วันนี้ (15 มิ.ย.60) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2560 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทุกภาคส่วนทั้งประชาชนในพื้นที่ ประชาสังคม กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ภาคเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือและสนับสนุนต่อการดำเนินงานของรัฐ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศเดินหน้าต่อไปตามแผนงานที่วางไว้ ขณะเดียวกันให้ดูแลเรื่องของสิทธิประโยชน์ของผู้เข้ามาประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนกลุ่ม SMEs และประชาชนในพื้นที่ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นไปอย่างเหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ภายหลังการประชุมฯ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมได้มีการพิจารณาการบริหารจัดการที่ดินราชพัสดุที่ได้มาตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 74/2559 ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีและนครพนม ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ เสนอ โดยเห็นชอบการกำหนดให้เอกชนหรือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เช่าที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว รวมทั้งให้ปรับเพิ่มหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้เพิ่มน้ำหนักคะแนนในประเด็นความสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ธุรกิจที่เป็นนวัตกรรม และธุรกิจด้านการเกษตรโดยเฉพาะ SMEs
พร้อมเห็นชอบกำหนดอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียมในการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีและนครพนม ดังนี้ จังหวัดกาญจนบุรี ค่าเช่า 1,200 บาท/ไร่/ปี ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 20,000 บาท/ไร่/50 ปี และจังหวัดนครพนม ค่าเช่า 8,400 บาท/ไร่/ปี ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า 140,000 บาท/ไร่/50 ปี โดยมีเงื่อนไขในการปรับในส่วนของการปรับปรุงอัตราค่าเช่า 9% ทุก 3 ปี และอัตราค่าเช่าของ กนอ. ลดให้ 30% จากอัตราค่าเช่าของเอกชน ส่วนเงื่อนไขอื่น ๆ ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิมที่คณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว โดยมอบหมายกรมธนารักษ์รับดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงมาตรการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก กาญจนบุรี และนครพนม โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีเงื่อนไขดังนี้ 1) หากมีการลงทุนจริง (ปรับปรุงพื้นที่พัฒนาที่ดิน/ก่อสร้างอาคาร/จัดซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในปี 2560 (นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้เป็นต้นไป) จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันจัดทำสัญญาเช่า และ 2) หากมีการลงทุนจริง (ปรับปรุงพื้นที่พัฒนาที่ดิน/ก่อสร้างอาคาร/จัดซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ฯ) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในปี 2561 (นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้เป็นต้นไป) จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่จัดทำสัญญาเช่า
ทั้งนี้ การให้สิทธิประโยชน์การยกเว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนสนใจเข้ามายื่นเสนอโครงการลงทุนต่อภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศเกิดการขยายตัวอันเนื่องมาจากการจ้างงานในท้องถิ่น การลงทุนจัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ โดยเมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าเช่าที่จะยกเว้นให้ในปี 2560 – 2561 ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวแล้ว ในมิติภาพรวมของประเทศ ภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายของภาคเอกชนทั้งในด้านภาษีทางอ้อม และการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการการเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกของด่าน CIQ ด่านศุลกากรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ จำนวน 15 ด่าน เพื่อเชื่อมโยงการและให้บริการที่มีประสิทธิภาพตอลดจนเป็นประตูเข้า- ออกทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการดึงดูดการลงทุนมาสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเศรษฐกิจได้มากขึ้น ประกอบด้วย 1) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ได้แก่ ด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก 2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด ได้แก่ ด่านศุลกากรคลองใหญ่ จังหวัดตราด 3) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ได้แก่ ด่านศุลกากรมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร 4) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ได้แก่ ด่านศุลกากรหนองคาย จังหวัดหนองคาย 5) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว ได้แก่ ด่านศุลกากรอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว 6) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ได้แก่ ด่านศุลกากรสะเดา และด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา 7) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ได้แก่ ด่านศุลกากรแม่สาย ด่านศุลกากรเชียงแสน และด่านศุลกากรเชียงของ จังหวัดเชียงราย 8) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ได้แก่ ด่านศุลกากรนครพนม จังหวัดนครพนม 9) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี ได้แด่ ด่านศุลกากรสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และ10) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ได้แก่ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ด่านศุลกากรตากใบ และด่านศุลกากรบูเก๊ะตา จังหวัดนราธิวาส
สำหรับความคืบหน้าของโครงการด่านศุลกากรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจุบันได้รับอนุมัติงบประมาณสำหรับการก่อสร้าง ปรับปรุงด่าน CIQ ประกอบด้วย ด่านพรมแดน ด่านศุลกากร อาคารบริการผู้โดยสาร ลานตรวจสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างพื้นที่รองรับ พื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area : CCA) เพื่อตรวจสินค้าร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรไทยและประเทศเพื่อนบ้านตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS-EC)
ส่วนมาตรการส่งเสริมประสิทธิภาพด่านศุลกากร มีดังนี้ 1) แยกเส้นทางตรวจคนและสินค้า ได้แก่ สร้างลานตรวจสินค้า และอาคารบริการผู้โดยสาร แยกช่องทางจราจรขาเข้า – ขาออก 2) การใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการควบคุมทางศุลกากร ได้แก่ National Single Window (NSW) การควบคุมทางศุลกากรด้วยเครื่อง X-ray CCTV e-locked RFID ACTS การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยระบบ e-Payment Tax Mobile application และ3) ส่งเสริมสิทธิประโยชน์ ได้แก่ เขตปลอดอากร/คลังสินค้าทัณฑ์บน Border town
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ อาทิ การเร่งเจรจากับประเทศมาเลเซียเพื่อแก้ปัญหาการเปิดจุดผ่านแดนไทย – มาเลเซีย ณ ด่านศุลกากรสะเดา การก่อสร้างด่านพรมแดนหนองเอี่ยน จังหวัดสระแก้ว ของด่านศุลกากรอรัญประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเร่งส่งมอบพื้นที่จากกรมทางหลวงเพื่อนำมาก่อสร้างด่านพรมแดน เป็นต้น
------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th