วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544
วันนี้ เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม สัมชชาใหญ่รัฐสภาอาเซียครั้งที่ 22 (the 22nd General Assembly of the ASEAN Inter-Parliamentary Organization (AIPO) สรุปสาระสำคัญดังนี้
หลังการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกส่วนใหญ่ ในปัจจุบันว่า อยู่ในภาวะที่สั่นคลอนเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆของโลก ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียต้องเผชิญกับความยากลำบากและเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วิกฤตนั้นเกิดจากโครงสร้างที่อ่อนแอของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมาชิกอาเซียนต้องเผชิญกับความตึงเครียดทั้งภายในประเทศและความกดดันจากกระแสโลกาภิวัฒน์นอกภูมิภาค ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีอยู่ก็ไม่สามารถจะเตือนภัยถึงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่กำลังเกิดขึ้น การปราศจาก กลไกในระดับภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศอาเซียนจำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอดตามด้วยตัวเอง
จากการที่อาเซียนได้ขยายจำนวนสมาชิกจนครบ 10 ประเทศ ทำให้อาเซียนต้องเผชิญกับความแตกต่าง ทางการเมืองและรูปแบบทางสังคม-เศรษฐกิจ ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจอาเซียน กำลังฟื้นตัว และปรับสู่ทิศทางที่ดีขึ้น แต่ความไม่แน่นอนและความตึงเครียดกลับขยายตัวมากยิ่งขึ้น มาตรการ ที่เข้มแข็งจำเป็นต้องนำมาใช้ เพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมทั้งความจริงใจ และความร่วมมือ ในการแก้ไขปัญหา พื้นฐานท่ามกลางสถาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ดังนั้น ความร่วมมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับเร่งเพื่อส่งเสริมให้อาเซียนมีพลวัตร ศักยภาพทางการแข่งขัน ความมั่นคงในภูมิภาค และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งกระชับความร่วมมือระหว่างอาเซียนด้วยกัน และระหว่างอาเซียนกับทุกภูมิภาคของโลกให้มากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวต่อไปว่า อาเซียนจำเป็นต้องกลับมาเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก ที่ต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็ว และการจัดสรรสินทรัพย์ ที่หาได้ยาก ดังนั้น เราต้องหันกลับมาพึ่งพาตัวเองทั้งในแง่การตลาดและการลงทุน เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤต ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต การดำเนินยุทธศาสตร์แบบควบคู่ (Dual Track Strategy) โดยการสร้างตลาดภายใน และการส่งออกสินค้าออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเชิงการแข่งขันด้วยมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้น จากการที่ภูมิภาคเอเชีย มีความหลากหลายทั้งทรัพยากร แรงงาน และฝีมือ จึงอยู่ในสถานะที่เหมาะสมที่จะร่วมมือกัน เพื่อสร้างความรุ่งเรืองให้แก่ประชากรของเรา
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า พวกเราในฐานะสมาชิกอาเซียน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการร่วมมือกันพัฒนา ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ความร่วมมือที่ใกล้ชิดดังกล่าวนั้น จะนำมาซึ่งการแบ่งสรรผลประโยชน์และความเข้าใจที่ดีมากยิ่งขึ้น ในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานร่วมกัน ด้วยวิธีการที่สร้างสรร จริงใจและสันติ
นายกรัฐมนตรีได้กล่างเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อความก้าวหน้า และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของ AIPO และอาเซียนเอง โดยบทบาทที่สร้างสรรของ AIPO จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าและความรุ่งเรืองของอาเซียนและเอเชียโดยรวม
ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักโฆษก โทรภายใน 8055 โทร 6299292,6299491 โทรสาร 2814450
-สส-