วันนี้ (พุธ 31 พฤษภาคม 2560) เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกับการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม” ในการเปิดสัมมนาวิชาการเพื่อเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประกอบธุรกิจโดยเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชนนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรม และเป็นโอกาสนำประเทศสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพราะธุรกิจคือพลังขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และสิทธิมนุษยชนคือ การดูแลคนทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในชีวิต มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม มีโอกาสเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการของรัฐ และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม ดังนั้น ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนก็คือการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม
รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศด้วยความมุ่งมั่นเพื่อยุติความขัดแย้งและวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและมีความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ภาคธุรกิจจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลให้ประชาชนสามารถยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตของตนและครอบครัว และดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาสังคม นำพาประเทศชาติสู่ความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน
การที่สหประชาชาติให้การรับรองหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาคมโลกมีความพยายามในการสนับสนุนให้การกำหนดความรับผิดชอบของธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แม้จะยังไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบของภาคธุรกิจไว้ในลักษณะเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดก็ตาม แต่ระบุว่าเป็นความรับผิดชอบของภาคธุรกิจที่ต้องดำเนินการถือเป็นการวางบรรทัดฐานสำหรับภาคเอกชนในการเคารพสิทธิมนุษยชนในการดำเนิน
หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติให้การรับรองนี้ไม่เพียงแต่กล่าวถึงบทบาทของภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ยังเชื่อมโยงบทบาทของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากการประกอบธุรกิจด้วย ทั้งบทบาทภาครัฐและบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย โดยได้วางกรอบของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการประกอบธุรกิจไว้ 3 ประการหรือที่เราเรียกว่า “เสาหลัก” ได้แก่ เสาหลักด้านการคุ้มครอง เสาหลักด้านการเคารพ และเสาหลักด้านการเยียวยา
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการทำให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจได้จริงนั้น ทุกภาคส่วนที่มีหน้าที่ต้องตระหนักและเข้าใจบทบาทของตนตาม 3 เสาหลักของหลักการชี้แนะ เพื่อให้เป็นที่รับรู้และมีการนำไปปฏิบัติในประเทศต่างๆ ทั่วโลก คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจึงได้มีมติจัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจอื่นๆ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการชี้แนะดังกล่าว สนับสนุนการดำเนินการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำหลักการชี้แนะฯ ไปปฏิบัติ ตลอดจนให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐบาล บริษัทธุรกิจทุกประเภท สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในประเทศต่าง ๆ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิ และซึ่งในวันนี้ สมาชิกของคณะทำงานฯ 2 ท่านคือ มิสเตอร์ไมเคิล อัดโด (Mr. Michael Addo) ประธานคณะทำงานฯ และมิสเตอร์ดานเต้ เปชเช (Mr. Dante Pesce) สมาชิกคณะทำงานฯ เข้าร่วมการสัมมนาและเป็นผู้บรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “สหประชาชาติกับการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และบทบาทของภาคส่วนต่างๆ ตามเสาหลักของหลักการชี้แนะฯ” ด้วย
รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่ผลักดันให้ประเทศไทยมีการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิมนุษยชน โดยยึดหลักการชี้แนะฯ ทั้งเสาหลัก 3 ประการ คือ เสาหลักด้านการคุ้มครอง ด้านการเคารพ และด้านการเยียวยา
เสาหลักด้านการคุ้มครอง เป็นบทบาทหน้าที่ของภาครัฐโดยตรงในการดูแลมิให้บุคคลได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของภาคธุรกิจตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่หลายฉบับนั้น รัฐบาลได้ออกกฎระเบียบ นโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุม กำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเคารพสิทธิมนุษยชน จัดทำแนวทางหรือข้อเสนอแนะแก่ภาคธุรกิจว่าควรมีการปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจการของตน นอกจากนี้ รัฐยังต้องดูแลให้นโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนกำกับดูแลให้หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินธุรกิจ เช่น ปตท. การบินไทย บขส. กสท. และ TOT ตลอดจนรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับบริษัทเอกชนด้วย เพื่อเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ภาคเอกชนในการดำเนินการเรื่องนี้
สำหรับหน้าที่ของรัฐด้านการคุ้มครองนี้ ประเทศไทยได้มีการดำเนินการแล้วในหลายส่วน เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อให้คนทำงานได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ไม่มีการบังคับใช้แรงงาน ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม กฎหมายที่ให้หลักประกันทางสังคมแก่คนที่ทำงานทั้งที่เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนและผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว กฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็ก กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ ซึ่งรัฐบาลยังต้องพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมาตรฐานระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งมีพลวัตอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามปรับปรุงในจุดที่เป็นปัญหา อาทิ การแก้ไขเรื่องการค้ามนุษย์ เป็นตัวอย่างที่ดีในการแสดงถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะคุ้มครองบุคคลจากการตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และถูกเอารัดเอาเปรียบโดยถูกบังคับให้ทำงานในสภาพที่เลวร้ายเช่นในเรือประมง จึงได้ประกาศนโยบาย “ขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้น” ให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2557 และสั่งการให้หน่วยงานมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจเรือประมงและแรงงานบนเรือ รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดโดยได้มีการแก้ไขกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และมีการจัดตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
ระดับนโยบาย ประเทศไทยได้ให้คำมั่นต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ว่าจะดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและประสานงานกับกระทรวงอื่นๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของเอกชนในทุกๆ ด้าน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว
นายกรัฐมนตรียังให้แนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านสิทธิมนุษยชนแก่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งจะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักว่า แผนที่จะจัดทำขึ้นควรมุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรือที่อาจจะเกิดขึ้น โดยควรเป็นมาตรการที่ตอบสนองปัญหาได้ตรงจุด สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกได้ในวงกว้าง เป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริง
เสาหลักที่สองด้านการเคารพ เกี่ยวกับภาคธุรกิจโดยตรง เนื่องจากหลักการชี้แนะฯ ระบุถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเสนอว่าภาคธุรกิจควรหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อันเกิดจากหุ้นส่วนทางธุรกิจ และ/หรือ ห่วงโซ่การผลิต โดยควรพยายามแสวงหาหนทางที่จะป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบทางลบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ การผลิตผลิตภัณฑ์ หรือการให้บริการ
สิทธิมนุษยชนที่ภาคธุรกิจพึงให้ความสำคัญในลำดับแรก คือ สิทธิของแรงงาน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ภาคธุรกิจพึ่งพิงในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน หากภาคธุรกิจปฏิบัติต่อแรงงานอย่างดี ดูแลสวัสดิการและให้ความเป็นธรรม ก็เชื่อได้ว่า แรงงานเหล่านี้ก็จะตั้งใจทำงาน สร้างผลผลิตที่ดีมีคุณภาพแก่ภาคธุรกิจ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจของประเทศมีความเจริญก้าวหน้า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น การคุ้มครองแรงงานในเรื่องของค่าจ้าง วันหยุด และการดูแลความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น ซึ่งครอบคลุมทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านและเป็นไปตามหลักสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
นอกจากการดูแลสวัสดิการของแรงงานแล้ว คนอีกกลุ่มที่ภาคธุรกิจพึงให้ความสำคัญ คือ ชุมชนในพื้นที่ ซึ่งภาคธุรกิจพึงระมัดระวังมิให้การดำเนินธุรกิจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การประกอบอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยสารพิษหรือของเสียที่เป็นพิษ ควรใช้ความระมัดระวังและมีกระบวนการกำจัดสารพิษอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ หากประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนและมีการประท้วงการประกอบธุรกิจของท่าน ธุรกิจของท่านก็อาจต้องสะดุดหยุดลงและเกิดความเสียหายได้ในที่สุด
ภาคเอกชนควรผนวกเอาหลักการชี้แนะฯ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ รวมถึงการจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สามารถทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วหรือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และหาวิธีในการป้องกันหรือบรรเทาปัญหา รวมถึงเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น
เสาหลักที่สาม คือการเข้าถึงการเยียวยาของผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กลไกหลักที่สำคัญในการเยียวยา คือ กลไกของรัฐ ซึ่งได้แก่ระบบศาลในกระบวนการยุติธรรม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยรองรับสิทธิของบุคคลในการเรียกร้องให้มีการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการกระทำผิดในกรณีต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ หลักการชี้แนะฯ ยังได้เสนอให้มีการพิจารณาประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนและหาแนวทางแก้ไข เช่น ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีและกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน
นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมที่เข้าร่วมการสัมมนาช่วยพิจารณาทบทวนดูว่ากระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายที่เป็นอยู่สามารถให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรมแล้วหรือไม่อย่างไร เพื่อปรับปรุงพัฒนากระบวนการเพื่อสามารถให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการยุติธรรมมักต้องใช้เวลา บางครั้งอาจไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น จึงต้องมีกลไกอื่นๆ เข้ามาเสริม โดยเฉพาะช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ อีกทั้ง รัฐบาลมีศูนย์ดำรงธรรมในทุกหมู่บ้าน ตำบลและจังหวัด ที่จะช่วยรับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาสำหรับประชาชนในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องปัญหาการถูกละเมิดด้านสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่จะรับเรื่องร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบได้
นายกรัฐมนตรียังเสนอให้บริษัทหรือผู้ประกอบการจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนในสถานประกอบการของตนเพื่อแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยตรง เพื่อให้ข้อร้องเรียนต่าง ๆ ได้รับการแก้ไขและเกิดความยุติธรรมในระดับสถานประกอบการซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการและแรงงานเอง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนนั้นมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่นครนิวยอร์ก นายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้นำของประเทศสมาชิกสหประชาชาติจำนวน 193 ประเทศรวมทั้งได้ร่วมกันรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเปรียบเสมือนแผนแม่บทระดับโลกที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาในระยะ 15 ปีข้างหน้า โดยการกำหนดเป้าหมายเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการไม่เลือกปฏิบัติ การสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและการไม่ทิ้งบุคคลใดไว้เบื้องหลัง
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนยังได้ระบุถึงบทบาทของภาคเอกชนในการประกอบกิจกรรมธุรกิจ การลงทุน และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถือเป็นตัวผลักดันที่สำคัญต่อการสร้างผลผลิต การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วม และการสร้างงาน ภาคธุรกิจที่มีการบริหารจัดการที่ดีจะต้องให้ความเคารพสิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานทางด้านสุขอนามัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานและความตกลงในระดับสากล ดังเช่นหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีแสดงความเชื่อมั่นว่า การทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนจะเป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว สอดคล้องกับทิศทางความต้องการของตลาด และช่วยให้การพัฒนาประเทศมีความยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในมุมธุรกิจ การมีกระบวนการภายในเพื่อประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน จะทำให้ผู้ประกอบการต้องคิดหาวิธีป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหา หรือหาแนวทางแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายและมีผลกระทบต่อธุรกิจเอง เป็นการลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ในปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการของผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้บริโภคในประเทศตะวันตก ไม่ได้คำนึงถึงเพียงคุณภาพของสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่ยังดูว่ากระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการมีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานหรือทำให้ชุมชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ หากบริษัทใดมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการผลิต ผู้บริโภคก็อาจไม่สนับสนุนสินค้านั้นแม้ว่าจะมีคุณภาพดีก็ตาม ดังนั้น การเคารพสิทธิมนุษยชนจึงเป็นผลดีแก่ธุรกิจในระยะยาว
รัฐบาลเห็นว่า การประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนจะช่วยลดปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของปัญหาแรงงาน ช่วยลดข้อพิพาท ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้ง ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ คนในสังคมก็จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม หลักการชี้แนะฯ จึงเป็นการให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า สิทธิมนุษยชนจะยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการค้าระหว่างประเทศต่อไปในอนาคตและอาจมีความเข้มข้นมากขึ้น ขณะนี้ หลักการชี้แนะฯ ยังไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมายเช่นความตกลงหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจเอกชนของไทยไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด จะได้มีเวลาในการปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางของหลักการชี้แนะฯ อย่างค่อยเป็นค่อยไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย ทั้งนี้ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐก็ได้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการประกอบกิจการที่เคารพสิทธิมนุษยชนอยู่บ้างแล้ว เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไปในการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน โดยมีแนวทางปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนของบริษัทครอบคลุมตั้งแต่การจัดทำนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานสากล การบริหารจัดการและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการมีกลไกคุ้มครองและเยียวยา นอกจากนี้ บริษัทจะต้องมีการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพื่อเปิดเผยผลกระทบและผลลัพธ์ทั้งเชิงบวกและลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการด้วย
ทั้งนี้ การทำให้หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม การจัดสัมมนาวิชาการในวันนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกภาคส่วนจะได้มารับรู้ร่วมกันว่าการทำธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่อะไรในการส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ และหากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือผู้เสียหายจะไปร้องเรียนได้ที่ใดและจะได้รับการเยียวยาอย่างไร
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้จะช่วยให้เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางมากขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจซึ่งมีบทบาทที่สำคัญทั้งในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ การที่องค์กรภาคธุรกิจหลักของประเทศ ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งเครือข่าย โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายในระดับประเทศของโกลบอลคอมแพ็กของสหประชาชาติที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของบริษัทชั้นนำของไทย 15 บริษัท ซึ่งได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนานับเป็นหลักประกันว่าจะมีการเผยแพร่หลักการชี้แนะฯ ให้แก่ผู้ประกอบการของไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจแนะนำช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของตนในการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะฯ ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมจะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการนำหลักการชี้แนะฯ ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังกล่าวยินดีที่จะมีการลงนามปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคธุรกิจ และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทุกฝ่ายจะมาร่วมกันสร้างสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน สำหรับการประชุมสัมมนาวิชาการในวันนี้ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจะรักษาพันธสัญญาในการทำหน้าที่เพื่อให้ความเคารพ และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งคุ้มครองปัจเจกบุคคลและชุมชนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากบุคคลที่สาม ภาคธุรกิจเอกชนจะเข้ามามีบทบาทและรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชนและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการประกอบกิจการของตนเองมากยิ่งขึ้น การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนจะช่วยส่งเสริมปัจจัยในการกระตุ้นการผลิต ขวัญและกำลังใจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ลูกค้า ผู้บริโภค เสริมสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีและความมั่นคงในการประกอบกิจการ รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และที่สำคัญสร้างชื่อเสียงและผลประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนโดยรวมเพื่อ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th