วันนี้ (28 เมษายน 2560) เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภายหลังจากเดินทางถึงกรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 และการประชุมสุดยอด อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 28 – 30 เมษายน 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวปิดการประชุม Prosperity for All ซึ่งจัดโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ABAC) ณ ห้อง Grand Ballroom, City of Dreams
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญจากสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของประชาคมอาเซียน ที่ให้เข้าร่วมเสนอแนวคิดเรื่องการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย หรือ MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprises) ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากมีจำนวนรวมกันถึงมากกว่าร้อยละ 95 ของธุรกิจทั้งหมดในแต่ละประเทศสมาชิก หากธุรกิจเหล่านี้มีความเข้มแข็ง ก็เชื่อได้ว่า เศรษฐกิจของอาเซียนและประชาคมอาเซียนจะมีความแข็งแกร่ง และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนของอาเซียน โดยเฉพาะสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ให้ความสนใจกับการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยภาคเอกชนทั้งรายใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยเป็นผู้เล่นหลัก ส่วนภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุน
สำหรับประเทศไทยได้ดำเนินการต่างๆ ที่สอดคล้องกับ แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี ค.ศ. 2025 (ASEAN Economic Community Blueprint 2025) และแผนปฏิบัติการในการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี ค.ศ. 2016 – 2025 โดยเมื่อต้นปีนี้ ไทยได้ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อ SMEs ในแนวทางประชารัฐ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ทุกกลุ่มจังหวัดในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา ให้สามารถกลับไปตั้งต้นเป็นวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อยในภูมิลำเนาได้ และในอนาคตจะเน้นช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ภาคการเกษตร การท่องเที่ยว และภาคบริการที่กาลังเติบโตมากขึ้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า การดำเนินตามแนวทางที่วางไว้ ในการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน ในเรื่องการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เกิดขึ้นได้จริง ความสำเร็จที่เราจะมีต่อไป เป็นสิ่งที่ประเทศไทยพร้อมจะร่วมมือและแบ่งปันโมเดลประเทศไทย เพื่อให้ภูมิภาคมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่พวกเรามี
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ในประชาคมอาเซียนมีจุดเด่น 3 ประการ คือ เป็นแหล่งอาหารของโลก มีศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีความโดดเด่นด้านภาคบริการ โดยเฉพาะบริการที่เชื่อมโยงกับ การท่องเที่ยว ประชากรในอาเซียนซึ่งมีอาชีพเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเกษตร การค้า และการให้บริการมีจำนวนหลายร้อยล้านคน ในส่วนของไทย ก็ได้พยายามพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Young and Smart Farmers ให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านการเกษตรที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ มาช่วยให้สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น รัฐบาลไทยตระหนักดีว่าวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย มีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแค่มิติเศรษฐกิจ แต่ยังครอบคลุมถึงมิติด้านสังคม เพราะมีจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หากสามารถดูแลให้ธุรกิจเหล่านี้ มีความมั่นคงแข็งแกร่งได้ ก็เท่ากับช่วยให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของและลูกจ้างมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นความท้าทายของประเทศไทยและอาเซียนในภาพรวม
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมบทบาทที่สร้างสรรค์ของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนในการจัดการประชุมครั้งนี้ ที่สำคัญยังได้ริเริ่มเครือข่ายผู้นำภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะช่วยกันออกแบบหลักสูตรการพัฒนาระดับสากลให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ในอาเซียน เนื่องจากตลาดโลกมีความท้าทายมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาทุนมนุษย์ให้มากขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนในอาเซียนจะช่วยให้เราสร้างสรรค์ข้อริเริ่มที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคได้ การที่ประเทศสมาชิกร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งต่อไปจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาคมโลกต่อเศรษฐกิจของเอเชีย นายกรัฐมนตรีหวังว่า ทุกฝ่ายจะได้รับแรงบันดาลใจที่จะร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ภายในประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และร่วมมือกันทำงาน เพื่อประโยชน์ของทุกคนและเยาวชนรุ่นหลัง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
.....................
การประชุม Prosperity for all Summit เป็นกิจกรรมที่สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ABAC) ได้ริเริ่มขึ้นในปีนี้ภายใต้หัวข้อ “Driving growth through micro and small entrepreneurs in Trade, Services and Agriculture” ซึ่งในด้านสารัตถะมีความสอดคล้องกับหัวข้อหลักของการเป็นประธานอาเซียน ของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ คือ “Partnering for Change, Engaging the World” และมีจุดประสงค์เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนในอาเซียนโดยเน้นการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อมและรายย่อยในภาคการค้าสินค้า ภาคบริการและภาคการเกษตร ซึ่งจัดคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียน - See more at: http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/3391#sthash.fHSc8G7E.dpuf
ที่มา: http://www.thaigov.go.th