-รอง นรม. พลเอก ประวิตรฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 6/2560

ข่าวทั่วไป Wednesday July 5, 2017 15:51 —สำนักโฆษก

รอง นรม. พลเอก ประวิตรฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 6/2560

วันนี้ (5 กรกฎาคม 2560) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 6/2560

ภายหลังเลิกการประชุมเวลาประมาณ 10.30 น. พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยคณะได้ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลการประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า การประชุมในวันนี้มีการพิจารณาหลายเรื่องซึ่งมีความคืบหน้ามากพอสมควรและเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนอย่างเป็นระบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ทั้งนี้ มีการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างบูรณาการด้วยความร่วมแรงร่วมใจของหลายหน่วยงาน เนื่องจากบางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น อีกทั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นให้ทุกหน่วยงานได้ช่วยกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องของข้าว เพราะเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก โดยมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนา ที่ประชุมจึงได้เสนอให้จังหวัด กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่รับผิดชอบหลักในการทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองข้าว ในการผลิตข้าวในเชิงอุตสาหกรรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับข้าวครบวงจร โดยจะมีการดำเนินการในเรื่องการขับเคลื่อนห่วงโซ่แห่งคุณค่าข้าวตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง รวมถึงการส่งเสริมการผลิตข้าวแปลงใหญ่ในเชิงอุตสาหกรรม และรวมไปถึงการใช้แนวทางสหกรณ์เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงโอกาสได้มากขึ้น

ในเรื่องของข้าวอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการปฏิรูปของสภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในการปฏิรูปการจัดการข้าวในระบบสหกรณ์ โดยให้ขยายผลตามแนวทางสหกรณ์ 2 แห่ง ได้แก่ (1) โครงการการจัดการข้าวเพื่อยกระดับรายได้ชาวนาอย่างยั่งยืนของสหกรณ์จังหวัดนครสวรรค์ (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวเปลือกหอมมะลิของจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์นำในเรื่องของการจัดการข้าวในระบบสหกรณ์ไปพิจารณาดำเนินขยายเป็นสหกรณ์ต้นแบบในจังหวัดอื่น ๆ ที่เป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปเรื่องข้าวให้เกิดผลอย่างจริงจังต่อไป

ส่วนประเด็นเรื่องของการทำประมงผิดกฎหมายนั้น มีความคืบหน้าไปมากโดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายร่วมกันว่าไม่ไช่การปลดสถานะ What List ของ IUU เท่านั้น แต่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการปฏิรูปและการพัฒนาให้ถูกต้องตามหลักสากล การใช้ทรัพยากรทางทะเล และในน่านน้ำไทยได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ภาพรวมจึงมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีใน 2 องค์กรแล้ว คือ UN Fish Stocks Agreement: UNFSA และ South Indian Ocean Fisheries Agreement: SIOFA จากนั้นยังได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.ก. บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 พ.ร.ก. การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 รวมไปถึง ร่าง พ.ร.ก. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.ก. เรือไทย พ.ศ. .... ซึ่งคาดว่าน่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนกันยายน 2560 นี้

นอกจากนั้น จะเป็นการดำเนินการในเรื่องของสถานะเรือประมงในปัจจุบันให้ถูกต้อง เช่น เรื่องการตรวจวัดขนาด การทำอัตลักษณ์เรือประมงเพื่อขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง การแก้ไขผู้ที่มีปัญหาผลกระทบจากผู้ที่บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลกระทบกับผู้ประกอบการ ส่วนธนาคารเกษตรและสกหรณ์ได้จ่ายเงินกู้กับเกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ หรือปรับเปลี่ยนอาชีพซึ่งมีเกษตรกรร่วมโครงการแล้วประมาณ 600 ราย จากนั้นได้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมในการช่วยเหลือเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพในอีก 7 จังหวัด คือ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี และจังหวัดพังงา โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม 1,400 ราย และจะมีการกำหนดการประชุมหารือร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ระหว่างวันที่ 3 - 14 กรกฎาคม 2560 โดยจะประชุมหารือในเรื่องเทคนิค และสรุปผลการดำเนินการเรื่องของทางเทคนิคของ IUU

โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลงย้ำในเรื่องของการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งมีผลการประชุมเพื่อตรวจประเมินผลแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายด้านแรงงาน ซึ่งคณะผู้แทนจากยุโรปได้เสนอแนะด้านแรงงานไว้ 5 ด้าน 35 ประเด็น ประกอบไปด้วย ด้านการพัฒนากฎหมาย ด้านการป้องกัน ด้านการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย ด้านการคุ้มครองผู้เสียหาย และด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทั้งนี้ จะต้องเร่งดำเนินการและประเมินผลให้มีความต่อเนื่องเพื่อให้ผลในการปฏิบัติทันทีและเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงกลไกของ EU ในการแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน

สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน หรือ ICAO นั้น ในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานการบินพลเรือนได้มีการแก้ไขข้อบกพร่อง SSC ทั้ง 33 ข้อ ถือว่าเป็นข้อบกพร่องที่มีผลต่อด้านความปลอดภัย ซึ่งได้มีการแก้ไขปรับปรุงและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับปรุงกฎระเบียบขั้นตอนคู่มือการทำงาน การ Checklist ต่าง ๆ การจัดอบรมพนักงาน การปรับปรุงระบบการตรวจประเมินผล การออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ในส่วนนี้ทาง กพท. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ทาง กพท. ได้ยืนเรื่องต่อ ICAO ในการเสนอเรื่องปลดธงแดง โดยมีการยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปแล้ว ส่วนการดำเนินการขั้นต่อไป คาดว่าถ้ามีการตอบรับจากทาง ICAO ที่จะเข้ามาตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ของ ICAO ภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยหลังจากนั้นไม่เกิน 1 เดือน ก็น่าจะทราบผลว่าประเทศไทยจะสามารถปลดธงแดงออกในเรื่องของการบินพลเรือนได้หรือไหม ขณะนี้การเตรียมความพร้อมในส่วนของสายการบินต่าง ๆ นั้น ทาง กพท. แจ้งให้สายการบินต่าง ๆ เตรียมความพร้อมไปแล้ว โดยจะมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน เพื่อจะได้รับการรับรองออกใบอนุญาตสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ โดยขั้นตอนในตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 3-4-5 ในขั้นตอนที่ 5 คือออกใบรับรองของการเดินอากาศใหม่ โดยเสร็จสิ้นไปแล้ว 6 สายการบิน ในขั้นตอนที่ 4 การตรวจสอบสถานี และการตรวจสอบภาคอากาศยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการอีก 4 สายการบิน ในขั้นตอนที่ 3 เรื่องการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อยู่ในระหว่างตรวจสอบอีก 7 สายการบิน

ทั้งนี้ จำเป็นต้องเร่งดำเนินการออกใบอนุญาตเดินอากาศใหม่ตามข้อกำหนดของ ICAO กำหนดไว้ว่าภายในวันที่ 1 กันยายน 2560 ผู้ที่จะเดินอากาศสายการบินระหว่างประเทศจะต้องมีใบรับรองการเดินอากาศใหม่ โดยทาง กพท. ได้เร่งรัดดำเนินการในการออกใบรับรองการเดินอากาศให้ใหม่กับสายการบินต่าง ๆ ต่อไป

นอกจากนี้ทาง ICAO ได้แจ้งกำหนดการอย่างไม่เป็นทางการให้กับทางไทยทราบว่าระหว่างวันที่ 9-21 กรกฎาคม 2560 จะมีผู้ตรวจ 4 ท่านจาก 4 ประเทศ เดินทางมาตรวจสอบที่ประเทศไทยในเรื่องการรักษาความปลอดภัย โดยจะมีการตรวจสอบใน 3 ส่วน โดยมีการตรวจเอกสาร การตรวจสอบการทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ และอีกส่วนจะตรวจสอบที่สนามบินดอนเมือง โดยคาดว่าทางประเทศไทยจะมีความพร้อมรับการปลดธงแดงหลังจากการประเมินผลผ่านเรียบร้อยแล้ว

โฆษกกระทรวงกลาโหมได้แถลงเพิ่มเติมอีกว่า ในเรื่องของการขับเคลื่อนกฎหมายที่ดิน จะมีการขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้ทางคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ตอนนี้อยู่ในระหว่างการหารือกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และอีกส่วนหนึ่งเป็น ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายละเอียด และหลักเกณฑ์เพื่อที่จะได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ตลอดจนการเร่งรัดการกำหนดเขตพื้นที่ป่าไม้ โดยคณะอนุกรรมการเทคนิกการปรับปรุงแนวเขตการปรับปรุงที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ ตามมาตราส่วน 1:4000 หรือเรียกว่า One map ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำอยู่และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับเรื่องของแท็กซี่หรือรถบริการสาธารณะ โดยการประชุมเมื่อคราวก่อนได้มีการเสนอเรื่อง TAXI OK - TAXI VIP ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมการขนส่งทางบก กรมส่งเสริมสหกรณ์ และมณฑลทหารบกที่ 11 กองทัพบก ซึ่งจะดูแลการบริหารจัดการเรื่องการให้บริการระบบแท็กซี่สาธารณะ โดย TAXI OK - TAXI VIP จะได้รับการรับรองด้วยมาตราฐานสากลต่าง ๆ สิ่งอำนวยความสะดวกภายในรถ ความปลอดภัยของผู้โดยสาร การติดตั้งระบบ GPS เพื่อการแจ้งเรื่องฉุกเฉิน รวมไปถึงการติดกล้องไว้ในรถ โดยจะบังคับกับรถที่จดทะเบียนใหม่เท่านั้น โดยคาดว่าจะได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการ โดยภายในสิ้นปีนี้ คาดว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องจะได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและจะประกาศใช้ต่อไป ซึ่งคาดว่า TAXI OK - TAXI VIP จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้กับพี่น้องประชาชนในการเดินทางนอกจากรถสาธารณะอื่น เช่น รถแท็กซี่มิเตอร์ รถแท็กซี่ระบบแอพพลิเคชั่น ซึ่งจะช่วยให้ให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์และสร้างความปลอดภัยมากขึ้น ส่วนมาตราฐานคนขับจะใช้ระบบสหกรณ์เข้ามาเป็นคนกำกับดูแล ภายใต้การกำกับของหน่วยงานภาครัฐ คาดว่าในปีหน้าจะมีแท็กซี่รูปแบบใหม่ และมาตราฐานใหม่จำนวนประมาณ 8 หมื่นคัน

ตอนท้ายของการแถลงข่าว โฆษกกระทรวงกลาโหมย้ำถึงการจัดระเบียบริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ในการแก้ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ในการท่องเที่ยว รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่ (1) การดูแลสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวกับการเกษตร การประมง (2) การดูแลสิ่งปลูกสร้างในประเภทร้านอาหาร และ (3) สิ่งปลูกสร้างประเภทที่อยู่อาศัย โดยความคืบหน้าได้มีการสำรวจกระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเบื้องต้นจำนวนทั้งหมด 152 ราย ปัจจุบันคงเหลือเพียง 14 ราย ซึ่งต้องขอใบอนุญาตให้สร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำสาธารณะจากกรมเจ้าท่า จึงจะมีสิทธิในการดำเนินการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องได้ ส่วนร้านอาหารมีการสำรวจเบื้องต้น 12 ร้านด้วยกัน ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาแบบแปลน และยังสามารถดำเนินกิจการในร้านอาหารต่อไปได้ ส่วนที่พักอาศัยนั้น มีการรื้อถอน จากเดิม 70 หลังคาเรือน จนปัจจุบันเหลือเพียง 15 หลังคาเรือน โดยการรื้อถอนทั้งหมดนั้นเป็นความสมัครใจที่ประชาชนพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลรวมไปถึงผู้ดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติต่อไปรวมทั้งการปรับปรุงร้านลำเลียงอาหารปลา โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะดำเนินการออกแบบ รวมไปถึงสำรวจในการก่อสร้างเพื่อให้มีเอกลักษณ์ในแนวเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งนี้ รัฐบาลจะมีการเยียวยาและดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีมี่ได้มอบนโยบายไว้ในการคุ้มครองเพื่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 2560 นี้

******************************************

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ