นบข. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560

ข่าวทั่วไป Tuesday June 13, 2017 15:30 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) ครั้งที่ 3/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560

วันนี้ (12 มิ.ย.60) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมได้รับทราบการประเมินสถานการณ์ข้าวโลกและข้าวไทย ปี 2560/61 โดยขณะนี้การผลิตข้าวโลกลดลง ประมาณ 2-3 แสนตัน เพราะผลผลิตข้าวของหลายประเทศลดลง ได้แก่ อินเดีย และสหรัฐฯ ขณะที่การบริโภคข้าวโลกมีความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากอินเดีย และโกตดิวัวร์ มีการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น รวมถึงการค้าข้าวโลกมีสัญญาณที่ดี ซึ่งคาดว่าปริมาณการค้าข้าวโลกในปี 2561 จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ โกตดิวัวร์ และบังกลาเทศ มีความต้องการจะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น โดยสต็อกข้าวโลกจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 1.21 ล้านตัน เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวและผู้นำเข้าข้าวสำคัญยังคงมีปริมาณสต็อกข้าวสำรองในปริมาณมากเพื่อให้เพียงพอสำหรับเก็บไว้บริโภคภายในประเทศ

ส่วนการส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ตั้งแต่เดือนมกราคม – 23 พฤษภาคม 2560 อินเดียส่งออกข้าว จำนวน 4.12 ล้านตัน ไทย ส่งออกข้าว จำนวน 4.05 ล้านตัน เวียดนาม ส่งออกข้าว จำนวน 2.17 ล้านตัน ขณะเดียวกันตลาดข้าวมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งประเทศบังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ และอิหร่าน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าหาตลาดรองรับเพิ่มขึ้น ทั้งการเจรจาตลาดซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G/G+P) และตลาดซื้อขายข้าวแบบเอกชนต่อเอกชน (P to P) รวมทั้งได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าวในประเทศ ตลอดจนเข้าร่วมจัดนิทรรศการและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในงานสำคัญ ได้แก่ งาน Thailand Rice Convention 2017 งานวันข้าวและชาวนาแห่งชาติประจำปี 2560 งาน THAIFEX-World of Food Asia 2017 และงาน Organic & Natural Expo 2017 เป็นต้น

นอกจากนี้ราคาข้าวในตลาดโลกก็มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิไทย ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 715 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และข้าวขาว5% ราคา 438 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ส่วนข้าวเวียดนาม ราคาอยู่ที่ประมาณ 400 กว่าเหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อข้าวไทย โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวไทยราคาสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการทำงานที่เกิดจากความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งกรมการค้าต่างประเทศและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่งเสริมการตลาดให้ผู้ซื้อสนใจมาซื้อข้าวของไทย ประกอบกับหลายประเทศผลิตข้าวลดลง ตลอดจนรัฐบาลสามารถระบายข้าวในสต็อกได้ตามเป้าหมายทำให้สต็อกข้าวของไทยลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อราคาข้าวในตลาดได้ขยับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ การระบายข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐบาล จำนวน 18 ล้านตัน ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ จนถึงสิ้นปี 2559 เหลือข้าวในสต็อกอยู่ 8 ล้านตัน โดยได้มีการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ข้าวที่ยังสามารถบริโภคได้ จำนวน 3.17 ล้านตัน 2) ข้าวที่ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคของมนุษย์โดยนำเข้าสู่อุตสาหกรรมเพื่อเป็นอาหารสัตว์ จำนวน 3.82 ล้านตัน และ 3) ข้าวที่ไม่เหมาะสำหรับการบริโภคได้ทั้งมนุษย์และสัตว์ ประมาณ 1 ล้านตัน ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนมกราคา – พฤษภาคม 2560 สามารถระบายข้าวไปแล้ว 5.13 ล้านตัน จากข้าวคงเหลือในสต็อก 8 ล้านตัน ทำให้ข้าวเหลืออยู่ขณะนี้ ประมาณ 2.94 ล้านตัน ซึ่งข้าวที่เหลือดังกล่าวสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศประมูลไปอีกจำนวน 2.2 ล้านตัน ซึ่งจะรับทราบผลในวันที่ 13 มิถุนายน 2560 อย่างไรก็ตามในส่วนข้าวที่เหลือในแต่ละกลุ่มในเดือนกรกฎาคม 2560 จะมีการระบายอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำผลสรุปสต็อกข้าวที่เหลือจากการระบายในเดือนกรกฎาคมรายงานที่ประชุม นบข. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถระบายข้าวในสต็อกได้ทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2560

สำหรับในส่วนของบัญชีที่มีประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขทางบัญชีที่ปรากฏอยู่ ทางองค์การคลังสินค้าและองค์การตลาดจะไปดำเนินการตรวจสอบหาข้าวจำนวนดังกล่าวว่าอยู่ที่ใด เพื่อจะได้ดำเนินการตามแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

อีกทั้ง ที่ประชุมได้รับทราบการติดตามผลการดำเนินงานภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2560-61 (ด้านการตลาด) โดยเฉพาะการแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบของคณะทำงานติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ชุดที่ 1 – 28 ซึ่งมีผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะทำงานฯ เพื่อติดตาม กำกับดูแลและแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ตามแนวทางวิธีการที่คณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรกำหนด โดยพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.60 ) กระทรวงมหาดไทยจะเป็นประธานในการซักซ้อมทำความเข้าใจในการติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร และจะมีการรายงานความคืบหน้าทุกวันที่ 15 ของเดือน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการประมาณการผลผลิตได้ใกล้เคียงกับการประมาณการมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับโรงสีและผู้ส่งออกด้วย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 (ด้านการผลิต) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ดังนี้ 1) โครงการปรับพื้นที่นา และลดรอบการปลูกข้าวภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 รวม 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทนนาข้าว เป็นการดำเนินการปลูกพืชอาหารสัตว์แทนการปลูกข้าวเพื่อการจำหน่ายและใช้เลี้ยงสัตว์ของตนเอง ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี เดือนพฤษภาคม 2560 – ธันวาคม 2563 (2) โครงการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 และ (3) โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ฤดูนาปรัง ปี 2561 ซึ่งทั้ง 3 โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการควบคุมปริมาณการผลิตข้าวให้สมดุลกับอุปสงค์ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 1.23 ล้านไร่ 2) โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่อง 5 ปี (ปีการผลิต 2560 – 2564) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชื่อมโยงตลาดจับคู่กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวอินทรีย์และข้าว GAP กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการและจัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลผลิตข้าวจากโครงการฯ

พร้อมทั้งที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 และมอบหมายให้กระทรวงการคลังนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป สำหรับอัตราค่าเบี้ยประกันภัย อัตราเท่ากันทุกพื้นที่การผลิต 90 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่าย 36 บาทต่อไร วงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ โดยรัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยในอัตรา 61.37 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) ขณะที่ ธ.ก.ส.จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560

----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ