รอง นรม. พล.ร.อ.ณรงค์ฯ เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ครั้งที่ 1/2560

ข่าวทั่วไป Friday June 2, 2017 14:38 —สำนักโฆษก

ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560 – 2564

วันนี้ (2 มิถุนายน 2560) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ครั้งที่ 1/2560 โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองศาสตราจารย์ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อ 1. สร้างสังคมเสมอภาค คนไทยมีเจตคติที่ดี 2. ปราศจากการเลือกปฏิบัติ เข้าใจถึงความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ 3. คุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพ (กายและใจ) พร้อมสุขภาวะ และมีการศึกษาที่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพที่มั่นคง 4. มั่นคงปลอดภัย สังคมที่สงบสุข สตรีอยู่ในครอบครัว ชุมชน และสังคมที่อบอุ่นและมั่นคง โดยมีความปลอดภัยและปราศจากความรุนแรง 5. ทันโลกทันสมัย สตรีมีความรู้เท่าทันโลก สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเข้าถึงข้อมูลความรู้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างมีศักยภาพ

โดยมีแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรี (พ.ศ. 2560 – 2564) ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมในประเด็นความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย (Paradigm Shift Measures) ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1. ปรับเจตคติของคนไทยด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย 2. สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับสื่อ 3. ปลูกฝังค่านิยมวัฒนธรรมและปรับเจตคติสำหรับเด็กและเยาวชน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมพลัง เพิ่มบทบาท และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่สตรีไทยทุกกลุ่ม และทุกระดับ (Empowerment Measures) ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ คือ 1. พัฒนาศักยภาพและทักษะในการประกอบอาชีพที่มั่นคง 2. สร้างความมั่นคงและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ 3. ส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคม 4. พัฒนาศักยภาพให้มีส่วนร่วมทางการเมืองและกระบวนการตัดสินใจ และ5. พัฒนาสุขภาพ สุขภาวะ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาเงื่อนไขและปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาสตรีที่มีประสิทธิผลและเสมอภาค (Enabling Condition Measures) ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1.พัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย 2. กำหนดเงื่อนไขการพัฒนาสตรีเข้าสู่แผนปฏิบัติงานของหน่วยงาน 3. ส่งเสริมและพัฒนางานวิชาการด้านการพัฒนาสตรีและความเสมอภาค

ยุทธศาสตร์ที่ 4 กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือ และเยียวยา (Protective and Corrective Measures) ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ คือ 1. การลดและขจัดความรุนแรงต่อสตรี 2. ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ 3. ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีศักยภาพ คุณภาพ และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความเข้มแข็งของกลไกและกระบวนการพัฒนาสตรี (Strengthen WID Measures) ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ คือ 1. เสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการพัฒนาสตรี 2. พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรที่ปฏิบัติงาน 3. จัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน 4. ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่าย

ทั้งนี้ ตอนท้ายของการประชุม ประธานได้กล่าวย้ำว่าในแต่ละยุทธศาสตร์ เห็นควรให้ฝ่ายเลขาณุการฯ เพิ่มเติมรายละเอียดในส่วนแผนปฏิบัติงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการบูรณาการทุกภาคส่วน Thailand 4.0 และให้เพิ่มเติมในส่วนดัชนีชี้วัดความสำเร็จของแต่ละโครงการในยุทธศาสตร์นั้น ๆ ที่จะต้องเป็นรูปธรรม มีความชัดเจน โดยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้หน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทในการพัฒนา เพี่อเป็นการเสริมพลังให้แต่ละโครงการประสบความสำเร็จ เนื่องจากใกล้ชิดประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อจะได้นำแผนปฏิบัติงานดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

..................................................................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ