นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยเครือข่ายภาคใต้ รวมพลังขับเคลื่อน Thailand 4.0

ข่าวทั่วไป Wednesday May 24, 2017 15:20 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยเครือข่ายในภาคใต้ที่มีศักยภาพ สามารถต่อยอดการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายรัฐบาล วันนี้ (24 พ.ค. 60) เวลา 11.30 น. ณ บริเวณโถงหน้าห้อง Convention Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยภาคใต้ ภายใต้หัวข้อ “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และเครือข่ายรวมพลังขับเคลื่อน Thailand 4.0” โดยผลงานดังกล่าวเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ทั้งด้านการเกษตร เช่น นวัตกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเล พลังงานชีวภาพ วัสดุ ตลอดจนนวัตกรรมเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์และดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นมหาวิทยาลัยที่ขับเคลื่อนการศึกษาด้วยงานวิจัยอันเป็นพื้นฐานในการทำให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีศักยภาพสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล ขณะที่หลายผลงานได้นำไปสู่การสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจสำคัญตามที่รัฐบาลได้ประกาศเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ต่อไป พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความชื่นชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยเครือข่ายในภาคใต้ เช่น ผลงานวิจัยการผลิตไบโอดีเซลจากกรดไขมันปาล์มแบบ 3 ขั้นตอน ด้วยเครื่องปฏิกรณ์ท่อผสมสถิตขดเกลียว พร้อมเสนอแนะให้มีการขยายนำไปใช้ในชุมชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีทรัพยากรดังกล่าวอยู่แล้ว รวมทั้งแนะนำในส่วนของผลงานวิจัยต้นแบบเครื่องเลื่อยไม้ยาง ให้พัฒนาขยายผลนำไปสู่การใช้งานได้จริง พร้อมกล่าวชื่นชมงานวิจัย A-Knife : มีดเจาะนิ้วล็อค ซึ่งเป็นมีดผ่าตัดนิ้วล็อคแบบเจาะผ่านผิวหนังสำหรับใช้รักษาโรคนิ้วล็อค ออกแบบให้มีลักษณะ ปลายโค้ง มน และมีขนาดเล็ก มีดมีขนาดเล็ก สามารถสอดผ่านรูแผลเจาะที่ผิวหนังขนาดเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวต้องอาศัยความละเอียด สอดคล้องกับลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่มีความละเอียดประณีต จึงฝากให้มีการวิจัยและพัฒนาผลงานที่ในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง สำหรับนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเครือข่ายภาคใต้ ภายใต้หัวข้อ “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และเครือข่ายรวมพลังขับเคลื่อน Thailand 4.0” แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1. นิทรรศการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกอบด้วย นิทรรศการเพื่อแสดงผลงานนวัตกรรมแบ่งตามคลัสเตอร์ของ Thailand 4.0 ประกอบด้วย (1) Bio-based Economy คลัสเตอร์ตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) เน้นความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การพัฒนาระบบกรีดยางเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำยาง (ผลงาน: รศ.ดร.สายัณห์ สดุดี) การบำบัดน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมยางพาราด้วยวิธีทางชีวภาพ (ผลงาน: ผศ.ดร.ชลธี ชีวะเศรษฐธรรม) อุปกรณ์ทำหัตถการสอดใส่สายสวนหลอดเลือดแดงจากยาง (ผลงาน: ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี) นวัตกรรมหมอนรองศรีษะจากยางพาราป้องกันแผลกดทับจากการผ่าตัด (ผลงาน: ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์) เทคโนโลยีชีวภาพและการแปรรูปอาหาร เช่น การจัดการอาหารสัตว์น้ำโดยใช้เทคโนโลยีของเอนไซม์ย่อยอาหาร (ผลงาน: ผศ.ดร.การุณ ทองประจุแก้ว) ชีวภัณฑ์ Bacillus subtilis เพื่อผลิตผักไฮโดรโฟนิกส์ปลอดภัย (ผลงาน: รศ.ดร.อัจฉรา เพ็งหนู) ผงลาบ-น้ำตกเสริมกาบา (ผลงาน: รศ.ดร.ดวงพร คันธโชติ) ข้าวหอมมะลิดัชนีน้ำตาลต่ำกึ่งสำเร็จรูป ชุดผลิตภัณฑ์ข้าวต้มพร้อมบริโภค 4 ผลิตภัณฑ์ ผงโรยข้าวจากผัก 5 สี พุดดิ้งไข่ขาวสำหรับผู้ป่วยติดเตียง สารสกัดแก้วมังกรแคปซูล เครื่องซ็อตผัก Low electrical field intensity technique สำหรับล้างพืชผักสมุนไพร ฯลฯ (ผลงาน: สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหาร) ชุดผลิตภัณฑ์อาหารยังชีพสำหรับทหาร (ผลงาน: ผศ.ดร.เสวคนธ์ วัฒนจันทร์ และดร.ศุภชัย ภิสัชเพ็ญ) พลังงาน เช่น ระบบผลิตไบโอดีเซลจากกรดไขปาล์มแบบ 3 ขั้นตอน ด้วยเครื่องปฏิกรท่อผสมสถิตขดเกลียว การผลิตไบโอดีเซลแบบต่อเนื่องด้วยอัลตรา – โซนิกชนิดแคลมป์ท่อ (ผลงาน: ผศ.ดร.กฤช สมนึก) และระบบสาธารณสุขและการส่งเสริมสุขภาพครบวงจร เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของผลงานวิจัยและนวัตกรรมระบบสาธารณสุขและการส่งเสริมสุขภาพครบวงจร มีผลงานที่น่าสนใจ อาทิ ตำรับยาโพวิโดนไอโอดีนในรูปแบบพ่นบนผิวหนัง (Povidone-iodine spray) ผลงานวิจัยโดย รศ.ดร.ธีระพล ศรีชนะ คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาฆ่าเชื้อใช้ภายนอกชนิดพ่น มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย หรือฆ่าเชื้อที่บริเวณผิวหนัง มีคุณสมบัติคงตัวสามารถเคลือบเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ ทำให้ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น ซึ่งสะดวกสำหรับการใช้งาน ลดการรบกวนบาดแผล ไม่สกปรกหรือเปรอะเปื้อน ลดความสิ้นเปลืองยาโพวิโดนไอโอดีน รวมทั้งอุปกรณ์มีขนาดเล็ก ให้ความสะดวกในการพกพา สำหรับโพวิโดนไอโอดีนในรูปแบบพ่นบนผิวหนังนี้ ได้รับการติดต่อจากบริษัทผู้ผลิตยาเพื่อขออนุญาตใช้สิทธิบัตร สำหรับนำไปขยายกำลังผลิตในระดับอุตสาหกรรมแล้ว อุปกรณ์ฝึกการยืนสำหรับเด็กเล็กที่มีพัฒนาการช้า (A Prototype of Standing Frame for a Child with Development Disability) ผลงานวิจัยโดย ดร.สุรพงษ์ ชาติพันธุ์ และ ผศ.พญ.วิภาวรรณ ลีลาสำราญ และทีมนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการสร้างอุปกรณ์เพื่อช่วยฝึกยืนที่เหมาะสมกับสรีระและการใช้งานของเด็กไทย โดยมุ่งเน้นให้มีลักษณะที่สามารถเข็นเคลื่อนที่ได้ (movable standing frame) แก่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่มีพัฒนาการช้า ให้สามารถมีอุปกรณ์ช่วยฝึกยืนไปใช้ฝึกที่บ้านได้ และเป็นการช่วยลดภาระและค่าใช้จ่ายที่ต้องนำบุตรหลานมาฝึกที่โรงพยาบาล รวมทั้งสามารถทดแทนการนำเข้าอุปกรณ์ช่วยฝึกยืน (standing frame) จากต่างประเทศ เพื่อช่วยในเรื่องการพัฒนากล้ามเนื้อ การพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิต การสร้างสมดุลของร่างกายท่อนบน ซึ่ง standing frame มีราคาสูงทำให้ไม่สามารถมีอุปกรณ์นี้ที่บ้านเพื่อช่วยฝึกการยืนของเด็ก สำหรับการนำอุปกรณ์ฝึกการยืนสำหรับเด็กเล็กที่มีพัฒนาการช้า ไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบันได้นำไปทดลองใช้ฝึกการยืนที่หน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูของ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และได้นำไปใช้ในกลุ่มของเด็กที่มีพัฒนาการช้าโดยให้ผู้ปกครองสามารถใช้ฝึกเด็กได้เองที่บ้านไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ซึ่งทางทีมงาน ได้จัดโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) โดยการบริจาคมอบอุปกรณ์ช่วยฝึกยืนแก่ผู้ปกครองที่บุตรหลานมีพัฒนาการช้า

A-Knife : มีดเจาะนิ้วล็อค ผลงานโดย ผศ.นพ.สิทธิโชค อนันตเสรี ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นมีดผ่าตัดนิ้วล็อคแบบเจาะผ่านผิวหนังสำหรับใช้รักษาโรคนิ้วล็อค ออกแบบให้มีลักษณะ ปลายโค้ง มน และมีขนาดเล็ก มีดมีขนาดเล็ก สามารถสอดผ่านรูแผลเจาะที่ผิวหนังขนาดเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร โดย A-Knife : มีดเจาะนิ้วล็อค ถือเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนวิธีรักษานิ้วล็อคจากการรักษาจากการผ่าแผลเปิดเป็นเจาะแผลเล็กเกิดคุณค่าด้านต่าง ๆ เช่น คุณค่าต่อผู้ป่วย ช่วยเปลี่ยนการผ่าตัดแบบเปิดผิวหนังยาว 1.5 เซนติมตร เป็นการเจาะที่มีแผลเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร หลังเจาะไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยจะปวดแผลน้อย ไม่ต้องเย็บแผล มือสามารถโดนน้ำได้หลังผ่า 24 ชั่วโมง และสามารถกลับไปใช้งานของมือประมาณเฉลี่ย 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด บาดแผลมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาในการกลับไปพบแพทย์เพื่อรับการตัดไหมเช่นผ่าวิธีเปิดผิวหนัง คุณค่าต่อแพทย์ การผ่าตัดทำได้ง่าย รวดเร็ว ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1-2 นาที เมื่อเทียบกับวิธีการผ่าตัดแบบเปิดผิวหนังซึ่งใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ดังนั้นแพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้นในเวลาที่เท่ากัน คุณค่าต่อพยาบาลและบุคลากรสายสนับสนุน การเจาะรักษานิ้วล็อคทำได้ง่ายและรวดเร็ว สามารถประหยัดเวลาการทำงาน ลดจำนวนบุคลากรที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์ ลดการใช้เครื่องมือผ่าตัดและอุปกรณ์ผ่าตัดมาตรฐานอื่นๆลงได้อย่างมาก คุณค่าต่อระบบของโรงพยาบาลและสาธารณะสุข สามารถลดการใช้งานของห้องผ่าตัดเพื่อรักษานิ้วล็อค เนื่องจากการเจาะรักษานิ้วล็อคสามารถกระทำได้ในสภาพของห้องตรวจรักษาทั่วไปที่สะอาด ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ห้องผ่าตัดสำหรับการผ่าตัดโรคอื่นๆที่จำเป็นมากกว่า นอกจากนี้ การเจาะรักษาที่ไม่มีความซับซ้อน สามารถให้บริการเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เช่น การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เจาะรักษานิ้วล็อค คุณค่าด้านเศรษฐกิจและสังคม ผลการเจาะนิ้วล็อคด้วย A-Knife นี้ จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยและสามารถกลับไปใช้งานมือข้างที่ผ่าตัดได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและหน้าที่การงานน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดผิวหนัง อีกทั้งลดการพบแพทย์เพื่อรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัด เช่น การตัดไหม จึงเป็นผลดีต่อภาระงาน เศรษฐกิจของครอบครัว และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่นำ A-knife ไปใช้ จำนวน 31 แห่ง ชุดตรวจคัดกรองสารพันธุกรรมทำนายอาการแพ้ยา ผลงานโดย รศ.ดร.นพ. พรพรต ลิ้มประเสริฐ(หัวหน้าโครงการวิจัย) อ.นพ. คณุตม์ จารุธรรมโสภณ(ผู้ร่วมโครงการวิจัย)

สังกัดภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองคัดกรองนี้ ออกแบบเพื่อระบุลักษณะทางพันธุกรรม HLA-B*15:02 โดยทดสอบขั้นแรกจากการพีซีอาร์ด้วยไพรเมอร์ที่มีความจำเพาะ ควบคู่กับไพรเมอร์ควบคุม แล้วจึงตรวจสอบหาผลผลิตจากปฏิกิริยาพีซีอาร์ ขั้นที่สองทดสอบด้วยหลักการ direct dot blot hybridization โดยนำผลผลิตพีซีอาร์จากขั้นแรกมาติดกับวัสดุยึดเกาะแล้วทดสอบการจับกับโพรบจำเพาะ ผลผลิตที่สามารถจับจำเพาะกับโพรบได้จะสามารถทำปฏิกิริยาปรากฎให้เห็นเป็นจุดสี วิธีการทดสอบนี้เป็นวิธีการที่ไม่ซับซ้อนและทำได้ง่ายในห้องปฏิบัติการทั่วไป ผลการทดสอบจะสามารถใช้ระบุลักษณะ HLA-B*15:02 ในผู้ป่วย ซึ่งการตรวจคัดกรองด้วยวิธีนี้เริ่มใช้แล้วในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สำหรับผู้ป่วยทุกรายที่มีการสั่งยาคาร์บามาซิพีนครั้งแรก หรือมีการสั่งยาในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยแพทย์จะได้รับการแจ้งเตือนให้ส่งตรวจคัดกรอง HLA-B*15:02 ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ HIS (hospital information system) จากนั้นผู้ป่วยจะรับการเจาะเลือดตรวจ และพบเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำ ท้ายที่สุดผู้ป่วยจะสามารถเริ่มยาเมื่อได้ผลการตรวจเป็นผลลบเท่านั้น หากผลการตรวจคัดกรองเป็นบวก ผู้ป่วยจะต้องไม่กินยาคาร์บามาซิพีน และใช้ยาอื่นทดแทน ทั้งนี้ จุดเด่นของชุดตรวจดังกล่าว คือ ความแม่นยำน่าเชื่อถือของชุดตรวจ รวถึงราคาต้นทุนต่อการตรวจครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท เทคนิคไม่ซับซ้อน ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการอณูพันธุศาสตร์โดยทั่วไปชุดตรวจนี้จึงจึงมีศักยภาพในการต่อยอดทางการค้าในประเทศไทย และในประเทศกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยคำขอสิทธิบัตรของนวัตกรรมนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ และมีบทความวิจัยที่อยู่ในระหว่างการยื่นจัดส่งตีพิมพ์ (2) Digital Economy คลัสเตอร์ตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology) เน้นความเชี่ยวชาญ ดังนี้ เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และ Internet of Thing Fintech การใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบการสื่อสารออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุน ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (3) Creative Economy คลัสเตอร์ตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & Value Services) เน้นความเชี่ยวชาญ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและอนุรักษ์ และศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ (4) ความมั่นคง และการพัฒนาชายแดนใต้ เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ และ (5) นิทรรศการอุทยานวิทยาศาสตร์ นำเสนอผลงานของอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2. นิทรรศการเครือข่ายวิจัยสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ โดยเป็นการนำผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ อาทิ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร มหาวิทยาลัยตาปี วิทยาลัยชุมชนเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นต้น

----------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ