วันนี้ (21 พ.ค. 60) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 4/2560 โดยคณะกรรมการฯ ได้จัดเวทีให้ความรู้และเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น จำนวน 3 เวที ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 3,485 คน
“เวทีแรกจัดขึ้นที่ จ.กระบี่ มีผู้เข้าร่วม 1,182 คน จาก 4 จังหวัด ได้แก่ พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง เวทีที่ 2 จัดขึ้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ผู้เข้าร่วม 1,167 คน จาก 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และเวที่ที่ 3 จัดขึ้นที่ จ.สงขลา มีผู้เข้าร่วม 1,136 คน จาก 6 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
โดยทุกเวทีแบ่งการจัดกิจกรรมออกเป็น 2 ช่วง คือ ภาคเช้า เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ในปัจจุบัน และในอนาคต ทางเลือกในการสร้างโรงไฟฟ้าที่เป็นไปได้ รวมทั้งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคบ่าย เป็นการแสดงความคิดเห็นของผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เป็นไปอย่างปรองดอง ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้มีส่วนร่วมโดยตรงแล้ว ยังมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุในพื้นที่ภาคใต้ไปพร้อมกันด้วย จึงเชื่อว่าประชาชนอีกจำนวนมากจะได้รับความรู้และความเข้าใจเช่นเดียวกัน”
ทั้งนี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นถึงความจำเป็นที่ควรสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ รองลงมายังไม่แน่ใจ และมีส่วนน้อยที่เห็นว่าไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ แต่ควรใช้การบริหารจัดการ เช่น รณรงค์การประหยัดไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
สำหรับข้อกังวลของพี่น้องประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้แก่ กระบวนการขนส่งถ่านหิน วิธีการควบคุมมลพิษที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการท่องเที่ยว โดยเห็นว่าควรให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า และการติดตามประเมินผลการทำงาน ซึ่งกระทรวงพลังงานมีคำตอบและเตรียมแนวทางป้องกันรับมือกับปัญหาไว้ทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงพลังงานและหน่วยของรัฐอื่น ๆ ที่มีหน้าที่สื่อสารกับประชาชน สร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่องว่า ความต้องการพลังงานจะแปรผันตรงกับความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจในภาคใต้เจริญขึ้น ก็จะต้องใช้พลังงานมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมี โรงไฟฟ้าหรือแหล่งพลังงานหลักที่มีความเสถียร ไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนพลังงานเป็นช่วง ๆ หรือเป็นเวลานาน และสามารถรองรับความต้องการได้ทั้งหมด ส่วนพลังงานทางเลือกอื่นนั้นเป็นเพียงตัวช่วยหรือสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
"ท่านนายกฯ ยังได้ขอให้ขยายพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจไปยังพี่น้องประชาชนในภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปด้วย"
-----------------------
สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th