วันนี้ ( 20 มิ.ย. 60) เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รายงานปัญหาข้อขัดข้องเกี่ยวกับเวทีประชาพิจารณ์จากกรณี (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฉบับใหม่ ให้ที่ประชุมครม. รับทราบเนื่องจากเป็นปัญหาร่วมกันของทุกหน่วย โดยพระราชบัญญัติประกันสุขภาพฯ ได้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2545 โดยมุ่งเน้นการซ่อมสุขภาพหรือการรักษาเป็นหลัก จึงมีคำว่า “ 30 บาทรักษาทุกโรค” โดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเป็นผู้บริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการ ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาทั้ง 2 หน่วยงานอาจจะไม่ได้ติดต่อประสานงานกันเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ กระทรวงสาธารณสุขกับ สปสช. ได้มีการติดต่อประสานงานระหว่างกันดีขึ้นโดยลำดับ รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เคยออกคำสั่งตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องให้บางส่วนแล้ว
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานที่ประชุมรับทราบว่า ในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนและหน่วยงานต่าง ๆ โดยได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 ครั้ง ในส่วนของภูมิภาค 3 ครั้ง และในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแม้ทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอน แต่ปรากฏว่ายังมีบุคคลบางกลุ่มพยายามที่จะล้มเวทีประชาพิจารณ์หรือการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ไปดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วน โดยรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข แจ้ว่า พรุ่งนี้ (21 มิ.ย.60) เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะจัดเวทีเสวนาให้ความรู้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเชิญสื่อมวลชนทุกสาขาไปร่วมรับฟังด้วย โดยจะมีการนำ พ.ร.บ. ประกันสุขภาพฉบับเดิมกับร่าง พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ ฉบับใหม่มาเปรียบเทียบชี้แจงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกัน รวมถึงสิทธิประโยชน์และการดูแลต่าง ๆ ที่ประชาชาได้รับ อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ฉบับใหม่ ไม่ได้มีการลิดรอนสิทธิ์ในการดูแลบริการสุขภาพต่าง ๆ ของประชาชนแต่อย่างใด ยืนยันประชาชนยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ในการรับบริการต่าง ๆ ด้านสาธารณสุขและบริการสุขเช่นเดิม
----------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th