นายกรัฐมนตรี ส่งเสริมการเกษตรที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ พร้อมสนับสนุนการจัดทำบัญชีครัวเรือน ควบคู่กับนำหลักตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและประชาชนในท้องถิ่นให้มีรายได้มากขึ้น
วันนี้ (24 พ.ค.60) เวลา 13.30 น. ณ ตลาดเกษตร บริเวณหน้าคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ อาทิ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเยี่ยมชมตลาดเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ตลาดเกษตร ม.อ.) ทั้งในส่วนของตลาดนัดเกษตรกร โซนผักและผลไม้ และโซนอาหารว่าง พร้อมชมผลงานวิจัยของคณาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การเลี้ยงดวงสาคูโดยใช้ทางปาล์ม เห็ดหลินจือแดงอบแห้ง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อกล้วยเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ อาทิ กล้วยน้ำว้ากาบขาว กล้วยหอมเขียว กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ และกล้วยหิน เป็นต้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เดินพบปะทักทายพ่อค้า แม่ค้า และผู้ประกอบการในตลาดเกษตรฯ พร้อมรับชมกิจกรรมการออกกำลังกายของกลุ่มผู้ค้ามาซึ่งร่วมกันเต้น Chicken Dance ที่สอดรับรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนหันมาออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดีแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ โดยมี คณะบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักศึกษา ให้การต้อนรับด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณผู้จัดการตลาด และคณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิธีคิดให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็ง (เป็นนักธุรกิจด้านเกษตร) ควบคู่ไปกับการพัฒนาบริหารจัดการตลาดเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ตลาดเกษตร ม.อ.) จนประสบความสำเร็จได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นในคุณภาพของสิ้นค้าและผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายในตลาด พร้อมชื่นชมถึงความพยายามและตั้งใจจริงของทุกฝายในการดูแลช่วยเกษตรกรได้มีตลาดจำหน่ายสินค้าในราคาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง และมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อขยายและยกระดับไปจำหน่ายในตลาดพรีเมี่ยม ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนขอให้มีการปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และหลากหลายแทนการปลูกพืชเชิงเดียวเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งสอดคล้องและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาด อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุล ป้องกันแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ ขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ให้ทำการเกษตรที่สามารถเลี้ยงตนเองได้และอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีการแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างกัน และจัดทำบัญชีครัวเรือนอย่างเป็นระบบเพื่อให้การบริหารจัดการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขอให้น้อมนำแนวทางหลักตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชและศาสตร์ของพระราชามาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น อีกทั้งเสนอแนะให้ประชาชนลดการใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลงเพื่อลดปริมาณขยะจากพลาสติกที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับตลาดเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ตลาดเกษตร ม.อ.) เปิดให้บริการครั้งแรก ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 ในความรับผิดชอบของกลุ่มงานจัดการผลประโยชน์ทางวิชาการ ฝ่ายวิจัยและบริการกลาง คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเปิดให้บริการอย่างยาวนาน เป็นระยะกว่า 16 ปี โดยมีความประสงค์ที่จะสร้าง “ศูนย์กลาง” ในการให้บริการจำหน่ายผลิตผลที่ได้รับจากการเรียน การสอน และงานวิจัยของคณะทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง ปัจจุบันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการแท้จริงได้มาจำหน่วยสินค้าด้วยตนเอง ทั้งอาหาร ผักผลไม้ ตลอดจนขนมและเครื่องดื่มต่าง ๆ ซึ่งการดำเนินงานของตลาดให้ความสำคัญกับความเป็นเจ้าของตลาดของเกษตรกร โดยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการดูแล ปรับปรุง บริหารตลาด รวมทั้งมีรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะประชารัฐ ที่หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุข/พาณิชย์จังหวัด ตลอดจนภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนอาคาร/อุปกรณ์/สินค้า ภายในตลาด โดยจุดเด่นเน้นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์และอาหารที่มีความปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (3 ปลอดภัย ได้แก่ อาหารปลอดภัย ผู้บริโภคปลอดภัย เกษตรกรปลอดภัย)
ซึ่งอาหารที่จำหน่ายมีคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย มีการตรวจสอบคุณภาพอาหารโดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้สามารถย่อยสลายได้ และได้รับรางวัลตลาดปลอดโฟม 100 % จากกรมอนามัย และเป็นตลาดที่ไม่ใช้ลวดเย็บกระดาษ เย็บบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุอาหาร ขณะที่ผู้จำหน่ายสินค้า ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอาหารเบื้องต้น 100% รวมทั้งเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี เช่น กิจกรรมแกว่งแขน เต้นประกอบเพลง Chicken Dance ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการออมเงิน และมีการลดปริมาณขยะในตลาดผ่านกิจกรรมธนาคารขยะโดยผู้ประกอบการสามารถแยกขยะที่นำไปกลับมาใช้ใหม่ได้ นำมาขายในกิจกรรมฯ เพื่อสะสมเป็นเงินออม
ส่วนแนวทางการพัฒนา/ต่อยอด เพื่อให้ตลาดมีความสมบูรณ์แบบ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพ เช่น หลังคากันแดด/ฝน ห้องน้ำ ทางเดิน เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาหรือยกระดับผู้ค้าในตลาด การเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มเป้าหมายตลาด โดยจะมีการเชื่อมโยงระหว่างตลาดเกษตร ม.อ. กับกระทรวงพาณิชย์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในด้านการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาใช้บริการตลาดเกษตร ม.อ. เพิ่มมากขึ้น และในอนาคตคณะทรัพยากรธรรมชาติจะมีการจัดทำกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ทั้งนี้ ตลาดดังกล่าวมีผู้ค้าประมาณ 171 ราย จำนวน 185 ร้านค้า ลูกค้าเข้าเยี่ยมชมและจับจ่ายซื้อของในตลาดเฉลี่ยประมาณวันละ 7,000 – 8,000 คน ปัจจุบัน ตลาดเกษตร ม.อ. เปิดทำการทุกวัน จันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 14.30 -19.30 น. แบ่งเป็น 3 โซน คือโซนอาหารว่าง โซนผักผลไม้และอาหารสุขภาพ และโซนอาหารคาวและอาหารทะเล โดยรายได้ของผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรในตลาดเกษตร มอ. ปี 2559 รายได้เฉลี่ยต่อราย 4,820 บาท/วัน 53,016 บาท/เดือน 583,200 บาท/ปี มีเงินทุนหมุนเวียนในตลาดต่อวันประมาณ 834,000 บาท เฉลี่ยต่อเดือน 9,172,000 บาท และต่อปี 100,830,000 บาท ขณะที่รายได้ผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดนัดเกษตรกร ปี 2559 มียอดจำหน่ายตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2557 - 30 เมษายน 2560 มียอดรวมประมาณ 5,157,000 บาท โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมจำหน่าย 12 กลุ่มเครื่อข่าย และมีรายได้เฉลี่ยต่อวันของแต่ละเครือข่ายประมาณ 3,743 บาท
---------------------------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th