข้าไปช่วยในเรื่องของเงินกู้ในการปรับเปลี่ยนอาชีพ
นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย โดยปัญหาดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกันกับปัญหาการทำประมงหรือ IUU โดยปัญหาการค้ามนุษย์นั้นถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ที่รัฐบาลถือให้เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นวาระแห่งชาติ และเรื่องเหล่านี้มีความเชื่อมโยงในเรื่องของปัญหาอาชญากรรมด้านยาเสพติด การลักลอบเข้าเมือง การค้าประเวณี ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่บั่นทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อีกด้วย ดังนั้นรัฐบาลกำลังดำเนินการวางรากฐานในการแก้ปัญหาหารค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายอย่างครบวงจร ซึ่งได้เนินการใน 6 ด้านด้วยกันควบคู่กันไป พร้อมทั้งมีการแก้ไขและเพิ่มเติมกฎหมายที่เป็นอยู่ในครอบคลุมมากขึ้น เพื่อป้องกันและป้องปราบคุ้มครองแรงงาน และเพิ่มโทษด้วย โดยกำหนดมาตรการในเรื่องของการขนถ่ายลูกเรือทางทะเล รวมถึงเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง โดยเฉพาะ พรบ.กำหนดคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างทั้งภายประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการกำหนดและการดำเนินการทางอนุสัญญาของอาเซียน โดยทางรัฐบาลกำลังดำเนินการขับเคลื่อนในอาเซียนตามอนุสัญญาของอาเซียน พร้อมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ซึ่งทางรัฐบาลให้การคุ้มครองเหยื่อ และรวมถึงการเยียวยาผู้เป็นเหยื่อ รวมถึงการดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์แรกรับและสิ้นสุดการจ้างงานซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องด้วยการบังคับการใช้กฎหมายการค้ามนุษย์ในการตรวจเป้าหมายกลุ่มเสี่ยงทางเรือ และบริเวณท่าเรือ หรือโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ รวมถึงการสำรวจและการวางรากฐานของการป้องกันในการปัญหาของการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง
โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงเพิ่มเติมว่าการแก้ไขปัญหาในเรื่องของความเลื่อมล้ำในสังคมในเรื่องการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมโดยเฉพาะในเรื่องของที่ดินทำกิน ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลได้เล่งเห็นและให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้ดำเนินการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาและลดปัญหาเรื่องความเลื่อมล้ำของสังคม โดยปัจจุบันทางรัฐบาลกำลังดำเนินการจัดตั้งธนาคารที่ดิน และจัดทำร่าง พรบ. ธนาคารที่ดิน โดยเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะว่าทางรัฐบาลต้องการลดปัญหาความเลื่อมล้ำในสังคม และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการกระจายการถือครองที่ดิน อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมอีกด้วย และรัฐบาลเห็นความสำคัญ โดยกำหนดภารกิจของธนาคารที่ดินอยู่ 4 ประการหลัก ๆ ได้แก่ 1) การลดปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ที่ยากจน 2) การกระจายสิทธิในที่ดิน ก็จะเร่งพยายามกระจายสิทธิถือครองที่ดินให้กับเกษตรกร 3) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มศักยภาพ 4) การจัดทำข้อมูลที่ดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ทันสมัย
ส่วนเรื่องการบินพลเรือน ICAO (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ) ให้ได้มาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับของนานาชาตินั้น มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยทาง กรมการบินพลเรือน ได้แจ้งผลการความคืบหน้า ในการปรับมาตรฐานด้านการบินพลเรือนตามข้อกำหนดเพื่อเตรียมยื่นตรวจสอบในเรื่องการรักษาความปลอดภัยด้านการบินใน 4 หัวข้อ ได้แก่
1. การออกใบอนุญาตเดินอากาศ โดยสายการบินที่บินอยู่ในประเทศไทย โดยดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เชิญสายการบินต่าง ๆ เข้ารับการตรวจสอบ เพื่อออกใบเดินอากาศใหม่ ที่ดำเนินเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ และไทยแอร์เอเชีย ที่ได้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ในข้อบังคับระเบียบใหม่ และยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการ เช่น ไทยสมาย์ แอร์เอเชียเอ็กซ์ โอเรียนท์ และนกแอร์ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้จะมีความชัดเจนทั้งหมดในเรื่องของการออกใบรับรองผู้ดำเนินการใหม่ ซึ่งถือเป็น 1 ในกระบวนการที่ทาง รมการบินพลเรือน ต้องรายงานกับทาง ICAO ด้วย
2. เรื่องเตรียมตัวของยื่นการตรวจสอบ ICVM ซึ่งเป็นการตรวจสอบมาตรฐานของทาง ICAO ที่ได้เช็คลิสต์มาว่าต้องผ่านมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งทางเราได้ดำเนินการเตรียมการอยู่ในเรื่องของการปรับปรุงระเบียบต่าง ๆ เรื่องของเอกสารตาม ICAO ได้แนะนำมา ซึ่งในปัจจุบันในส่วนของความคืบหน้าในดำเนินการแก้ไข SSC ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ ICAO เร่งในการดำเนินการแก้ไข ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 75 เปอร์เซ็นต์
3. เรื่องของการเตรียมการรับการตรวจสอบในด้านของความปลอดภัย ซึ่งในส่วนนี้ต้องให้ทาง ICAO เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสนามบิน กำหนดการนั้นทาง ICAO จะดำเนินการตรวจสอบสนามบินในประเทศไทยหลัก ๆ 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง ซึ่งจะดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ระหว่างนี้กรมการบินพลเรือนจะได้ประสานงานกับทางสนามบินดังกล่าวให้เตรียมความพร้อมรองรับการตรวจสอบจาก ICAO
4. การเตรียมยื่นเรื่องขอรับการตรวจสอบจาก FAA โดยทาง FAA ได้แจ้งมายังประเทศไทยได้รับทราบแล้วว่าจะให้การสนับสนุนการประเมินความพร้อมของการบินพลเรือนของประเทศไทย ในส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายทางประเทศไทยต้องเป็นผู้ดำเนินออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด โดยในขณะนี้กำลังขอรับรับการสนับสนุนงบประมาณจากทางกระทรวงคมนาคม ซึ่งในเรื่องของการปลดธงแดงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ และมีผลในเรื่องของการบินอีกด้วย และต้องดำเนินการในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และมีมาตรฐาน
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลในเรื่องของเสถียรภาพสินค้าเกษตรและรายได้ของเกษตรกร สินค้าเกษตรที่พูดถึงคือ ข้าวโพด โดยข้าวโพดนั้นมีปัญหาในเรื่องของการปลูกไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกที่มีจำนวนมาก แต่ผลผลิตดังกล่าวนั้นไม่สูงราคาผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากคุณภาพและปริมาณ ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในพื้นที่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือปลูกในพื้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนหนึ่งปลูกในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ระบบที่รับซื้อข้าวโพดนั้นจำเป็นต้องรับชื้อในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะเป็นหลักสากล ถ้าจะนำไปขายในต่างประเทศนั้น ทางประเทศที่รับชื้อจะดูว่าปลูกในที่ที่ถูกต้องและถูกกฎหมายหรือไม่ โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้หารือร่วมกับหลายฝ่าย โดยมีการหารือในสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งได้มีการสรุปเหตุผลความจำเป็นโดยจะต้องมีการรักษาเสถียรภาพสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไว้ โดย กษ. ได้ออกมาตรการการแก้ไขหลัก ๆ จะเป็นเรื่องของกาลดหรือเลิกพื้นที่ปลูกที่ไม่ถูกต้อง เช่น บุกรุกพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย นอกจากนั้นจะนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปเพาะปลูกในพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นพื้นที่ถูกกฎหมายไปปลูกทดแทนพืชตัวอื่น เช่น ปลูกในนาข้าว ทั้งนี้จะมีการเข้มงวดกวนขันไม่ให้มีการขายเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย รวมถึงปรับการสัดส่วนในช่วงของการผลิต โดยส่วนใหญ่จะเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน ซึ่งทำให้ผลผลิตมีความชื้น ดังนั้นก็จะปรับสัดส่วนในการผลิตลง จากผลิตในช่วงฤดูฝน ปลายฤดูฝน ฤดูแห้ง ให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ จะมีการพัฒนาการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนผ่านระบบเกษตรแปลงใหญ่อีกด้วย
ส่วนประเด็นพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้นั้นในช่วงเดือนมีนาคม ทาง คสช. ได้มอบหมายให้ทางรัฐบาลจัดเวทีสาธารณะในการรับฟังวามคิดเห็นและสถานการณ์การใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่บริเวณภาคใต้ ทาง คสช. ได้มาชี้แจงให้ที่ประชุมรับทราบถึงความคืบหน้าและบทสรุปในเรื่องดังกล่าวในการจัดเวทีสาธารณะใน 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ และสงขลา ซึ่งในภาพรวมนั้น กิจกรรมที่จัดก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการตอบรับอย่างดีในทุกภาคส่วน การดำเนินนั้นประชาชนต่างให้ความเชื่อมั่นต่อความเป็นกลางของรัฐบาลและของ คสช. ในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อความไม่เพียงพอของปริมาณพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ได้เป็นอย่างดี และต้องการให้จัดและขยายผลกิจกรรมในลักษณะนี้ต่อไป รวมถึงในพื้นอื่น ๆ อีกด้วย
สำหรับประเด็นการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการภัยพิบัติ และภาวะโรคร้อนนั้น ได้มีความคืบหน้าในการร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวโยงกับการบริหารน้ำชุมชน และการบริหารผู้ใช้น้ำ ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ได้ผ่าน การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในชั้นรับหลักการวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 และกำหนดเวลาแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยอยู่ระหว่างพิจารณาเป็นรายมาตรา ซึ่ง ประธานฯ ได้แสดงความห่วงใยและเห็นว่าเรื่องน้ำเป็นเรื่องของความมั่นคงและเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอีกทั้งอาจสร้างความลำบากใจให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำในวงกว้างจึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้น้ำด้วย
ส่วนกรณีโครงการจัดที่พักให้แรงงานต่างด้าวอย่างเหมาะสมเพื่อลดปัญหาอาชญากรรม สาธารณสุข ขยะ สิ่งแวดล้อมและการจัดระเบียบสังคมนั้น มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยจะนำร่องเริ่มทำโครงการนี้ที่จังหวัดระนอง และจังหวัดสมุทรสาครในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตานานาชาติ
ตอนท้ายของการแถลงข่าว โฆษกกระทรวงกลาโหมได้แถลงถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาชุมชนในบริเวณในบริเวณป้อมมหากาฬ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยรัฐบาลได้กำชับในดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอบได้มีการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณถนนเยาราชและถนนข้าวสาร ด้วยการจัดระเบียบทั้งเวลาและสถานที่จำหน่ายอาหารให้สมกับที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้าน “Street Foods” ระดับโลกโดยให้ร้านค้าในบริเวณถนนเยาวราชมีบู้ธจำหน่ายออกแบบเป็น “เก็งจีน” ส่วนที่ถนนข้าวสารออกแบบเป็น “ศาลาไทย” ทั้งนี้เน้นสุขอนามัยความสะอาดของอาหาร ผู้จำหน่าย ผู้ปรุง และผู้เสิร์ฟรวมทั้งภาชนะด้วย อีกทั้งมีสถานที่ล้างจานที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน โดยมีสถานที่ล้างจานเป็นที่เดียวกัน เช่นเดียวกับกับระบบศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้า เพื่อให้เป็นสถานที่สะอาด สะดวกและปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ การจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะอย่างเป็นระบบทั้งจุดบริการจำหน่ายตั๋ว จุดจอดรถแก่ผู้โดยสารมีความเป็นมาตรฐาน โดยห้ามจอดตามศาลาที่พักริมทางซึ่งอันตรายกับประชาชนผู้โดยสาร ทั้งนี้สถานที่ให้บริการจุดต่าง ๆ ดังกล่าวควรมีแสงสว่างเพียงพอ มีที่พักผู้โดยสาร สะอาด ปลอดภัย และมีห้องน้ำบริการทั้งชายและหญิง ตลอดจนเน้นที่นั่งผู้โดยสารในรถตู้ฯ ไม่เกิน 13 ที่นั่ง พร้อมทั้งสมุดจดบันทึกการเดินทางต้นทาง และปลายทาง พร้อมอุปกรณ์ควบคุมการขับรถตามกฎหมายอย่างเข้มข้นอีกด้วย ซึ่งพบว่าสถิติเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีอุบัติเหตุน้อยกว่าปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด และขณะนี้ได้นำร่องตามมาตรการดังกล่าวแล้ว ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยจะขยายผลการให้บริการที่ได้มาตรฐานฯ ของรถตู้ฯ ต่อไปให้ครบถ้วนทุกเส้นทางเพื่อความปลอดภัยของประชาชนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นรูปธรรม
*****************************
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th