รมต. ออมสินฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 5/2560

ข่าวทั่วไป Wednesday May 31, 2017 15:19 —สำนักโฆษก

ประชุมแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564

วันนี้ (31 พ.ค. 60) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 109 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 5/2560 ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมได้รับทราบแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลาของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการบูรณาการคุ้มครองผู้บริโภคทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งมีองค์ประกอบของ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ ที่ 1 การพัฒนาระบบและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค ยุทธศาสตร์ ที่ 2 การพัฒนาระบบฐานข้อมูลในการคุ้มครองผู้บริโภค ยุทธศาสตร์ ที่ 4 การสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้บริโภค และยุทธศาสตร์ ที่ 5 การส่งเสริมการบูรณาการการคุ้มครองผู้บริโภค

พร้อมกันนี้ช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งจะมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมบรรลุตามวิสัยทัศน์และเป้าหมาย สามารถติดตามและประเมินผลสำเร็จของแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและทำให้การติดตามสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคในทุกประเด็นเป็นไปด้วยดี พร้อมมีการบูรณาการงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการคุ้มครอง ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการฟ้องคดีตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจในการดำเนินคดีแทนผู้บริโภค ในกรณีเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีความเห็นว่า การดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวม พร้อมเห็นชอบแนวทางการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะดำเนินการยุติเรื่อง เช่น กรณีเรื่องร้องทุกข์ที่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งเรื่องร้องทุกข์ที่ข้อเท็จจริงพบว่าการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจไม่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนหลักเกณฑ์การพิจารณารับเรื่องร้องทุกข์ และการพิจารณาดำเนินคดีแทนผู้บริโภค ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เช่น ผู้ร้องต้องเป็นผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ มีพฤติการณ์หรือกระทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภค พร้อมทั้งแนวทางการดำเนินคดีแทนผู้บริโภค เป็นการดำเนินคดีที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวมอีกด้วย

............................................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ