นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กนช. มอบหมาย กษ. มท. และ ทส. ร่วมกันแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนอย่างเป็นระบบ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 3, 2017 14:16 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กนช. ครั้งที่ 1/60 มอบหมาย กษ. มท. ทส. ร่วมแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ให้ทบทวนแก้ไขปัญหาแหล่งกักเก็บน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั่วประเทศ เร่งรัดจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูลน้ำ ป่า ที่ดิน

วันนี้ (3 พฤษภาคม 2560) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2560 โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

ภายหลังการประชุม นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้แถลงผลการประชุมว่า รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย มาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการประชุมวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกันแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นให้มีการทบทวนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร รวมถึงการประกันภัยทางการเกษตร เชื่อมโยงกับแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-map) และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรโดยกระบวนการแปรรูป การสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับภาคประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และการจัดหาแหล่งน้ำดิบให้กับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ ยังกำชับให้เร่งรัดจัดหาระบบประปาหมู่บ้านให้ครบทุกหมู่บ้านให้เป็นไปตามแผน พร้อมทั้งเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูลน้ำ ป่า และที่ดิน โดยให้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

พร้อมกันนี้ ในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำโดยความร่วมมือของกองทัพบกร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ จำนวน 22 โครงการ ในพื้นที่ 15 จังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก การกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร ประมาณ 2,600 ไร่ มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3.57 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมอบหมายให้ กษ. นำแผนพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประกอบด้วย บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ บึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา และหนองหาน จังหวัดสกลนคร ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับกรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทานให้ร่วมกันทบทวนการใช้ประโยชน์จากน้ำในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม ซึ่งมีศักยภาพสามารถนำน้ำมาใช้ได้ในพื้นที่ภาคตะวันออก รองรับการพัฒนาได้ไม่น้อยกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อีกทั้งให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นเจ้าภาพในการหารือเพื่อเร่งรัดการทบทวนและปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำตามภารกิจถ่ายโอนที่ได้มอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้วประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป

ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการกลั่นกรองแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร โดยให้พิจารณาในแต่ละแผนที่ (Area base) ควบคู่กับการพิจารณาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี นอกจากนี้ กนช. ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำชุดข้อมูลสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชนในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบผ่านสื่อต่าง ๆ แบ่งเป็น 4 หมวดหลัก ได้แก่ (1) การกักเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำ และระบบการระบายน้ำในแต่ละสภาพภูมิประเทศ (2) ข้อมูลสถานการณ์น้ำ จำแนกเป็นรายภูมิภาคและความเชื่อมโยงในการใช้น้ำร่วมกัน (3) การดำเนินการของรัฐบาลทั้งที่เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยจำแนกเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และมาตรการระยะยาวที่มีความยั่งยืน (4) ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากไม่มีการแก้ไขการบริหารจัดการน้ำ

---------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ กนช.)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ