วันนี้ (4 พ.ค.60) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 2/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมรับทราบข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ให้ทุกส่วนราชการจัดทำแผนการปฏิบัติงานในกรอบระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยให้ระบุแผนงานสำคัญต่าง ๆ ที่จะดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงพัฒนาในทุก ๆ ด้าน เช่น การคมนาคม การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เศรษฐกิจดิจิทัล การศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และประเด็นการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งให้กำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในระยะทุก ๆ 3 เดือน และระยะ 1 ปี เพื่อให้สามารถติดตามและประเมินผลการดำเนินการได้ ทั้งนี้ หากแผนงานใดมีกำหนดเวลาการดำเนินการนานกว่ากรอบระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น ให้จัดทำแผนงานสำหรับส่งต่อให้รัฐบาลชุดต่อไปตามรูปแบบที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวบรวมและนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศและการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560 ตามที่ กขร. เสนอ ในการนี้ได้มีบัญชา “เห็นชอบ/ทำความเข้าใจการทำงานให้ไม่ซ้ำซ้อนกัน/ลดภาระ/ โดยให้หน่วยงานหลักรับผิดชอบโดยตรงร่วมกับหน่วยงานเสริม/บูรณาการ”
อีกทั้งที่ประชุม ได้รับทราบรายงานผลงานเด่น (Highlight) ประจำปีในห้วงเดือนมีนาคม 2560 จากส่วนราชการ 11 ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ซึ่งการดำเนินงานของส่วนราชการดังกล่าวมีความคืบหน้าโดยลำดับ ดังนี้
สมช. มีผลงานเด่น เช่น มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านความมั่นคง เร่งรัดการทดสอบระบบพร้อมกำหนดแนวทางการป้องกันความเสี่ยง ประเด็นการปฏิรูปกระทรวงกลาโหม การพัฒนายุทโธปกรณ์ การกำหนดแนวทางให้บุคลากรประสานการทำงานกับหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่น ๆ ประเด็นการปฏิรูปตำรวจ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งปฏิรูปกิจการตำรวจให้เป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ ประเด็นการปฏิรูประบบงานด้านข่าวกรองให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ การปฏิรูปโครงสร้างและระบบงานด้านการข่าว การพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้เชื่อมโยง การกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดประสิทธิภาพของงานข่าวกรอง การกำหนดภัยและระดับความรุนแรงของภัยที่ชัดเจน ตลอดจนการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
กห. มีผลงานเด่น เช่น กองทัพเรือจัดการประชุม Navy to Navy Staff Talks ครั้งที่ 5 ระหว่างกองทัพเรือและกองทัพเรือเมียนมา เพื่อร่วมหารือในประเด็นความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน อาทิ ความมั่นคงทางทะเล ความร่วมมือด้านการศึกษาอบรม การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนการเยือนของกำลังพล ฯลฯ การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) การดำเนินการตามแผนงานรองรับข้อเสนอแนะของผู้แทนจากสหภาพยุโรป และองค์กรพัฒนาเอกชน มีแผนงานรองรับข้อเสนอแนะของผู้แทนสหภาพยุโรปจากการหารือที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นแผนงานเดียว โดยมีงานรวมทั้งสิ้น จำนวน 155 แผนงาน มีความก้าวหน้าจึงถึง 18 มีนาคม 2560 คงเหลือ จำนวน 14 แผนงาน การตรวจเรือประมงในน่านน้ำของศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ดำเนินการตรวจเรือประมงในน่านน้ำ จำนวน 314 ลำ พบการกระทำความผิด จำนวน 14 ลำ พิธีส่งหน่วยบินปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศ ประจำปี 2560 เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน
กค. มีผลงานเด่น เช่น การแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์” โดย กค. ได้นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนของลูกหนี้และเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบครบวงจรและต่อเนื่อง 5 มิติ ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหน้านี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไป การลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้โดยภาครัฐได้จัดการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้โดยคณะกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัดและจัดให้มีจุดให้คำปรึกษาหนี้นอกระบบที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึง การเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ รายงานผลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2559 มีผู้มาลงทะเบียนทั้งสิ้น จำนวน 8,375,383 คน เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินโอน จำนวน 7,715,359 คน โดยหลังสิ้นสุดมาตรการมีผู้ได้รับเงินโอนทั้งสิ้น 7,525,363 คน และไม่ได้รับเงินโอน จำนวน 189,996 คน เนื่องจากไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร และโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 เปิดให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 3 เมษายน 2560 – 15 พฤษภาคม 2560
กก. มีผลงานเด่น เช่น จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องถอดรหัส “เสน่ห์เที่ยว-เสน่ห์ไทย” : ก้าวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมสินค้าของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจก่อนการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายจริงผ่านเครื่องมือทางการตลาดที่เรียกว่า Business Model Canvas หรือ BMC การกีฬาแห่งประเทศไทยมอบสิทธิผู้ให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์กลาง ประจำปี พ.ศ. 2560 – 2563
ดศ. มีผลงานเด่น เช่น งานสัมมนา “วิสัยทัศน์รัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย : Thailand Digital Government Vision 2017 – 2021” เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐรับทราบวิสัยทัศน์รัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย และนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนางานตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โครงการ “ความร่วมมือการส่งเสริมเศรษฐกิจผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่น” ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำภารกิจบูรณาการสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และเร่งขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ และยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน มุ่งสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0
ยธ. มีผลการเด่น เช่น การอบรมอาสาสมัครคุมประพฤติเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน โครงการพัฒนาระบบศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป เพื่อให้การดูแลแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนตรงตามสภาพปัญหาและความจำเป็น รวมทั้งเหมาะสมกับกายภาพและลักษณะความคิด พฤติกรรม ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินการระบบบำบัดเยาวชนที่มีอายุมากกว่า 20 ปี มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รง. ผลงานเด่น เช่น การลงนาม MOA ไทย-ลาว เพื่อการส่งเสริมการจ้างงาน จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานระหว่างไทยและ สปป.ลาว เน้นการตอบสนองความต้องการด้านแรงงานในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ รวมถึงสกัดกั้นการค้ามนุษย์ โดยการดำเนินงานตามกรอบของกฎหมายและกฎระเบียบการจ้างงานบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2560
วธ. มีผลงานเด่น เช่น จัดประชุมเชิงวิชาการ “ประชารัฐร่วมใจ ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมคุณธรรม” ภายใต้แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559 – 2564) จัดงานสมัชชาคุณธรรมภาคกลาง “รวมพลังประชารัฐขับเคลื่อนคุณธรรมความดี ตามวิถีพอเพียง” จัดนิทรรศการเชิดชูเกียรติ “ศิลปินแห่งชาติพุทธศักราช 2559” จัดประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดแนวทางการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ
วท. มีผลงานเด่น เช่น การจัดงาน ASEAN Next 2017 ภายใต้แนวคิด Creating Smart Community through STI Collaboration เพื่อเป็นเวทีในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และเป็นแนวทางในการพัฒนา วทน. ให้เกิดการใช้ประโยชน์ในระดับภูมิภาค การหารือเพื่อก่อตั้งศูนย์คลังข้อมูลน้ำและภูมิภาค (ASEAN Hydro Informatics and Climate Data Center)
สธ. มีผลงานเด่น เช่น ปฏิรูประบบปฐมภูมิ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการ สร้างโอกาสเข้าถึงบริการในทุกมิติสุขภาพ ดูแลสุขภาพตนเอง รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขห่วงใยประชาชนวัย 40 ขึ้นไป ควรพบจักษุแพทย์ตรวจหาต้อหินลดความเสี่ยงตาบอด และเดินหน้านโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยด้านอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ และทีมตระหนักรู้สถานการณ์ เป็นต้น
อก. มีผลงานเด่น เช่น การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง เช่น โครงการจัดทำบ่อฝังกลบของเสียที่ไม่เป็นอันตรายจากโรงงานรองรับเข้าสู่ EEC โครงการศูนย์บริการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเตรียมพร้อมเข้าสู่ EEC เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการ การบริหารจัดการทรัพย์สินของภาคอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง จำนวน 3,002 โรงงาน โครงการนวัตกรรมต้นแบบแห่งอนาคตสู่ Industry 4.0 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลาสติกชีวภาพมาสร้างเป็นนวัตกรรมต้นแบบเพื่อทดแทนพลาสติกจากปิโตรเคมีในอนาคต ฯลฯ การขับเคลื่อนพัฒนาและส่งเสริม SMEs อาทิ การส่งเสริมสมุนไพรไทย จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพร พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับ กสอ. จำนวน 4 แผนงาน คือ เพิ่มผลิตภาพของสถานประกอบการผลิต ยกระดับคุณภาพและเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ยกระดับความรู้บุคลากร และพัฒนาอุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพร ตลอดจน การจัดงาน WORLD FOOD EXPO 2017 ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 9 เมษายน 2560 ผลักดันให้ใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอาหารแปรรูปเพื่อการส่งออก ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหารโลกในอนาคต เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการผลิตอาหาร เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการปฏิรูประบบราชการ ไปสู่ระบบราชการ 4.0 เพื่อรองรับต่อยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยภาครัฐหรือระบบราชการจะต้องทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน (Better Governance, Happier Citizens) หมายความว่าระบบราชการต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานใหม่เพื่อพลิกโฉม (transform) ให้สามารถเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง (Credible and Trusted Government) ดังนี้ 1) เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน (Open & Connected Government) 2) ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric Government) และ3) มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart & High Performance Government)
---------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th