นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย

ข่าวทั่วไป Saturday April 29, 2017 15:31 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซียมาเลเซีย – ไทย

วันนี้(29 เมษายน 2560) เวลาประมาณ 19.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia – Malaysia – Thailand Growth Triangle: IMT – GT) ณ ห้อง Summit Hall C, PICC กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมตรีกล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศสมาชิก IMT-GT ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาอนุภูมิภาคนี้ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อสร้าง IMT-GT ให้เป็นอนุภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงถึงกันตามแนวระเบียงที่ครอบคลุมทั้งสามพื้นที่อย่างทั่วถึง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและปัจจัยเอื้ออำนวยให้ IMT-GT มีความเจริญเติบโตก้าวหน้า เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน มีสันติภาพและความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดช่องว่างระหว่างกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมต่อความสำเร็จในการขับเคลื่อนแผนระยะห้าปีที่ผ่านมา(แผนที่ 2 ปี 2555-2559) แต่อย่างไรก็ดีก็ยังมีเรื่องที่ต้องเร่งรัดดำเนินการให้สำเร็จในช่วงแผนห้าปีระยะต่อไปอีกหลายเรื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในระยะยาวจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคต ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมใน 4 เรื่อง ที่มีกำหนดระยะเวลาการขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จที่ชัดเจน ดังนี้

ประการแรก การพัฒนาด้านความเชื่อมโยงโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีเสนอให้ดำเนินการเชื่อมโยงตามแนวระเบียงต่าง ๆ ให้มีความครอบคลุมทั่วถึง ทั้งระเบียงเศรษฐกิจระนอง-ภูเก็ต-ปีนัง- อาเจห์ เร่งพัฒนาความเชื่อมโยงทางทะเลจากแผ่นดินใหญ่ไปยังสุมาตรา ทั้งด้านเรือสินค้าและเรือสำราญ เร่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนไทย-มาเลเซียด้านตะวันออก และโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีรถไฟทางคู่มาเลเซีย-ไทยและทางหลวงสตูล-ปะลิส เชื่อมโยงทางตะวันตก ไปยังปีนังและเชื่อมโยงทางทะเลไปยังสุมาตรา

สำหรับการเชื่อมโยงทางอากาศ นายกรัฐมนตรีแนะทุกประเทศพัฒนาท่าอากาศยานใหม่หรือขยายท่าอากาศยานนานาชาติเดิมให้เพียงพอรองรับประชาคมอาเซียนและการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวระดับโลกสู่ IMT-GT ต่อไป ด้านการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าอย่างต่อเนื่องและเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นโครงข่ายห่วงโซ่คุณค่าเชื่อมโยงข้ามแดน เช่น ระหว่างเขตเศรษฐกิจสงขลา นราธิวาส ปาเสมัส ชูปิงวัลลี ซาบัง บาตัม บินตัน คาริมุน เป็นต้น ด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร ควรเร่งวางยุทธศาสตร์ร่วมเพื่อเป็นฐานรองรับการพัฒนาที่มั่นคงในอนาคต

ประการที่สอง การพัฒนาด้านการอำนวยความสะดวกให้บรรลุความสำเร็จ เพื่อให้การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนอย่างแท้จริง โดยเร่งสร้างความตกลงด้านการขนส่งทางบกข้ามแดนและผ่านแดน ที่มีความเท่าเทียมในทุกวิธีการขนส่ง ทั้งทางถนนและราง ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ รถบริการนักท่องเที่ยว ผมเห็นว่าทุกฝ่ายควรเร่งรัดด้านการอำนวยความสะดวกให้ก้าวหน้าทุกด้าน เพื่อเสนอต่อการประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไป โดยหารือระดับทวิภาคีได้ด้วย

ประการที่สาม การพัฒนาด้านนวัตกรรม และการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อนำ IMT-GT สู่โลกอนาคต เพื่อเป็นปัจจัยปรับเปลี่ยนในทุกมิติ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบันโดยใช้นโยบาย Thailand 4.0 จุดกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ เทคโนโลยีไอทีและดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพรูปแบบใหม่ ๆ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าทุกประเทศต่างก็เล็งเห็นโอกาสจากการพัฒนาด้านดิจิทัล จึงควรสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดศักยภาพด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ใน IMT-GT โดยเชื่อมโยงโครงข่ายที่มีศักยภาพ เช่น เขตการค้าเสรีดิจิทัลข้ามแดน ฮาลาล อี-คอมเมอร์ส ไอทีเพื่อความมั่นคง และแลกเปลี่ยนการพัฒนาบุคลากรทุกระดับในการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว บริการ และการแปรรูปเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าระดับสูง

ประการสุดท้าย ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผ่านมาทั้งสามประเทศได้ร่วมมือในการพัฒนาเมืองสีเขียวในเมืองต้นแบบในทั้งสามประเทศ ณ เมืองมะละกา บาตัม เมดาน สงขลา และหาดใหญ่ ประเทศไทยเองได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเมืองสีเขียวจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งไทยหวังที่จะเห็นเมืองสีเขียวเติบโตเชื่อมโยงอย่างกว้างขวางใน IMT-GT เพื่อให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก ร่วมกันดูแลสภาพแวดล้อม มีการประหยัดและทดแทนพลังงานที่เหมาะสม พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดแนวคิดไปสู่เยาวชนรุ่นหลัง โดยมี SDGs เป็นเป้าหมายสำคัญ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ