นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Thursday June 8, 2017 15:11 —สำนักโฆษก

ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุดแก่ประชาชน

วันนี้ (8 มิถุนายน 2560) เวลา 10.00 น. ณ รัฐสภา ถนนอู่ทองใน กรุงเทพฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยมีหลักการและเหตุผลของการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นจำนวนไม่เกิน 2,900,000,000,000 บาท (สองล้านเก้าแสนล้านบาท) ซึ่งมีเหตุผลเพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำหรับใช้เป็นหลักในการจ่ายเงินแผ่นดิน

สำหรับประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ให้งบประมาณแผ่นดินเป็นเครื่องมือของภาครัฐ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลให้และความคุ้มค่าสูงสุดแก่ประชาชน

ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะแถลงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 นายกรัฐมนตรีได้รายงานให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทราบถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วไป ฐานะ และนโยบายการเงินการคลังของประเทศดังต่อไปนี้

ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป - 2560 มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.3–3.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของการส่งออกตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก (2) การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่อยู่ในระดับสูงและเร่งขึ้น (3) การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี (4) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่สนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และ (5) การปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน การดำเนินมาตรการและนโยบายที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าในตลาดโลก สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8-1.3 ในขณะที่การจ้างงานมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต และดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีแนวโน้มเกินดุลประมาณร้อยละ 8.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.3–4.3 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการตามภาวะเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่มีการฟื้นตัวและขยายตัวมากขึ้น และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตภาคเกษตร สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5–2.5 ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลประมาณร้อยละ 8.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ฐานะและนโยบายการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ห้าพันล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากปีก่อน และเมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 115,000 ล้านบาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท) แล้ว/คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,450,000 ล้านบาท (สองล้านสี่แสนห้าหมื่นล้านบาท) หรือร้อยละ 15.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อสมาชิก ผู้ทรงเกียรติในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,900,000 ล้านบาท (สองล้านเก้าแสนล้านบาท) เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,450,000 ล้านบาท (สองล้านสี่แสนห้าหมื่นล้านบาท) และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกจำนวน 450,000 ล้านบาท (สี่แสนห้าหมื่นล้านบาท)

ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 182,515 ล้านบาท (หนึ่งแสนแปดหมื่น-สองพันห้าร้อยสิบห้าล้านบาท) โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ฐานะและนโยบายการเงิน เศรษฐกิจไทยในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว/ ในขณะที่รายได้ภาคเกษตรปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากภาคต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ในการประชุม 2 ครั้งแรกของปี 2560 เพื่อรักษาภาวะการเงินให้อยู่ในระดับผ่อนปรน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ค่ากลางของเป้าหมายนโยบายการเงิน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินเห็นว่า การใช้จ่ายของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เศรษฐกิจและกระตุ้นความเชื่อมั่นและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมทั้งเห็นถึงความจำเป็นของนโยบายที่เอื้อให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ แม้เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินไทยในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลให้เกิดการสะสมความไม่สมดุลในระบบการเงิน จึงต้องติดตามสัญญาณความเสี่ยงและดำเนินการจัดการอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีต่อไป

สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2560 มีจำนวน 184,469.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หนึ่งแสนแปดหมื่นสี่พันสี่ร้อยหกสิบเก้าจุดเก้าล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือคิดเป็นประมาณ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับมั่นคง

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันนี้/ ได้จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) โดยคำนึงถึงความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง และยังคงยึดหลักการสำคัญสองประการ คือ

ประการที่หนึ่ง น้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ที่ได้พระราชทานไว้ให้แก่ปวงชนชาวไทย มาเป็นแนวทางในการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณที่สมเหตุสมผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอประมาณ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างสมดุลในทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประการที่สอง ดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการพัฒนาประเทศ และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ควบคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560–2564) และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2558–2564)

โดยกำหนดนโยบายและแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ปฏิรูปการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างต่อเนื่อง โดยปรับปรุงการจำแนกงบประมาณเป็น 6 กลุ่ม เพื่อแสดงถึงค่าใช้จ่ายในแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนยิ่งขึ้นประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายงบกลาง กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน (Function) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) และกลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณตามลำดับความสำคัญของแต่ละกลุ่มงบประมาณรายจ่าย มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ

2. การจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ที่สอดคล้องตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี จำนวน 29 เรื่อง โดยจัดไว้ในกลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 26 เรื่อง และกลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ จำนวน 3 เรื่อง โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการภารกิจและงบประมาณ 3 มิติ โดยมิติยุทธศาสตร์ และมิติกระทรวง/หน่วยงาน บูรณาการร่วมกับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในมิติพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในระดับพื้นที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และสามารถใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและประหยัดงบประมาณ

3. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่มีเงินรายได้และเงินสะสมคงเหลือได้พิจารณานำเงินดังกล่าวมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงาน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดควบคู่กับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินภารกิจที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือสร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศเกินความจำเป็น เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวไปจัดทำภารกิจที่มีความสำคัญเร่งด่วน มีความคุ้มค่าและมีความพร้อมในการดำเนินงานโดยประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อ สนช. มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,900,000 ล้านบาท (สองล้านเก้าแสนล้านบาท) จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,153,133.7 ล้านบาท (สองล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นสามพันหนึ่งร้อยสามสิบสามจุดเจ็ดล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 74.2 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน จำนวน 659,924 ล้านบาท (หกแสนห้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยยี่สิบสี่ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 22.8 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 86,942.3 ล้านบาท (แปดหมื่นหกพันเก้าร้อยสี่สิบสอง จุดสามล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งจะได้เรียนให้ทราบถึงสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยจำแนกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ได้กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์/1 รายการ/มีรายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1:ด้านความมั่นคง

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 273,954 ล้านบาท (สองแสนเจ็ดหมื่นสามพันเก้าร้อยห้าสิบสี่ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 9.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ สร้างความปรองดองและสมานฉันท์ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคงรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 476,596.6 ล้านบาท (สี่แสนเจ็ดหมื่นหกพันห้าร้อยเก้าสิบหกจุดหกล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 16.4 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้ง SME และ Micro SME พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล วิจัยและนวัตกรรม สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ พัฒนาศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงิน การคลัง พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต บริการ การค้า และการลงทุน พัฒนาและยกระดับผลิตภาพแรงงาน พัฒนาความร่วมมือด้านต่างประเทศ สร้างและรักษาผลประโยชน์ชาติ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 575,709.8 ล้านบาท (ห้าแสนเจ็ดหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยเก้าจุดแปดล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 19.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาด้านสาธารณสุขและสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 332,584.8 ล้านบาท (สามแสนสามหมื่นสองพันห้าร้อยแปดสิบสี่จุดแปดล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 11.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนให้เข้มแข็ง พัฒนาระบบประกันสุขภาพ สร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเสริมสร้างสวัสดิการสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 125,459.4 ล้านบาท (หนึ่งแสนสองหมื่นห้าพันสี่ร้อยห้าสิบเก้า จุดสี่ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 4.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อจัดการปัญหาที่ดินทำกิน นำที่ดินบุกรุกมาจัดสรรให้กับประชาชน บริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขยะล้นเมือง การแยกขยะ ใช้พลังงานทดแทน ดูทั้งระบบขยายท่อระบายน้ำ ขยายเมืองง่ายกว่าย้ายเมือง บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และภัยพิบัติ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 784,210.1 ล้านบาท (เจ็ดแสนแปดหมื่นสี่พันสองร้อยสิบจุดหนึ่งล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม อำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ บริหารจัดการรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ ตลอดจนพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน

รายการค่าดำเนินการภาครัฐ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 331,485.3 ล้านบาท (สามแสนสามหมื่นหนึ่งพันสี่ร้อยแปดสิบห้าจุดสามล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 11.4 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ภัยพิบัติต่างๆ เราต้องเตรียมพร้อม

2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย

เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำแนกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

          2.1 งบประมาณรายจ่ายงบกลางรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 76,566.3 ล้านบาท (เจ็ดหมื่นหกพันห้าร้อยหกสิบหกจุดสามล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 ของวงเงินงบประมาณ  (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ จำนวน 63,000 ล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มงบประมาณรายจ่าย      บูรณาการ และค่าใช้จ่ายบุคลากร ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐจำนวน 254,759.7 ล้านบาท)  เพื่อสนับสนุน        พระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินส่งเสริมและเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาในสภาวะฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น สามารถนำไปใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การฟื้นฟู ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตลอดจนการชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพก่อสร้าง

2.2 กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวน 1,021,506.3 ล้านบาท (หนึ่งล้านสองหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยหกจุดสามล้านบาท) หรือ คิดเป็นร้อยละ 35.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในการดำเนินการภารกิจของรัฐ ตลอดจนพัฒนาระบบงานของหน่วยงานภาครัฐและพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสมดุล ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายตามสิทธิและข้อกำหนดตามกฎหมายของบุคลากรภาครัฐ

2.3 กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน (Function) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวน 585,037.5 ล้านบาท (ห้าแสนแปดหมื่นห้าพันสามสิบเจ็ดจุดห้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 20.2 ของวงเงิน งบประมาณ จำแนกเป็น 2 แผนงานหลัก ประกอบด้วย

2.3.1 แผนงานพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 306,306.6 ล้านบาท (สามแสนหกพันสามร้อยหกจุดหกล้านบาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการตามหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นปกติประจำตามกฎหมายจัดตั้งของหน่วยงานใน 6 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย 1) ด้านความมั่นคง 2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4) ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน 5) ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

2.3.2 แผนงานยุทธศาสตร์ ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 278,730.9 ล้านบาท (สองแสนเจ็ดหมื่นแปดพันเจ็ดร้อยสามสิบจุดเก้าล้านบาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายในเชิงนโยบายที่ต้องการผลักดันให้สัมฤทธิผลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ประกอบด้วย

1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เพื่อธำรงรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์มิให้มีผู้ใดล่วงละเมิด เสริมสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่งเสริมและเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ น้อมนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม และดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง

2) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคง เพื่อสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ พัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมบทบาทของประชาคมอาเซียนและการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพภายใต้กรอบสหประชาชาติ รวมทั้งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาบริเวณพื้นที่ชายแดน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติด้านความมั่นคง

3) การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและประชาคมโลก ในการอำนวยความปลอดภัยและเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ข้ามชาติ การก่อการร้ายและภัยคุกคามทุกรูปแบบ รวมทั้งเสริมสร้างประสิทธิภาพงานด้านข่าวกรองทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ

4) การเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ/เสริมสร้างและพัฒนาระบบป้องกันประเทศให้มีความพร้อมและศักยภาพในการพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ ให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ

5) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการเงินการคลัง โดยพัฒนาระบบประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ปรับปรุงหลักการและแนวทางการกำกับที่ดีในรัฐวิสาหกิจ 55 แห่ง สนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านการค้ำประกันสินเชื่อในส่วนที่ขาดหลักประกันสนับสนุนการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม พร้อมสนับสนุนโครงการ มาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมทั้งชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

6) การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งที่เป็นโครงสร้างทางกายภาพ อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS -2) โครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ แสงซินโครตรอน เทคโนโลยีนิวเคลียร์ รวมทั้งศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต (Futurium) และโครงสร้างด้านการจัดการ อาทิ การบริหารจัดการสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร การวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาจาก ภูมิปัญญาของคนไทย เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรด้านการวิจัย การยกระดับห้องปฏิบัติการ ทดสอบ สอบเทียบ และการส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความสนใจ และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์

7) การพัฒนาประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต บริการ การค้า และการลงทุน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการผลิตการบริการ การค้าและการลงทุน โดยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม (Zoning) สร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว 1,500 ราย ด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมไม่น้อยกว่า 1,200 ราย ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน 2,100 ผลิตภัณฑ์ จัดทำระบบสารสนเทศด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและสัญญาณเตือนภัยภาคอุตสาหกรรมที่ทันสมัย รวมทั้งสร้างความรู้ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้สามารถยกระดับอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ส่งเสริมสินค้า อัตลักษณ์ไทยให้มีมูลค่าเพิ่มจากการใช้นวัตกรรม กำกับดูแลสินค้า บริการ และมาตรฐานชั่ง ตวง วัด ให้มีมาตรฐานและเป็นธรรมกับผู้บริโภค รองรับไทยแลนด์ 4.0 โดยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสนับสนุนการสร้างแบรนด์การค้าประเทศไทย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม ส่งเสริมและคุ้มครองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เร่งรัดการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญากว่า 20,000 รายการ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศในอาเซียน ผลักดันการค้าระหว่างประเทศกับพันธมิตรในทุกภูมิภาค พัฒนาและส่งเสริมครัวไทยสู่ครัวโลก โดยแนะนำร้านอาหารไทยและอาหารฮาลาลผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่ง Street Food ของประเทศไทยมีชื่อเสียงระดับโลก จัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้าตามมาตรฐานสากล พัฒนาข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึก ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่ออนุรักษ์ สืบสานงานศิลปาชีพเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้สามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และการให้บริการด้านอัญมณีและเครื่องประดับสู่ตลาดโลก

8) การพัฒนาและยกระดับผลิตภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการ ฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนามาตรฐานอาชีพและมาตรฐานอุตสาหกรรมให้อยู่ในระดับสากล 4,000 อาชีพ แนะแนวและส่งเสริมอาชีพไม่น้อยกว่า 413,000 คน สนับสนุนให้มีการจ้างงานเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติไม่น้อยกว่า 19,900 คน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบการไม่น้อยกว่า 1,700 แห่ง ตลอดจนสนับสนุนให้แรงงานได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน พร้อมเตรียมพร้อมแรงงานให้มีศักยภาพรองรับ Thailand 4.0 เพื่อเพิ่มมูลค่าของค่าแรงให้สูงขึ้น

9) การพัฒนาความร่วมมือด้านต่างประเทศ สร้างและรักษาผลประโยชน์ชาติ เพื่อรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติในทุกมิติ ทั้งในระดับทวิภาคี ระดับพหุภาคี ระดับอนุภูมิภาค และระดับภูมิภาค การรักษาดุลยภาพในการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชีย ส่งเสริมการสร้างและรักษาความเชื่อมั่นของนานาประเทศที่มีต่อประเทศไทย เสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้การคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ พัฒนาฝีมือแรงงานรองรับการพัฒนาในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายและสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ระหว่างประเทศ

10) การพัฒนาด้านสาธารณสุขและสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวม โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสุขภาพและชุมชน พัฒนาระบบบริการฉุกเฉินและระบบการส่งต่อ รวมทั้งเพิ่มช่องทางการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสุขภาวะเชิงรุกอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ และโรคอุบัติใหม่ ขยายบทบาทการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรพร้อมส่งเสริมให้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจชุมชนสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพการวิจัยด้านการแพทย์ เร่งรัดการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขไม่น้อยกว่า 14,700 คน และกระจายแพทย์ไปสู่ชนบทไม่น้อยกว่า 1,000 คน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทยและราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและครบวงจร

11) การส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างเสริมโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และนักกีฬาได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนพัฒนาการกีฬาไปสู่ความเป็นเลิศและกีฬาอาชีพ โดยการสนับสนุนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์การกีฬา สถานที่ฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐาน ผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินที่มีคุณภาพ ควบคู่กับการบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมทั้งจัดการประชุมและจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

12) การส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมสังคมให้มีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม มีพฤติกรรมที่ดีงาม มีความรักและเทิดทูนในสถาบันหลักของชาติ ปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ ให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนรณรงค์ เผยแพร่ และเสริมสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ความเป็นไทย สนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมไทย พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รวมทั้งประสานเชื่อมโยงบูรณาการร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อนำความเป็นไทยสู่สากล

13) การส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง มีความพอประมาณ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง ขยายผลการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวง 33 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำระบบชลประทาน แหล่งน้ำบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาที่ดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการเกษตร เสริมสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ หม่อนไหม ส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือน พัฒนาอาชีพให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและจัดการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน 11 ลุ่มน้ำ ตลอดจนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

14) การเสริมสร้างสวัสดิการสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อดำเนินการให้ผู้สูงอายุ เด็ก สตรี คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงบริการสวัสดิการสังคมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน ราษฎรบนพื้นที่สูง และสมาชิกนิคมสร้างตนเองไม่น้อยกว่า 306,800 คน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีและลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ 4,000 คน ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมไม่น้อยกว่า 768,900 คนสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน 500 ตำบล แก้ไขปัญหาครัวเรือนชุมชนแออัดในเมืองให้มีที่อยู่อาศัยและสิทธิในที่ดินเป็นของตนเองเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 25,800 ครัวเรือน สนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีที่อยู่อาศัย 128 แห่ง รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนด้านการเดินทางรถไฟและรถโดยสารประจำทางโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

15) การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากร ธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ป้องกัน ปราบปราม และหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้แบบบูรณาการทั้งอากาศยานและภาคพื้นดิน โดยการบินเพื่อคุ้มครองและป้องกันพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 50 ล้านไร่จัดตั้งจุดสกัดและหน่วยพิทักษ์ป่า ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมไม่น้อยกว่า 55,900 ไร่ ป้องกันรักษาป่าชายเลนในพื้นที่วิกฤต 1.4 ล้านไร่ ก่อสร้างทางและสะพานผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายฟื้นฟูทรัพยากรปะการังและหญ้าทะเล คุ้มครองทรัพยากรปะการังในอุทยานแห่งชาติไม่น้อยกว่า 48,200 ไร่ ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One map) ทั้งในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติควบคุมงาช้างผิดกฎหมายจัดตั้งหมู่ดับไฟป่าเคลื่อนที่ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 54,600 ไร่ จัดหาแหล่งทรัพยากรธรณีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือและการเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ ฟื้นฟูพันธุ์พืช ที่ใกล้สูญพันธุ์ พันธุ์พืชที่ถูกคุกคาม พัฒนาสวนสัตว์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จัดทำระบบบัญชีรายการทรัพยากรพันธุกรรมฐานชีวภาพ ตลอดจนจัดทำผังเมืองเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและรองรับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

16) การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และภัยพิบัติ เพื่อให้ประเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีความพร้อมรองรับและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โดยสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ 76 จังหวัด ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพัฒนาธุรกิจและตลาดคาร์บอนภายในประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งทางสังคมเพื่อปรับตัวให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และพื้นที่ตลิ่งริมแม่น้ำชายแดนระหว่างประเทศจัดให้มีอุปกรณ์และเครื่องมือด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยจากสภาวะอากาศตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ตลอดจนป้องกัน ฟื้นฟู ช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสาธารณภัย

17) การบริหารจัดการรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดเก็บภาษี/ และอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมาย/ สนับสนุนการดำเนินงานระบบการบริหารการเงิน การคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์(GFMIS)และพัฒนาระบบสารสนเทศการเงินการคลังเพื่อรองรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งพัฒนาระบบการจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ สามารถสนองต่อนโยบายและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลมีการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ในทุกมิติตลอดจนพัฒนาระบบการติดตามประเมินผลให้สามารถวัดผลสัมฤทธิ์และผลกระทบการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ

18) การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ มีการบริหารงานเชิงรุกโดยสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการด้านนิติบัญญัติพัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มีคุณภาพให้หน่วยงานภาครัฐมีการบริหารจัดการที่ดี บูรณาการงานทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพส่งเสริมสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นรวมทั้งให้อำเภอเป็นศูนย์กลางการบริหารงานภาครัฐตลอดจนปฏิรูประบบงานตำรวจให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ปราศจากการทุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม รักษาวินัยและธรรมาภิบาล

2.4 กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวน 582,626.9 ล้านบาท (ห้าแสนแปดหมื่นสองพันหกร้อยยี่สิบหกจุดเก้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินงานเรื่องสำคัญ จำนวน 26 เรื่อง ดังนี้

1) การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ งบประมาณทั้งสิ้น 505.4 ล้านบาท (ห้าร้อยห้าจุดสี่ล้านบาท) เพื่อเสริมสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชุมชนและสังคม ลดความขัดแย้งของประชาชนในมิติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมให้ผู้เห็นต่างทางความคิดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมไม่น้อยกว่า 74,000 หมู่บ้าน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยสร้างความรัก ความปรองดองและสร้างความยุติธรรมในสังคมภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทุกจังหวัด สร้างความสามัคคี ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีค่านิยมและจิตสำนึกในความรักชาติ ปลูกฝังทัศนคติความเป็นไทย และวิถีชีวิตตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณทั้งสิ้น 13,295.4 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นสามพันสองร้อยเก้าสิบห้าจุดสี่ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ทั้งในเขตเมือง ชุมชน และหมู่บ้านเป้าหมายเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญคือ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้แก่ประชาชน พัฒนางานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พัฒนาศักยภาพของพื้นที่ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน พัฒนาทางด้านการศึกษาส่งเสริมด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และเสริมสร้างความเข้าใจการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกภาคส่วน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไข ความขัดแย้งโดยสันติวิธี

3) การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ งบประมาณทั้งสิ้น 832.6 ล้านบาท (แปดร้อยสามสิบสองจุดหกล้านบาท) เพื่อบริหารจัดการให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้องและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ดำเนินการให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้แก่ เด็ก สตรี แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว และแรงงานประมงปลอดภัยจากขบวนการค้ามนุษย์ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ จัดทำทะเบียนให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่น้อยกว่า 909,000 คน จัดทำประวัติและออกบัตรประจำตัวแก่บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย 133,000 คนพัฒนาฐานข้อมูลและกลไกเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมทั้งชี้แจงสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้แก่องค์กรเครือข่ายและประชาชนกลุ่มเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ไม่น้อยกว่า 1.6 ล้านคน คุ้มครองช่วยเหลือและฝึกอาชีพแก่เหยื่อผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์เพื่อให้กลับคืนสู่สังคมอย่างปลอดภัยไม่น้อยกว่า 2,500 คน ตลอดจนตรวจตราเพื่อเฝ้าระวังและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศบูรณาการการตรวจเรือและการใช้แรงงานประมง 372 ครั้ง รวมทั้งดำเนินคดีและดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดมูลฐานการค้ามนุษย์ไม่น้อยกว่า 200 คดี

4) การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด งบประมาณทั้งสิ้น 4,930 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและมีภูมิคุ้มกันจากยาเสพติด โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ สร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน ผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน สร้างสภาพแวดล้อมและการมีส่วนร่วมในการป้องกันยาเสพติดให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดในระดับรุนแรงและปานกลางไม่น้อยกว่า 30,600 แห่ง ทั่วประเทศ ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้ค้าและผู้กระทำผิดคดียาเสพติดรายสำคัญไม่น้อยกว่า 62,000 คดี ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน เพื่อสกัดกั้นและทำลายแหล่งผลิตยาเสพติดที่จะลักลอบนำเข้าประเทศไทย นำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาทุกระบบไม่น้อยกว่า 220,000 คน และมีการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดทุกคน รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือในการประกอบอาชีพ

5) การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ งบประมาณทั้งสิ้น 2,544 ล้านบาท เพื่อยกระดับผลิตภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของสถานประกอบการ แรงงาน ผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศโดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และระบบการบริหารจัดการเพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง ยกระดับผลิตภาพแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตให้มีศักยภาพสามารถทำงานได้หลากหลายทักษะ ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 110,000 คน ผลิตและพัฒนามาตรฐานนักเรียนอาชีวศึกษาด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม จัดทำและทบทวนมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ 11 สาขาวิชาชีพ กำหนดให้มีศูนย์การทดสอบในระดับอุตสาหกรรมตามมาตรฐานที่สำคัญในอุตสาหกรรมศักยภาพ อาทิ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติศูนย์ออกแบบมาตรฐานการทดสอบด้านแบตเตอรี่และระบบการขับเคลื่อน รวมทั้งเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนและเสริมสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่

6) การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งบประมาณทั้งสิ้น 3,825.1 ล้านบาท (สามพันแปดร้อยยี่สิบห้าจุดหนึ่งล้านบาท) เพื่อขับเคลื่อนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล และเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 90,000 ล้านบาท โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือสร้างและพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง พัฒนาศูนย์บ่มเพาะและพื้นที่ในการพัฒนาแนวคิดธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ ให้มีศักยภาพ ให้ความช่วยเหลือพัฒนาและส่งเสริม SME กลุ่มทั่วไป กลุ่มที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ และกลุ่มที่มีศักยภาพ ให้มีศักยภาพและผลิตภาพสูงขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้พัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า ยกระดับมาตรฐานและบริการให้สามารถเข้าถึงตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการส่งเสริม SME โดยปรับปรุงฐานข้อมูลและพัฒนาผู้ให้บริการแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

7) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ งบประมาณทั้งสิ้น 10,599.5 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นห้าร้อยเก้าสิบเก้าจุดห้า ล้านบาท) เพื่อจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง รวมทั้งการให้บริการที่เกี่ยวข้องที่ได้มาตรฐาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการมาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง ได้แก่ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา หนองคาย เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส ให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของมูลค่าการลงทุนและสถานประกอบการ นำไปสู่การกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ได้แก่ ด่านศุลกากร ด่านสินค้าเกษตรชายแดน นิคมอุตสาหกรรม ขยายระบบประปาและการวางผังเมือง พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน บริการข้อมูลแก่นักลงทุนประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ จัดกิจกรรมการค้าชายแดน บริการออกใบอนุญาตทำงานในศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านแรงงานต่างด้าว เพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อ โรคอุบัติใหม่ พัฒนาด่านตรวจสัตว์ป่า เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ควบคุมและบริการนำเข้าไม้และของป่า ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเตรียมความพร้อมศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ ก่อสร้างและปรับปรุงท่าอากาศยานแม่สอด ก่อสร้างและขยายช่องจราจรทางหลวง 12 สายทาง ระยะทางรวมไม่น้อยกว่า 250 กิโลเมตร และทางหลวงชนบท 14 สายทาง ระยะทางรวมไม่น้อยกว่า 140 กิโลเมตร

8) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก งบประมาณทั้งสิ้น 8,444.7 ล้านบาท (แปดพันสี่ร้อยสี่สิบสี่จุดเจ็ดล้านบาท) เพื่อพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่มีศักยภาพและเพียงพอ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการมาลงทุน โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และสำนักงานการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการลงทุน พัฒนาการคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งทางถนนไม่น้อยกว่า 270 กิโลเมตร ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ–ระยอง ปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือท่าเรือจุกเสม็ด ก่อสร้างทางขับ (Taxiway) สนามบินอู่ตะเภาเพิ่มเติม ปรับปรุงและขยายการให้บริการประปาในพื้นที่อย่างทั่วถึงและได้มาตรฐาน การวางและจัดทำผังเมืองรวม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโรงพยาบาล ก่อสร้างสถานีตำรวจภูธร และจัดหาครุภัณฑ์ระบบบริการเพื่อความมั่นคง จัดทำระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

9) การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ งบประมาณทั้งสิ้น 113,735.3 ล้านบาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสามพันเจ็ดร้อยสามสิบห้าจุดสามล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านถนน ราง น้ำ อากาศ เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคให้มีการพัฒนาไปพร้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาการบริหารจัดการและบุคลากร ลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี รวม 2 สาย 300 กิโลเมตร ค่าเตรียมการ จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสายนครปฐม – ชะอำ 110 กิโลเมตร ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ทางหลวงชนบท และเตรียมความพร้อมทางพิเศษด้วยการดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทางพิเศษ 35 กิโลเมตร สายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก รวมระยะทางถนน 2,970กิโลเมตร สะพาน 195 แห่ง ขยายท่าอากาศยานและท่าเรือสำคัญเพื่อเป็นประตูขนส่งของอนุภูมิภาค CLMV (Transshipment CLMV port) วางแผนพัฒนาท่าเรือบก เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้า ก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจจากตะวันออกสู่ตะวันตก และลงใต้สู่การเชื่อมโยงหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) วางแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองหลักของภูมิภาคไปพร้อมกับการพัฒนาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศเพื่อลดความแออัด ยกระดับขีดความสามารถและแก้ไขข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยของท่าอากาศยาน

สำหรับการจัดการโลจิสติกส์ ดำเนินการพัฒนาระบบงานและบุคลากร ยกระดับการจัดการสถานประกอบการ อบรมความรู้ในภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมโลจิสติกส์การค้าระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยกับต่างประเทศ กำกับดูแล พัฒนามาตรฐานการคมนาคมขนส่งทางถนน ทางราง ทางอากาศให้มีมาตรฐานสูงขึ้นในระดับสากล พัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (NSW) เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการนำเข้าส่งออกและโลจิสติสก์แบบไร้กระดาษจากรัฐสู่ธุรกิจ ธุรกิจสู่ธุรกิจ และธุรกิจสู่ผู้บริโภค ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น

10) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล งบประมาณทั้งสิ้น 4,470.6 ล้านบาท (สี่พันสี่ร้อยเจ็ดสิบจุดหกล้านบาท)เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและสร้างความเท่าเทียมทางสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและบริการดิจิทัล โดยจัดให้มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน10,000 ชุมชน ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและการให้บริการภาครัฐสู่ระบบดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาศักยภาพการแข่งขันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ความรู้และเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ประชาชนและผู้ทำงานทุกสาขาอาชีพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

11) การวิจัยและนวัตกรรม งบประมาณทั้งสิ้น 17,188.7 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นเจ็ดพันหนึ่งร้อยแปดสิบแปดจุดเจ็ดล้านบาท) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม มุ่งตอบสนองภาคการผลิตสาขายุทธศาสตร์ (Super Cluster) ให้สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประเทศและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญคือ ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาสังคม ชุมชน ความมั่นคง สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิชาการเชิงลึก และการวิจัยประยุกต์เชิงลึกเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของหน่วยงานให้เป็นไปตามมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 6,500 โครงการ/เรื่อง ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย การพัฒนาระบบมาตรฐานคุณภาพงานวิจัย และระบบมาตรฐานอุตสาหกรรม รวมทั้งการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และสนับสนุนนักเรียนทุนไม่น้อยกว่า 2,200 ทุน

12) การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ งบประมาณทั้งสิ้น 8,712.2 ล้านบาท (แปดพันเจ็ดร้อยสิบสองจุดสองล้านบาท) เพื่อพัฒนาและเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการให้มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 2.7 ล้านล้านบาท โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การตลาดเชิงรุก เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่า พร้อมการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว สนับสนุนให้มีการจัดประชุมและนิทรรศการภายในประเทศไทย ส่งเสริมไทยเที่ยวไทยที่สมดุลเชิงพื้นที่และเวลา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ในเชิงกลุ่มให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มโดยคำนึงถึงเอกลักษณ์ วิถีชีวิตของชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวรายสาขาอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านอาหาร รวมทั้งยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงชนบทเพื่อการท่องเที่ยว 241 กิโลเมตร พัฒนากลไกการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวทั้งระบบในเชิงนโยบาย พัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการด้านการ ท่อง เที่ยวในทุกระดับไม่น้อยกว่า 12,300 คน

13) การพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร งบประมาณทั้งสิ้น 9,698.1 ล้านบาท (เก้าพันหกร้อยเก้าสิบแปดจุดหนึ่งล้านบาท) เพื่อให้การผลิตภาคเกษตรมีความเข้มแข็งและยั่งยืน ใช้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อผลักดันมูลค่าสินค้าเกษตรให้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 รวมทั้งเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและสถาบันเกษตรให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมให้มีการลดต้นทุนการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ไม่น้อยกว่า 3,600 แปลง เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 360,000 ไร่ การปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) ไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ พัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ และยกระดับเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmers) ไม่น้อยกว่า 100,000 ราย และเกษตรทฤษฎีใหม่ไม่น้อยกว่า 210,000 ไร่/ เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5

14) การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ งบประมาณทั้งสิ้น 577.8 ล้านบาท (ห้าร้อยเจ็ดสิบเจ็ดจุดแปดล้านบาท) เพื่อขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศให้มีศักยภาพ ในการแข่งขันการส่งออกสินค้าและบริการเป้าหมายมูลค่าการส่งออกสินค้าเป้าหมายมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1 โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ สร้างความเป็นหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนกับประเทศในอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาประเทศ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางการค้า การลงทุนในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย – แปซิฟิก และความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พัฒนาและส่งเสริมสินค้าและธุรกิจบริการที่มีศักยภาพสู่สากลไม่น้อยกว่า 1,500 ราย พัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี และเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า 84 แห่ง รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลและสถิติการค้าและการลงทุน

15) การพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย งบประมาณทั้งสิ้น 8,474.8 ล้านบาท (แปดพันสี่ร้อยเจ็ดสิบสี่ จุดแปดล้านบาท) เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทย สร้างความมั่นคงในชีวิต สร้างความอบอุ่นเข้มแข็งมีคุณธรรมจริยธรรมของครอบครัวไทย โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ กลุ่มเด็กแรกเกิดและปฐมวัย สนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดจนอายุ 3 ปี ในครอบครัวยากจนไม่น้อยกว่า 344,100 คน ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย กลุ่มเด็กนักเรียน สนับสนุนอาหารกลางวันไม่น้อยกว่า 573,400 คน และอาหารเสริม (นม) ไม่น้อยกว่า 1.1ล้านคน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สนับสนุนชุมชนคุณธรรมขับเคลื่อนด้วยพลังบวร 3,000 แห่ง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม กลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษา สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษา ส่งเสริมความเข้มแข็งของสภาเด็กและเยาวชน 8,780 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ กลุ่มวัยแรงงาน ส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพคนพิการ 3,200 คน และกลุ่มผู้สูงอายุ จัดสวัสดิการพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก 15,000 คน รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายจัดงานศพผู้สูงอายุตามประเพณีไม่น้อยกว่า 12,600 คน

16) การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต งบประมาณทั้งสิ้น 92,820.8 ล้านบาท (เก้าหมื่นสองพันแปดร้อยยี่สิบ จุดแปด ล้านบาท) เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนมีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ปรับปรุงระบบการเรียนการสอนที่บูรณาการความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ ให้กับครูผู้สอน ไม่น้อยกว่า 34,000 คน พัฒนาการเรียนรู้ด้านภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่อ่านเขียนไม่คล่อง 235,000 คน สานพลังประชารัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ “โรงเรียนประชารัฐ” 7,000 โรงเรียน พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้เรียน สนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมสร้างสรรค์โดยการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ไม่น้อยกว่า 34,000 โรงเรียนในทุกสังกัด ส่งเสริมการเรียนทวิศึกษาควบคู่สายสามัญศึกษาและสายอาชีพไม่น้อยกว่า 60,000 คน สนับสนุนแนวทางการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่มีความรู้ทางวิชาการเชี่ยวชาญวิชาชีพ ไม่น้อยกว่า 37,200 คน ยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร (Boost Camp) ให้กับครูแกนนำ ไม่น้อยกว่า 6,400 คน ส่งเสริมสถานศึกษาอาชีวศึกษาให้มีความเป็นเลิศเฉพาะทางที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 17 แห่ง สนับสนุนการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษาทางไกลไม่น้อยกว่า 13,000 โรงเรียน บูรณาการฐานข้อมูลและสารสนเทศด้านการศึกษา ให้สามารถติดตามประชากรวัยเรียนที่ขาดโอกาสหรือไม่ได้รับการศึกษา และผู้เรียนที่มีแนวโน้มจะออกกลางคันให้ได้รับการศึกษาอย่างน้อยในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับปฐมวัยต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต สนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี แก่ประชากรวัยเรียนไม่น้อยกว่า 11.2 ล้านคน ผู้เรียนด้อยโอกาส ผู้เรียนพิการ ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดการศึกษาวิชาชีพ และการพัฒนาสมรรถภาพไม่น้อยกว่า 400,000 คน สนับสนุนการบริการจัดการสถานศึกษาทุกสังกัดที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วนไม่น้อยกว่า 3,000 แห่งสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยขับเคลื่อนการปฏิรูปและพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกช่วงวัยในระดับพื้นที่ผ่านระบบศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด

17) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง งบประมาณทั้งสิ้น 5,293.2 ล้านบาท (ห้าพันสองร้อยเก้าสิบสามจุดสองล้านบาท) เพื่อเสริมสร้างให้เศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ส่งเสริมการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนไม่น้อยกว่า 520,000 ราย พัฒนากลุ่มอาชีพ/วิสาหกิจชุมชน ให้เกิดความเข้มแข็งในการบริหารจัดการ สร้างโอกาสให้ประชาชน องค์กรเกษตร และสหกรณ์ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านราย แก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนและเกษตรกรไม่น้อยกว่า 94,000 ราย พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับไม่น้อยกว่า 7,300 ผลิตภัณฑ์ สนับสนุนให้มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และคุณภาพให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ พัฒนาประสิทธิภาพและทักษะในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการชุมชนไม่น้อยกว่า 6,600 รายรวมทั้งส่งเสริมการขยายช่องทางการตลาด และการจัดทำตลาดประชารัฐเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในชุมชน

18) การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ งบประมาณจำนวน 207,099.6 ล้านบาท (สองแสนเจ็ดพันเก้าสิบเก้าจุดเก้าล้านบาท) เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมอย่างมีคุณภาพ ลดปัญหาด้านเศรษฐกิจจากการจ่ายค่าบริการสุขภาพของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำของระบบประกันสุขภาพ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ด้านการบริการสาธารณสุขสำหรับระบบประกันสุขภาพครอบคลุมประชากรทุกภาคส่วน เพื่อให้บริการประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 48.8 ล้านคน ระบบประกันสังคม 12.5 ล้านคน และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 4.5 ล้านคน โดยระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้เพิ่มการให้บริการใหม่ ได้แก่ ค่าบริการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ค่าบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน (EMCO) ค่าบริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) และปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวเป็น 3,197.32 บาทต่อคนต่อปี โดยให้บริการสุขภาพและการควบคุมป้องกันแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมถึงผู้ติดเชื้อ เอช.ไอ.วี. และผู้ป่วยเอดส์ 296,900 คน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังไม่น้อยกว่า 52,900 คน บริการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเรื้อรังไม่น้อยกว่า 2.9 ล้านคน ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 193,200 คน บริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัวไม่น้อยกว่า 652,100 ครั้ง รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยบริการ และค่าบริการทางการแพทย์แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิไม่น้อยกว่า 572,800 คน นอกจากนี้ ได้เพิ่มการให้บริการแพทย์ฉุกเฉินที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อลดและป้องกันการสูญเสียอวัยวะหรือเกิดความบกพร่องในการทำงานของอวัยวะสำคัญของผู้ป่วยฉุกเฉินเป็น 1.5 ล้านครั้ง ในด้านการบูรณาการระบบบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการ โดยพัฒนาระบบตรวจสอบและระบบฐานข้อมูลเพื่อให้สามารถเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และใช้ข้อมูลร่วมกันได้ อันนำไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการอย่างเท่าเทียมกัน

19) การสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ งบประมาณทั้งสิ้น 1,218.8 ล้านบาท (หนึ่งพันสองร้อยสิบแปดจุดแปดล้านบาท) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม มีสุขภาวะที่ดี และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนทุกกลุ่มเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ พัฒนากลไกการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้กับประชาชน 60,000 คน ส่งเสริมให้มีการออมไม่น้อยกว่า 700,000 คนสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ 200,000 คน และสามารถเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม 73,000 คน ดำเนินงานศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 400 แห่ง เพื่อเตรียมประชากรให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 2,600 แห่ง สนับสนุนให้คนทุกกลุ่มวัยสามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกได้ 20,000 คน

20) การจัดการปัญหาที่ดินทำกิน งบประมาณทั้งสิ้น 267.7 ล้านบาท (สองร้อยหกสิบเจ็ดจุดเจ็ดล้านบาท) เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรผู้ยากไร้ได้รับการจัดที่ดิน ที่อยู่อาศัยตามหลักเกณฑ์การจัดที่ดินให้ชุมชน และได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ การตลาดในรูปแบบสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิต โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ จัดที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน พื้นที่นิคมสร้างตนเอง พื้นที่ราชพัสดุ และส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดในรูปแบบชุมชน ทั้งด้านประมง ปศุสัตว์ การเพาะปลูกพืช รวมทั้งด้านสหกรณ์การเกษตรให้สามารถพึ่งตนเองได้ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ โดยมีเป้าหมายการจัดหาที่ดินไม่น้อยกว่า 207,000 ไร่ และสามารถนำที่ดินมาจัดให้ผู้ยากไร้ตามหลักเกณฑ์ได้ไม่น้อยกว่า 239,100 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 37,300 ราย

21) การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม งบประมาณทั้งสิ้น 779 ล้านบาท (เจ็ดร้อยเจ็ดสิบเก้าล้านบาท) เพื่อบริหารจัดการขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย มูลฝอยติดเชื้อ กากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย และคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือส่งเสริมการลดการเกิดขยะมูลฝอยที่ต้นทางและนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ ไม่น้อยกว่า 5.3 ล้านตันต่อปี เพิ่มศักยภาพการจัดเก็บ การขนส่ง การกำจัดขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย และกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายได้รับการจัดการอย่างถูกต้องไม่น้อยกว่า 12.6 ล้านตันต่อปี พัฒนากฎ ระเบียบ มาตรการ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดจนควบคุมมลพิษในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล และแก้ไขปัญหาการเกิดหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตร 9 จังหวัดภาคเหนือให้ลดลง

22) การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งบประมาณทั้งสิ้น 841.7 ล้านบาท (แปดร้อยสี่สิบเอ็ดจุดเจ็ดล้านบาท) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 5 ด้าน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ส่งเสริมให้มีการจัดหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานร่วมกับรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาระบบสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศให้สามารถสนับสนุนการลงทุนของประเทศและการใช้พลังงานของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กำกับการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการให้มีความปลอดภัย ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้สะท้อนต้นทุน และส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงานเพื่อให้ประชาชนได้ใช้พลังงานที่มีคุณภาพปลอดภัยในราคาเป็นธรรม และส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในทุกรูปแบบ ด้วยการกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตพลังงานทดแทน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มมากขึ้นทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนทั่วประเทศ

23) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ งบประมาณทั้งสิ้น 64,462 ล้านบาท (หกหมื่นสี่พันสี่ร้อยหกสิบสองล้านบาท) เพื่อให้ประเทศมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ จัดหาน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคทุกหมู่บ้านและชุมชนเมือง พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนประปาชนบท 1,500 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลสนับสนุนน้ำดื่มโรงเรียนและชุมชน 657 แห่ง และขยายเขตระบบประปาเมือง ปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้มีมาตรฐาน เพื่อประชาชนเข้าถึงระบบน้ำประปาเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 533,800 ครัวเรือน จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับภาคเกษตรและอุตสาหกรรม อนุรักษ์ ฟื้นฟู เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ 890 แห่ง ขยายพื้นที่ชลประทานไม่น้อยกว่า 306,800 ไร่ ปฏิบัติการฝนหลวง 230 ล้านไร่ เชื่อมโยงระบบเครือข่ายน้ำ/ลุ่มน้ำ และก่อสร้างระบบกระจายน้ำไม่น้อยกว่า 46,400 แห่งเพื่อให้สามารถกระจายน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนไปยังพื้นที่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 902,400 ไร่ ลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและอุทกภัยในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและพื้นที่เกษตร ขุดลอกลำน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและอุทกภัย เพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัยด้านน้ำ ควบคุมคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศให้อยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป และป้องกันระดับความเค็มไม่ให้เกินมาตรฐานของการเกษตร และอนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม 60,000 ไร่ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างสมดุลทั้ง 25 ลุ่มน้ำ

24) การป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบประมาณทั้งสิ้น 882 ล้านบาท (แปดร้อยแปดสิบสองล้านบาท) เพื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย อันจะทำให้ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยสูงกว่าร้อยละ 44 โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ สร้างจิตสำนึกและค่านิยมให้ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม และใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร พัฒนากลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นธรรม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต

25) การปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม งบประมาณทั้งสิ้น 837.7 ล้านบาท (แปดร้อยสามสิบเจ็ดจุดเจ็ดล้านบาท) เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ พัฒนาช่องทางการให้บริการและการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมแก่ประชาชน พัฒนา ปรับปรุง กฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยุติธรรมในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อลดปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาล พัฒนาระบบการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ รวมทั้งช่วยเหลือให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เสมอภาค และเป็นธรรม

26) การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ งบประมาณทั้งสิ้น 290.2 ล้านบาท (สองร้อยเก้าสิบจุดสองล้านบาท) เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการงานภาครัฐ ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการในภาคธุรกิจและภาคเอกชน โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการของภาครัฐ ปรับปรุงกระบวนการทำงาน พัฒนาการบริการในการประกอบธุรกิจให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล มีความสะดวก ทันสมัย เข้าถึงได้ง่าย ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการ ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชน สร้างความเชื่อมั่นในการตัดสินใจต่อการลงทุนของนักธุรกิจ โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความยาก - ง่าย ในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business: EoDB) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 35 หรือ คะแนนค่าเฉลี่ยเทียบกับประเทศที่ดีที่สุดในแต่ละด้านไม่น้อยกว่า 75 ในรายงานของธนาคารโลก 2019 รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการออกหนังสือผ่านแดนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

2.5 กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวน 373,444.1 ล้านบาท (สามแสนเจ็ดหมื่นสามพันสี่ร้อยสี่สิบสี่จุดหนึ่งล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 12.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินงานบูรณาการในระดับพื้นที่ จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ งบประมาณทั้งสิ้น 84,412.1 ล้านบาท (แปดหมื่นสี่พันสี่ร้อยสิบสองจุดหนึ่งล้านบาท) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศระดับภาคอย่างยั่งยืนโดยใช้ศักยภาพที่โดดเด่นของแต่ละภาค อันจะส่งผลต่อการขยายตัวอย่างสมดุลทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกภาคอย่างยั่งยืน โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การวิเคราะห์หาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่เป็นศักยภาพของพื้นที่ รวมถึงปัญหาเร่งด่วนและความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่ และจัดทำโครงการในลักษณะที่เป็นการบูรณาการ 3 มิติ คือ มิติยุทธศาสตร์ มิติกระทรวง/หน่วยงาน มิติพื้นที่ ให้มีการบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเน้นการทำงานแบบประชารัฐ ให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มีส่วนร่วม และเป็นไปตามความต้องการของประชาชน โดยกำหนดรูปแบบห่วงโซ่คุณค่าที่สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ภายใต้ 5 แนวทาง ประกอบด้วย

(1) เพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน เน้นการเชื่อมโยงเส้นทางการค้า การลงทุนภายในของแต่ละภาคสู่ระดับภูมิภาค

(2) เพิ่มศักยภาพภาคการเกษตร พัฒนาแหล่งน้ำ/ระบบกระจายน้ำ พัฒนาศักยภาพและยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรไปสู่เกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าโดยพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูป

(3) เพิ่มศักยภาพภาคการท่องเที่ยวและบริการ พัฒนาและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ระดับภาค/ชุมชน ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและกีฬา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

(4) พัฒนาเมืองน่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่ม เพิ่มศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางในภูมิภาค ฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่า รวมทั้งแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติและขยะมูลฝอยตกค้าง ตลอดจนสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

(5) โครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน พัฒนาเมืองสมุนไพร พัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลก พัฒนาระบบประปาเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองอุตสาหกรรม การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และการปรับปรุงฟื้นฟูสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขนาดใหญ่

2) การส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณทั้งสิ้น 263,400 ล้านบาท (สองแสนหกหมื่นสามพันสี่ร้อยล้านบาท) เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องการให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น และมีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินรายได้มาใช้สมทบงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อดำเนินโครงการลงทุนในท้องถิ่นมากขึ้น โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ด้านการศึกษา สนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน เด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่น้อยกว่า 933,000 คน สนับสนุนอาหารเสริม (นม) อาหารกลางวันให้เด็กวัยเรียนไม่น้อยกว่า 5.8 ล้านคน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนสายหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 14 แห่ง ก่อสร้างและปรับปรุงถนน 2,200 สายทาง ระบบประปาหมู่บ้าน 2,200 แห่ง ด้านสังคม สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 8.3 ล้านคน เบี้ยยังชีพความพิการไม่น้อยกว่า 1.6 ล้านคน ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีระบบการกำจัดขยะมูลฝอยและการบำบัดน้ำเสีย 52 แห่ง และด้านบริหารจัดการ ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารจัดการที่โปร่งใสภายใต้หลักธรรมาภิบาล รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

3) การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ งบประมาณทั้งสิ้น 25,631.9 ล้านบาท (สองหมื่นห้าพันหกร้อยสามสิบเอ็ดจุดเก้าล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการแบบบูรณาการในลักษณะใช้พื้นที่เป็นหลักในการกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำของความเจริญเติบโตระหว่างพื้นที่ โดยให้แต่ละพื้นที่กำหนดยุทธศาสตร์ และทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การสนับสนุนให้จังหวัด กลุ่มจังหวัด ดำเนินโครงการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ที่มีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน มีการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยใช้ “ห่วงโซ่คุณค่า” แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของแผนงาน/โครงการ ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ครอบคลุมทุกมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2.6 กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวน 260,818.9 ล้านบาท (สองแสนหกหมื่นแปดร้อยสิบแปดจุดเก้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของวงเงินงบประมาณเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 86,942.3 ล้านบาท (แปดหมื่นหกพันเก้าร้อยสี่สิบสองจุดสามล้านบาท) ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 173,876.6 ล้านบาท (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นสามพันแปดร้อยเจ็ดสิบหกจุดหกล้านบาท)

นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงในตอนท้ายของการแถลงฯ ถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ว่าเป็นส่วนสำคัญของแนวทางหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน สำหรับรายละเอียดปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณที่ได้นำเสนอสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นสิ่งยืนยันในความตั้งใจและความพยายามของรัฐบาล ในการวางแผนและจัดทำงบประมาณอย่างรอบคอบและโปร่งใส รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบูรณาการในระดับพื้นที่ระหว่างส่วนราชการ จังหวัด/กลุ่มจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชน ส่งเสริมการพัฒนาให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแผนแม่บทระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความคุ้มค่าและบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่าประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกฯ ทุกคน จะให้การสนับสนุนและรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อรัฐบาลจะได้ยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่า โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป

*********************************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ