บีโอไอเตรียมจัดตั้งศูนย์บุคลากรทักษะฝีมือสูงเป็นหน่วยงานกลางสร้างกลไกให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติเข้าถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เปิดปลายมิถุนายน หรือต้นกรกฎาคม 60

ข่าวทั่วไป Thursday June 1, 2017 15:23 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยบีโอไอเตรียมจัดตั้งศูนย์บุคลากรทักษะฝีมือสูงเป็นหน่วยงานกลางสร้างกลไกให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติเข้าถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เปิดปลายมิถุนายน หรือต้นกรกฎาคม 2560

วันนี้ (1มิ.ย.60) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 3/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการแก้ไขอุปสรรคด้านการลงทุนและการจัดตั้งศูนย์บริหาร TALENTS ซึ่งนายกรัฐมนตรี ขอให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ในประเด็นต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและ Thailand 4.0 ได้แก่ การดึงดูดทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะฝีมือสูง (Talents) จากต่างประเทศ และการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศในประเทศไทย และ 2) การอำนวยความสะดวกสินค้าในเขตปลอดอากรเพื่อการพาณิชยกรรมเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้า (Trading Nation)

ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ได้ดำเนินโครงการจัดตั้ง “ศูนย์บุคลากรทักษะฝีมือสูง (Strategic Talent Center :STC)” เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการสร้างกลไกให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยสามารถเข้าถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ R&D และนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน และภาคการวิจัย โดยศูนย์ STC จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2560 หรือต้นเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ โดยการดำเนินการได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)

ส่วนการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญ การดำเนินการ ระยะที่ 1 การบริการผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ศูนย์ osos ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี จะเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยสมบูรณ์ โดยผู้ใช้บริการยื่นคำร้องเพียงครั้งเดียวที่ สกท. และจะได้รับวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน ณ ที่เดียวกันผ่านระบบ กรอบระยะเวลาดำเนินการภายในเดือนตุลาคม 2560 ระยะที่ 2 จะขยายบริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ศูนย์ osos ณ อาคารจัตุรัสจามจุรีให้ครอบคลุมถึง Talents ต่างประเทศที่ยื่นคำร้องผ่านศูนย์ STC ที่จะเข้ามาทำงานกับบริษัทไม่ได้รับการส่งเสริมฯ โดยในช่วงที่ระบบยังไม่แล้วเสร็จ ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่ผ่านศูนย์ STC สามารถใช้บริการที่ศูนย์วีซ่าด้วยระบบ Manual ได้ รวมทั้ง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาระบบการแจ้งอยู่ในราชอาณาจักรทุก 90 วัน ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการประกาศประกวดราคาจ้างผู้รับเหมาปรับปรุงระบบ ผู้สนใจยื่นซองภายใน 30 พฤษภาคม 2560 และคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในกลางเดือนมิถุนายน 2560 โดยระหว่างนี้ สตม. ได้เพิ่มช่องทางการรับแจ้งฯ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ได้รับส่งเสริม ดังนี้ 1) ทางไปรษณีย์ ส่งเอกสารไปยังส่วนงานรับแจ้งที่อยู่อาศัยเกิน 90 วัน กก.3 บก.ตม.1 และ 2) ทางอินเทอร์เน็ต โดยส่งอีเมลล์มาที่ boi.90report.imm1sub3@gmail.com อีกทั้ง กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอ (ร่าง) คำสั่ง คสช. 2 ฉบับ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศสามารถจัดตั้งสถาบันการศึกษาในพื้นที่ EEC เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ และพื้นที่อื่น ๆ ที่ คพอต. เห็นชอบ ซึ่งคำสั่งฯ ทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2560

สำหรับการอำนวยความสะดวกสินค้าในเขตปลอดอากร กำหนดให้พื้นที่เขตปลอดอากรเพื่อการพาณิชย กรรมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นโครงการนำร่อง ให้ได้รับการยกเว้นการขอใบอนุญาตสำหรับสินค้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเข้าสินค้าเพื่อมาประกอบกิจกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม หรือเพื่อประโยชน์ในการเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บสินค้าคงคลังของภูมิภาคและการบริหารต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ทั้งนี้ พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 โดยมาตรา 152 ของ พรบ. ดังกล่าวได้กำหนดให้ “ การนำของหรือวัตถุดิบที่นำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หากมีการนำเข้าไปในเขตปลอดอากร ให้ของนั้นได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ซึ่งของดังกล่าวเฉพาะในพื้นที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรจะต้องประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขภายใน 180 วัน หรือภายในเดือนพฤศจิกายน 2560

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เปิด 6 ประเภทกิจการ ซึ่งสิ้นสุดการให้ส่งเสริมไปแล้ว ให้สามารถขอรับส่งเสริมได้จนถึงสิ้นปี 2561 เนื่องจากเป็นกิจการที่นักลงทุนในพื้นที่ให้ความสนใจ และกิจการ 2 ประเภทในกลุ่มนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายขอบข่ายธุรกิจให้กว้างขึ้นด้วย ได้แก่ กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง ให้ครอบคลุมวัสดุก่อสร้างทุกประเภท และกิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย ให้รวมถึงการผลิตเครื่องสำอางด้วย

ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัด (ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 จนถึงเดือนเมษายน 2560 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมแล้วจำนวน 41 โครงการ เงินลงทุนรวม 8,578.7 ล้านบาท

พร้อมทั้ง ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องการปรับประเภทกิจการและปรับสิทธิประโยชน์เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการเปิดประเภทกิจการใหม่ คือ กิจการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนโครงข่ายการสื่อสารผ่านเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเส้นทางน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และหากมีการลงทุนเพิ่มโครงข่ายมากขึ้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการระบบอินเตอร์เน็ต และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีในกลุ่มกิจการต่าง ๆ ที่มีระดับเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงหรือมีขั้นตอนการพัฒนาและออกแบบเช่น กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีระดับเทคโนโลยีขั้นสูง หรือมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กิจการนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นกิจการที่ช่วยจัดระเบียบพื้นที่อุตสาหกรรมช่วยดูแลด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง เห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนรวม 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน11,983.5 ล้านบาท ประกอบไปด้วย

บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,214.6 ล้านบาท โครงการนี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการค้าและการขนส่งทางน้ำในภูมิภาคเอเชีย

บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางอากาศ ครอบคลุมถึงการขนส่งผู้โดยสาร ขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์และไปรษณียภัณฑ์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,768.9 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการให้บริการสายการบินราคาประหยัด เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้โดยสานและนักท่องเที่ยว สนับสนุนอุตสาหกรรมการบินและเพิ่มศักยภาพให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน

-----------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ข้อมูล: ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ